ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ สกัด ‘ปอบดอลลาร์’ ปลุกผีเคเบิลภูกระดึง

เมื่อ “ผีเคเบิลภูกระดึง” หลุดออกมาหลังจากเข้าใจว่าถูกจับถ่วงน้ำไปเมื่อหลายปีก่อนแล้ว ก็ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ จับคืนใส่หม้อเพื่อรักษาทรัพยากรอันมีค่ายิ่งของเรา
เอาไว้ให้พ้นจากผีอีกประเภทหนึ่ง คือพวก “ปอบดอลลาร์” ที่หิวกระหายจ้องสูบเงินอย่างไม่คำนึงถึงผลเสียจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยการสร้างเคเบิล
(เคยได้ยินไหมว่านักท่องเที่ยวไม่มาบ้านเราเพราะไม่มีเคเบิลขึ้น ภูกระดึงหรือไม่มีบ่อนการพนันให้เล่น) การทำลายประเทศโดยการมอมเมาด้วยการพนันก็ว่าแย่อยู่แล้ว หากไอ้ผีปอบมันชนะลูกหลานเราจะเป็นอย่างไร
ร่าง พ.ร.บ. ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรฯ (กาสิโน) ระบุให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กว้างขวางมาก บางเรื่องต้องส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ (ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอีกเช่นกัน) มีความเป็นไปได้ที่จะอนุญาตการพนันออนไลน์ระหว่างบ่อนที่มีทั้งหมดได้ และอาจไปไกลถึงขนาดมีบ่อนเล็ก ๆ เป็นสาขาอนุญาตให้แทงผลกีฬาทั่วโลก
อย่างที่อังกฤษและออสเตรเลียมีอย่างถูกกฎหมายผ่านบ่อนขนาดใหญ่ เเละใครจะแน่ใจได้ว่าระบบออนไลน์เชื่อมต่อการเล่นพนันระหว่างบ่อนจะไม่รั่วออกไปข้างนอกและก็เล่นกันสนุกสนานไปทั้งประเทศ ผมไม่ได้ตีตนไปก่อนไข้ แต่เห็น “ความกระหาย” อยากเปิดแล้วรู้สึกหวาดหวั่น
กลับมาเรื่องภูกระดึง มีข่าวว่ากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรฯ ต่ออายุอีก 2 ปีให้การศึกษาประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการเคเบิลยาว 3 กิโลเมตรขึ้นไปบนภูกระดึงด้วยเงิน 25.7 ล้านบาท โดยมูลค่าโครงการเฟสเเรก 1,000 ล้านบาท
เจ้าของโครงการคือกรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่เข้าใจว่ากรม ฯ ที่รับผิดชอบป่า ต้นไม้ สัตว์ป่า และธรรมชาติริเริ่มโครงการนี้ได้อย่างไร
ภูกระดึงเป็นอุทยานแห่งชาติโดยได้รับการจัดตั้งให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่ปี 2486 สถานที่แห่งนี้เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ภูกระดึงมาจากคำว่า “ภู” แปลว่า ภูเขา และ “กระดึง” แปลว่ากระดิ่งซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองของจังหวัดเลยซึ่งเป็นสถานที่ตั้ง
เมื่อรวมกันจึงอาจแปลได้ว่า “ระฆังใหญ่” ชื่อนี้มาจากเรื่องเล่าของชาวบ้านว่าในวันพระมักได้ยินเสียงกระดิ่งหรือระฆังจากภูเขาลูกนี้เสมอ ซึ่งหมายความว่าเป็นสถานที่อันเปรียบเสมือนสวรรค์
ยอดภูกระดึงสูง 1,316 เมตร ยอดเขามีลักษณะแบนเป็น“พื้นโต๊ะ” มีพื้นที่ 60 ตารางกิโลเมตร ระยะทางเดินขึ้นไปถึงขอบโต๊ะ 5.5 กิโลเมตร และจากขอบไปถึงฐานที่พัก 3.5 กิโลเมตร เส้นทางถนนเเละรถยนต์ไม่มี ต้องเดินเท้าเท่านั้น รวมระยะทางเดินประมาณ 9 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง
ตลอดทางเดินมีต้นไม้นานาชนิด โขดหิน อากาศที่เย็นขึ้นเป็นลำดับ เส้นทางเดินทางมีความงดงามของธรรมชาติ มีสัตว์ป่านานาชนิด รวมทั้งช้างป่า เก้ง กวาง เลียงผา ฯลฯ มีป่าเต็งรัง และ ป่าสนที่มีความอุดมสมบูรณ์
สถานที่ถือว่าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มีที่พักเเละสถานที่สำหรับกางเต็นท์อย่างปลอดภัยอุทยานเปิดปิดเป็นฤดูกาล ควบคุมจำนวนคนที่ใช้สถานที่ไม่ให้เกิน 5,000 คนต่อวัน ปัจจุบันการรับจ้างเเบกกระเป๋าเเละสิ่งของขึ้นภูสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้คนท้องถิ่นหลายครอบครัวทำเป็นอาชีพมาหลายชั่วคน
ภูกระดึงจัดว่าเป็นสถานที่แห่งเดียวของบ้านเราที่มีลักษณะท้าทายทางธรรมชาติมายาวนานให้ผู้ผจญภัยเเละนิยมธรรมชาติเดินขึ้นไปถึง “พื้นโต๊ะ” มันเป็นประสบการณ์ที่สนุกและเป็นสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า rite of passage (พิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน) อย่างหนึ่ง เหมือนกับการโกนจุกสมัยโบราณที่เปลี่ยนสถานะจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ หรือพิธีกรรมรับปริญญา หรือการบวช
หากมีเคเบิลแล้ว เสน่ห์ที่โดดเด่นเช่นนี้ของภูกระดึงก็จะหมดไปทันทีเพราะไม่ใช่ทุกคนที่ขึ้นมาถึงยอดด้วยความสามารถในการเดินเท่านั้นเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คำว่าต้อง “ขึ้นภูกระดึง” ให้สำเร็จจะไม่มีความหมายเช่นเดิมอีกต่อไป
“ปอบดอลลาร์” ที่เห็นทุกสิ่งเป็นเงินเป็นทองไปหมด ไม่เข้าใจสิ่งที่กล่าวไปนี้อย่างแน่นอน จึงขอยกตัวอย่างภูเขาหรือดอยยอดนิยมแบบนี้ในประเทศอื่นว่าเป็นอย่างไรหลังจากมีเคเบิลขนส่งคนและของต่าง ๆ ขึ้นไปบนยอดเขาแล้ว
(1) Mount Roraima (บราซิล-เวเนซูเอลา)ต้องเดินหลายวันจึงจะถึงยอดเขา ไม่มีเคเบิล (2) Table Mountain (แอฟริกาใต้) มีเคเบิล ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเป็นล้านคนต่อปี เกิดความเสียหายต่อธรรมชาติมากแต่ความยากจนทำให้ประชาชนยอมรับเพราะสร้างรายได้ และบังคับใช้กฎหมายได้พอควร
(3) Flatirons / Bear Peak (รัฐโคโลราโด สหรัฐ) ไม่มีเคเบิล เดินเท่านั้น (4) Tugela Falls (แอฟริกาใต้) ไม่มีเคเบิล เป็นการเดินป่าที่ท้าทายมาก มีบันไดให้ปีนป่าย
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือสองแห่งในเวียดนาม คือ (1) Fansipan (สูง 3,147 เมตร) เดิมเดินขึ้นหลายวัน ในปี 2559 สร้างเคเบิล ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเป็นล้านคนต่อปี มีการค้าเต็มไปหมดคู่กับปัญหาขยะเเละน้ำเสีย ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมเสียหายยับเยิน ชนกลุ่มน้อยคือ ม้ง ถูกกระทบมากเพราะประเพณีดั้งเดิมถูกทำลาย ผู้ได้รับผลประโยชน์ไปมากสุดคือบริษัทใหญ่ ชาวบ้านได้รับส่วนแบ่งน้อย
(2) Ba Na Hills (ใกล้เมืองดานัง) เดิมเป็นเขาที่งดงามสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส ปัจจุบันรถยนต์เข้าถึงพร้อมเคเบิล มีสวนสนุก โรงแรม สถานบันเทิงเต็มไปหมด พื้นที่ธุรกิจการค้ารุกล้ำพื้นที่ป่า มีปัญหาน้ำเสียและขยะ ป่าไม้และสัตว์ป่าถูกทำลายยับเยิน
อินเดียมีสถานที่เรียกว่า Hill Stations หลายแห่ง เช่น ที่เมือง Shimla / Mussoorie / Darjeeling เดิมทีเป็นเมืองเล็ก ๆ ชายเขา กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาการสูญเสียวัฒนธรรม ปัญหาขาดแคลนน้ำ ปัญหาดินถล่มและสูญเสียความเป็นธรรมชาติ ฯลฯ
เนปาลมีสถานที่บนเขาคล้ายอินเดียเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น แคมป์ฐานสู่ยอดเขา Everest / Annapurna ฯลฯ ทั้งหมดมีปัญหานักท่องเที่ยวล้นเพราะแต่ละปีมีนักไต่เขาจากทั่วโลกมาเยือนนับหมื่น ๆ คน มีปัญหาขยะกระทบสิ่งแวดล้อม ปัญหาจราจร ฯลฯ คนที่ได้รับประโยชน์น้อยที่สุดคือ คนท้องถิ่น
หากภูกระดึงมีเคเบิล ไม่ช้าไม่นานการค้าก็จะคืบคลานมาอย่างแน่นอน ไม่ว่าโรงแรม รีสอร์ท รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ สารพัดปัญหาสังคม ฯลฯ ชาวบ้านจะไม่ได้อะไรมากเช่นเดียวกับสถานที่อื่น ๆ เพราะการบังคับใช้กฎหมายอ่อนเเอ
มันจะเป็นความเขลาของสังคมเราอย่างยิ่งหากมีเคเบิล เพราะจะทำลายเสน่ห์ของ“พิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน” เเละป่าเขาธรรมชาติไปอย่างน่าเสียดาย เก็บไว้สักแหล่งเถอะครับ ท่าน “ผีปอบดอลลาร์” ทั้งหลาย