กนอ.ปั้น มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ โมเดลจัดการกากของเสียอุตฯ เบ็ดเสร็จ

กนอ. ดัน มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ สู่ "Closed Loop-Zero Waste to Landfill" จัดการกากอุตสาหกรรมเบ็ดเสร็จ ยกระดับมาตรฐานจัดการของเสีย สู่เป้าหมาย Net Zero-เศรษฐกิจหมุนเวียน
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยถึงแนวทางการจัดการของเสียอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ (Maptaphut Complex) ว่า กนอ.ให้ความสำคัญเรื่องการทำพื้นที่ทดลอง (Sandbox) ในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ เพื่อให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกันและกัน (Symbiosis) จนถึงการจัดการของเสียในวงจรแบบปิด (Closed Loop) ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการกากของเสียให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ยกระดับมาตรฐานการจัดการของเสียอุตสาหกรรม สร้างความเชื่อมั่นต่อภาคอุตสาหกรรมและประชาชน ทั้งยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมาย (Net Zero) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
“ขณะนี้ในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ได้ใช้ระบบการจัดการของเสียอุตสาหกรรมแบบ Closed Loop Recycling (การรีไซเคิลแบบปิดวงจร) และ Zero Waste to Landfill (ลดขยะฝังกลบให้เหลือศูนย์) เพื่อเป็นโมเดลตัวอย่างที่จะขยายไปสู่นิคมฯ อื่นๆ ทั่วประเทศ”
ทั้งนี้ ภายในปี 2568 จะมีการขับเคลื่อนอีกหลายกิจกรรม/โครงการเกี่ยวกับการจัดการของเสียภายในมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ อาทิ การตั้งศูนย์จัดการทรัพยากร ที่จะเป็นศูนย์ในการสนับสนุน พัฒนา และควบคุมในภาพรวม, พัฒนารูปแบบเชิงธุรกิจของศูนย์และแพลตฟอร์มเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE-Center & Platform), ศึกษาและออกแบบแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย (Waste Flow Analysis & Master Plan), สนับสนุนเทคโนโลยีจัดการของเสียในวงจรแบบปิด (Closed Loop), ผลักดันการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้
อย่างไรก็ตาม กนอ.มีอำนาจในการจัดการกากอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม ลดขั้นตอนการติดตาม - ขออนุญาต และพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลกากอุตสาหกรรมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พร้อมลงนามความร่วมมือ (MOU) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเชื่อมโยงข้อมูล
และในปี 2569 จะขยายกิจกรรม/โครงการต่างๆ ไปใน 14 นิคมอุตสาหกรรม ที่ กนอ.ดำเนินการเอง ซึ่งระหว่างปี 2570-2575 กนอ.จะร่วมลงทุนกับเอกชนสร้าง CE-Center และ ศูนย์รวบรวมขยะอุตสาหกรรม (CE-Transfer Station) ในมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ และ 14 นิคมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ มีรายงานปริมาณของเสียอันตรายใน 28 นิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก มีจำนวน 560,464 ตัน/ปี ขณะที่ปริมาณของเสียอันตรายในกลุ่มพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ มีจำนวน 183,363 ตัน/ปี