ฉลากผลิตภัณฑ์ชุมชน กลไกการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคสู่ความยั่งยืน | รักษ์โลก:Low carbon society

ในยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพกลายเป็นความท้าทายสำคัญของสังคม การส่งเสริมระบบการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นแนวทางสำคัญที่ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วม
โดยเฉพาะภาคการผลิตระดับชุมชนและกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการสร้างเศรษฐกิจฐานราก และสามารถเป็นแนวหน้าด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้นโครงการ "ฉลากผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค" ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สำนัก 2) เป็นอีกหนึ่งในการสนับสนุนและยกระดับศักยภาพของสถานประกอบการในระดับชุมชน
โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การให้แนวทางพัฒนาแก่สถานประกอบการชุมชนหรือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านคุณภาพสินค้า รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม และความใส่ใจต่อผู้บริโภค ผ่านเกณฑ์การรับรองของฉลากฯ ซึ่งประเด็นหลักของฉลากนี้ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่
1. ด้านคุณภาพสินค้า
สินค้าต้องผ่านการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานที่เหมาะสม มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ และหาได้ในท้องถิ่น รวมถึงการสนับสนุนการจ้างงานในชุมชน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการผลิตสินค้าท้องถิ่น
2. ด้านสิ่งแวดล้อม
กระบวนการผลิตต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น ส่งเสริมการใช้วัสดุหมุนเวียนเพื่อการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการประยุกต์ใช้พลังงานสะอาด การจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดการปล่อยมลพิษ ทั้งทางน้ำและอากาศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางอากาศซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาหมอกควันที่รุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย
3. ด้านความใส่ใจต่อผู้บริโภค
มีเกณฑ์กำหนดให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบต่อสินค้า โดยผลิตภัณฑ์ต้องถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน รวมถึงการรับประกันสินค้าที่ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นและไว้วางใจ
นอกจากนี้ความสำคัญของฉลากผลิตภัณฑ์ชุมชนฯ ในยุควิกฤติสิ่งแวดล้อม ในบริบทปัจจุบันที่ปัญหามลพิษทางอากาศ เช่น หมอกควัน ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง ฉลากผลิตภัณฑ์ชุมชนฯ จึงมี บทบาทเป็น “กลไกเชิงบวก” ที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตไปในทิศทางที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อสินค้าที่ปลอดภัยและยั่งยืน และการได้รับรองฉลากนั้นยังสามารถกลายเป็น “แต้มต่อทางการตลาด” ให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน และสร้างความแตกต่างในตลาดที่มีความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การพัฒนาฉลากผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค จึงเป็นการลงทุนเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากที่มีความยั่งยืน ผ่านการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในระยะยาว ไม่เพียงแต่ช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน แต่ยังช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ก้าวสู่เวทีที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไปได้อย่างมั่นคงต่อไป