อนาคต “สินทรัพย์ดิจิทัล”เติบโต ต้องแก้โจทย์ “โครงการล้มเหลว -ถูกต่อต้าน”

อนาคต “สินทรัพย์ดิจิทัล”เติบโต  ต้องแก้โจทย์ “โครงการล้มเหลว -ถูกต่อต้าน”

“สินทรัพย์ดิจิทัล” หนึ่งในสินทรัพย์ทางการเงิน ที่เฟื่องฟูมากที่สุดในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา จากความสามารถในการสร้างผลตอบแทนที่ดี พร้อมด้วยคุณสมบัติที่ดูล้ำหน้ากว่าสินทรัพย์ดั้งเดิมทั้งหลาย

ส่งผลให้มีนักลงทุนจำนวนมาก ถูกดึงดูดเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง บ้างก็มีกำไร บ้างก็ขาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2565 ที่สินทรัพย์ต่างๆปรับตัวลงอีกครั้ง ทั้งจากนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของธนาคารกลางทั่วโลก และปัจจัยเฉพาะตัวที่รอวันระเบิดมานาน

และในวันนี้ คำถามสำคัญที่ตามมาคือ แล้วอนาคตแนวโน้มการลงทุนใน “สินทรัพย์ดิจิทัล” นั้นจะเป็นเช่นไร

"ณัฐนันท์ บ่างสมบูรณ์"   หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจ"  ว่า  เรื่องของปัจจัยเชิงมหภาค  แน่นอนว่า ในวันนี้ และในอนาคตอันใกล้ แนวโน้มนโยบายการเงินแบบตึงตัวจะยังคงอยู่กับเราไปอีกสักระยะ

แต่เศรษฐกิจนั้นจะดำเนินไปในลักษณะวัฏจักรเสมอ ทำให้ในไม่ช้า นโยบายการเงินแบบตึงตัวก็จะผ่อนคลาย และหนุนให้สินทรัพย์ดิจิทัลกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง

อนาคต “สินทรัพย์ดิจิทัล”เติบโต  ต้องแก้โจทย์ “โครงการล้มเหลว -ถูกต่อต้าน”

ประเด็นต่อมาคือ เรื่องปัจจัยเฉพาะตัว ที่กดดันให้โครงการ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ปรับตัวลงไม่เท่ากัน หรือล้มหายตายจากไปกันบ้าง มีสาเหตุหลักโดยกว้าง ดังนี้

1.โครงการจำนวนมากยังไม่สามารถตอบโจทย์ที่ต้องการแก้ไขได้อย่างแท้จริง อาทิ Gamefi ที่ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องความสนุก, Defi ที่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวเงินทุน  ให้ไปสู่โลกจริงได้, NFTs ที่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับสิ่งของมีค่าอื่นๆ นอกจากของสะสมเฉพาะกลุ่มได้ หรือ Stable Coin ที่มีความผันผวน เป็นต้น

2.โครงการ หรือเหรียญจำนวนมาก ยังไม่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ หรือถูกต่อต้าน ทำให้ยากที่จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน จำนวนเงินทุนที่ดูเหมือนว่าจะเยอะ แต่เมื่อพิจารณาเทียบกับตลาดการเงินทั่วโลก จะพบว่า เงินทุนเหล่านั้นอยู่ในระดับที่จำกัด ทำให้เมื่อตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีแล้ว มีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะต่อกรกับการโจมตีได้

" ณัฐนันท์"  กล่าวว่า  “การเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต” จะต้องแก้ไขโจทย์ หรือปัญหาใน 3 ด้าน ดังนี้

ประการแรก 1.  Defi to the Real World หรือ การเชื่อมโยงคุณสมบัติที่ดีของโลกการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (Decentralized Finance)  อาทิ ความรวดเร็วในการทำธุรกรรม, ความโปร่งใส ที่สามารถติดตามข้อมูลทั้งหมดได้ ตั้งแต่กำเนิดจนถึงปัจจุบัน, ค่าธรรมเนียมที่ถูก และผลตอบแทนที่สูง ออกมาสู่โลกเศรษฐกิจจริงได้

โดยจะก้าวหน้าไปอีกขั้น ส่งผลให้แนวโน้มเทคโนโลยี Defi สามารถเติบโตเป็นวงกว้างได้มากขึ้น  ซึ่งจะมากกว่าแค่กลุ่มนักลงทุนที่ต้องการเร่งหาผลตอบแทนจากการลงทุนเท่านั้น ในส่วนของการเชื่อมโยง Defi เข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริงนั้น เป็นไปได้หลากหลายช่องทาง 

ตั้งแต่ การ Tokenize (การแปลงสินทรัพย์ให้เป็น Token) สินทรัพย์ต่างๆ อาทิ หุ้น, ที่ดิน, พระเครื่อง, ของสะสม หรืออื่นๆ อีกมากมาย เพื่อให้สินทรัพย์เหล่านั้นมีหลักฐานการแสดงความเป็นเจ้าของบนโลกดิจิทัล  ทำให้การปลี่ยนมือสะดวกกว่า, โปร่งใสกว่า, ค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า หรือให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า จากการนำสินทรัพย์ที่ถูก Tokenize นั้นๆ ไป Staking เพื่อรับผลตอบแทนเพิ่มเติมเป็นต้น

ส่วนประเด็นต่อมา 2.Digital Asset Legalization หรือสินทรัพย์ที่ทางการยอมรับมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้คนจำนวนมากพร้อมที่จะหันเข้ามาใช้โครงข่ายของสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ มากขึ้น ในฐานะที่ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่ำมากกว่าจากการยอมรับของรัฐบาล รวมไปถึงแนวโน้มการสนับสนุนของรัฐบาลต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะสามารถผลักดันให้เกิดพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด และทำให้การเชื่อมโยงสู่โลกจริงได้ง่ายขึ้นด้วย

"ณัฐนันท์" กล่าวว่า   เมื่อรัฐบาลยอมรับมากขึ้นนั้น จะส่งผลให้นักลงทุนรายใหญ่ และนักลงทุนสถาบันต่างๆ สามารถจัดสรรเงินมาลงทุนได้เพิ่มเติมมากขึ้นกว่า ณ ปัจจุบัน เป็นการเปิด upside ให้กับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งในระดับภาพรวม และโครงการหรือเหรียญต่างๆ

ในท่าทีของทางการที่ชัดเจนก็คือ ความพยายามในการสร้าง CBDC  (Central Bank Digital Currency) ที่ถูกพัฒนาเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่ออย่างน้อยที่สุด ก็เป็นรากฐานของการเข้าสู่โลกของการเงินแบบดิจิทัลในอนาคต

3. การก้าวเข้าสู่ Future Finance ของ Tech Fin  หรือ Incumbent  หรือ เจ้าวงการเดิมทั้งหลาย อาทิ สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของโลก อย่าง JPMorgan, หรือบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่าง Alibaba, หรือ Facebook เป็นต้น บริษัทเหล่านี้มีจุดเด่นคือความพร้อมด้านทรัพยากร ทั้งความรู้ บุคคล และเงินทุน รวมไปถึงกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีอยู่แล้ว จะช่วยให้การรับธุรกิจใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วยนั้นเกิดได้ง่ายมากขึ้น

สำหรับวงการสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะนี้ยังอยู่ใน “ระยะตั้งไข่” ทำให้ ความผันผวนยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง ฉะนั้น แนะนำ นักลงทุนจะต้อง “ระมัดระวังการลงทุนให้ดี” เลือกโครงการด้วยการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และบริหารความเสี่ยงทั้งในแง่ของปริมาณเงิน และการเก็บสินทรัพย์เหล่านั้นไว้อย่างปลอดภัยใน Hardware Wallet เป็นต้น

เพื่อให้มั่นใจได้ว่าในกรณีที่ดีที่สุด เราจะไม่พลาดโอกาสการลงทุนนี้ แต่ขณะเดียวกันในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ผลขาดทุน หรือความเสียหายจะถูกจำกัดไว้ ไม่ให้กระทบภาพรวมการลงทุนทั้งหมด