ทั่วโลกเจอ ‘PM 2.5’ มี 7 ประเทศที่อากาศดี ‘ไทย’ รั้งอันดับ 45 อากาศแย่สุดในโลก

รายงานพบว่าเกือบทุกประเทศบนโลกมีค่า “ฝุ่น PM2.5” เกินเกณฑ์ที่ WHO กำหนด ทำอากาศที่สกปรกเกินกว่าที่แพทย์แนะนำให้หายใจ
KEY
POINTS
- ประเทศที่มีอากาศบริสุทธิ์ในโลก คือ บาฮามาส โดยมีค่า PM2.5 อยู่ที่ 2.3
- ส่วนประเทศที่มลพิษมากที่สุด คือ ชาด มีค่า PM2.5 สูงถึง 91.8 ซึ่งมากกว่าค่ามาตรฐานถึง 18 เท่า
- ประเทศไทยติดอยู่ที่อันดับ 45 ด้วยค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ตลอดทั้งปี 2024 ที่ 19.8
ตามการวิเคราะห์ของบริษัทเทคโนโลยีคุณภาพอากาศ IQAir ของสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า ในปี 2024 มีเพียง 12 ประเทศ และดินแดนเท่านั้น ที่มีอนุภาคขนาดเล็กที่เรียกว่า “ฝุ่น PM2.5” ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งเป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคลาตินอเมริกา และแคริบเบียนหรือโอเชียเนีย
ประเทศที่มีอากาศบริสุทธิ์ในโลก คือ บาฮามาส โดยมีค่า PM2.5 อยู่ที่ 2.3 ตามมาด้วยเบอร์มิวดา และ เฟรนช์พอลินีเชีย ที่มีค่า PM2.5 เท่ากันที่ 2.5 ถัดมาเป็นเปอร์โตริโก ที่ 2.6 ขณะที่หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐ และมอนต์เซอร์รัต มีค่า PM2.5 อยู่ที่ 2.7 เท่ากัน กลุ่มประเทศที่มีอากาศไม่เกินเกณฑ์ของ WHO ประเทศอื่นๆ ได้แก่ บาร์เบโดส (3.1) เกรเนดา (3.2) ไอซ์แลนด์ (4) นิวซีแลนด์ (4.4) ออสเตรเลีย (4.5) และเอสโตเนีย (4.6)
ส่วนประเทศที่มลพิษมากที่สุด คือ ชาด มีค่า PM2.5 สูงถึง 91.8 ซึ่งมากกว่าค่ามาตรฐานถึง 18 เท่า ขณะที่อันดับ 2-4 ได้แก่ บังกลาเทศ (78) ปากีสถาน (73.7) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (58.2) และอินเดีย (50.6) หมายความว่าระดับ PM2.5 ในทั้ง 4 ประเทศนั้นในปี 2024 สูงกว่าระดับที่แนะนำถึง 10 เท่า และประเทศที่มีอากาศแย่ที่สุดในอันดับ 6-10 ประกอบไปด้วย ทาจิกิสถาน (46.3) เนปาล (42.8) อูกันดา (41) รวันดา (40.8) และบุรุนดี (40.3)
สำหรับ ประเทศไทยติดอยู่ที่อันดับ 45 ด้วยค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ตลอดทั้งปี 2024 ที่ 19.8 ซึ่งลดลงจากปี 2023 ที่มีค่าเฉลี่ย 23.3 โดย ต.พญาแก้ว จ.น่าน เป็นพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นโดยเฉลี่ยตลอดทั้งปีสูงสุดในประเทศไทยที่ 39.2
แม้จะมีระดับ PM2.5 ที่แนะนำ แต่แพทย์ระบุว่าไม่มีระดับ PM2.5 ที่ปลอดภัย เพราะ PM2.5 มีขนาดเล็กพอที่จะไหลเข้าสู่กระแสเลือด และทำลายอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย อีกทั้งอากาศไม่ดียังเป็นปัจจัยที่ค่าชีวิตผู้คนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากความดันโลหิตสูง ดังนั้นหากทำตามคำแนะนำของ WHO ก็จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้หลายล้านคนต่อปี
แฟรงก์ แฮมเมส ซีอีโอของ IQAir กล่าวว่า “มลพิษทางอากาศไม่ได้ฆ่าเราทันที อาจต้องใช้เวลาสองถึงสามทศวรรษกว่าที่เราจะเห็นผลกระทบต่อสุขภาพ เว้นแต่จะรุนแรงมาก การหลีกเลี่ยงมลพิษเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันที่ผู้คนมักไม่นึกถึงจนกว่าจะสายเกินไปในชีวิต”
ในการจัดอันดับ นักวิจัยใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศโดยเฉลี่ย ซึ่งวัดจากระดับพื้นดิน ตลอดทั้งปีปฏิทิน ประมาณหนึ่งในสามของหน่วยงานนั้นดำเนินการโดยรัฐบาล และอีกสองในสามดำเนินการโดยองค์กรไม่แสวงหากำไร โรงเรียน และมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปที่มีเซนเซอร์ ข้อมูลจากรายงานแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าบางประการ โดยพบว่าสัดส่วนของเมืองที่เป็นไปตามมาตรฐาน PM2.5 เพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2023 เป็น 17% ในปี 2024
ขณะเดียวกัน แม้ว่าในปี 2024 อินเดียจะมี 6 เมืองที่ติดอันดับท็อป 10 ที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุด โดยกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดียติดอันดับเมืองหลวงที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน แต่ในช่วงระหว่างปี 2023-2024 คุณภาพอากาศของอินเดียมีแนวโน้มดีขึ้น
เช่นเดียวกับคุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ของจีนดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู กวางโจว และเซินเจิ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวโน้มมลพิษ PM2.5 ที่ลดความรุนแรงลงตั้งแต่เกือบครึ่งหนึ่งระหว่างปี 2013-2020 คุณภาพอากาศในปักกิ่งในปัจจุบันจะอยู่ระดับเดียวกับกรุงซาราเยโว เมืองหลวงของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ที่ครองแชมป์เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในยุโรปเป็นปีที่สองติดต่อกัน
จีนเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้รณรงค์ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่เติบโตทางเศรษฐกิจ ที่หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมอย่างมหาศาล
โซรานา โจวานอวิช แอนเดอร์สัน นักระบาดวิทยาสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรายงานดังกล่าว กล่าวว่าผลการศึกษาเน้นย้ำถึงข้อเท็จจริงบางประการที่น่าสะพรึงกลัวเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ
“แม้แต่ในยุโรป ทวีปที่ขึ้นชื่อว่าสะอาดที่สุดแห่งหนึ่งก็ยังมีความแตกต่างกันอย่างมาก พลเมืองของประเทศในยุโรปตะวันออก และประเทศในบอลข่านที่ไม่ใช่สหภาพยุโรปต้องสูดอากาศที่มีมลพิษมากที่สุดในยุโรป และระดับ PM2.5 ระหว่างเมืองที่มีมลพิษมากที่สุด และน้อยที่สุดต่างกันถึง 20 เท่า” เธอกล่าว
รัฐบาลสามารถทำความสะอาดอากาศได้ด้วยนโยบายต่างๆ เช่น การจัดสรรเงินทุนสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียน และระบบขนส่งสาธารณะ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการเดิน และการปั่นจักรยาน และห้ามไม่ให้ผู้คนเผาขยะจากฟาร์ม
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการตรวจสอบคุณภาพอากาศในบางพื้นที่ของแอฟริกา และเอเชียตะวันตก เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศยากจน ทำให้ไม่มีสถานีตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ที่จะแจ้งให้พลเมืองของตนทราบหรือกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ทำให้หลายประเทศไม่ได้รวมอยู่ในผลการวิเคราะห์ ทั้งที่ประเทศยากจนมักจะมีคุณภาพอากาศที่แย่กว่าประเทศร่ำรวย
อิหร่าน และอัฟกานิสถานไม่ได้ถูกระบุในรายงานของปีนี้เนื่องจากขาดข้อมูล ขณะที่การตรวจวัดคุณภาพอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นปัญหาเช่นกัน รายงานระบุว่าในปี 2024 เมือง 173 แห่งจากทั้งหมด 392 เมืองในภูมิภาคนี้ไม่มีสถานีตรวจวัดของรัฐบาล โดยเฉพาะในกัมพูชาที่ไม่มีสถานีตรวจวัดของรัฐบาลเลย
ปัญหาเหล่านี้น่าจะยิ่งเลวร้ายลงหลังจากที่สหรัฐ ประกาศเมื่อต้นเดือนนี้ว่าจะหยุดแบ่งปันข้อมูลคุณภาพอากาศที่รวบรวมจากสถานทูต และสถานกงสุลทั่วโลกเนื่องจาก “ข้อจำกัดด้านเงินทุน” ตามที่สำนักข่าว Associated Press รายงาน
ที่มา: CNN, Earth, The Guardian
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์