ไทยพัฒน์ ยกระดับธุรกิจสู่ ‘วิสัยยั่งยืน’ เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

ไทยพัฒน์ ยกระดับธุรกิจสู่ ‘วิสัยยั่งยืน’ เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยแนวโน้ม ESG (Environmental, Social, and Governance) ของภาคธุรกิจไทย ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน

ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แรงกดดันจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และกระแสข้อมูลลวงที่ทำให้สังคมเกิดความขัดแย้ง ไปจนถึงเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ยังมีความเห็นต่างกันในระดับโลก

องค์กรไทยต้องปรับตัว ไม่ใช่แค่ “เดินถูกทาง” แต่ต้อง “ไปถึงที่หมาย”

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวในงานแถลงทิศทาง ESG ปี 2568 ว่า ธุรกิจไทยต้องเปลี่ยนจากการมี “วิถียั่งยืน” ซึ่งหมายถึงการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิดความยั่งยืน ไปสู่การพัฒนา “วิสัยยั่งยืน” ที่สามารถนำองค์กรไปถึงเป้าหมายได้จริง ท่ามกลางข้อจำกัดด้านทรัพยากรและกฎระเบียบที่ซับซ้อนมากขึ้น

แม้ที่ผ่านมาภาคธุรกิจไทยจะได้รับการยอมรับในด้าน ESG จากผลสำรวจและการรับรู้ของสาธารณะ แต่ความท้าทายสำคัญคือ องค์กรเหล่านี้มีความสามารถในการลงมือทำและสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด การมี “วิถียั่งยืน” เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่หากขาด “วิสัยยั่งยืน” ก็อาจไปไม่ถึงเป้าหมายที่แท้จริง

ในปีนี้ ภาคเอกชนต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งมาตรการทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นทั้งอุปสรรคและโอกาส ไปจนถึงการเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจจึงต้องปรับกลยุทธ์ให้เท่าทันสถานการณ์ ไม่ใช่แค่รักษาความยั่งยืน แต่ต้องสร้างศักยภาพให้แข่งขันและเติบโตได้จริง

ไทยพัฒน์ ยกระดับธุรกิจสู่ ‘วิสัยยั่งยืน’ เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

ไทยพัฒน์ได้นำเสนอกรอบความคิดใหม่ (Paradigm) สำหรับภาคธุรกิจในการบริหารจัดการประเด็นด้าน ESG ให้สอดคล้องกับศักยภาพขององค์กร และสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแนวทางหลักประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

1. Single Strategy – กลยุทธ์หนึ่งเดียว

ธุรกิจต้องมีแนวทาง ESG ที่เชื่อมโยงกับกลยุทธ์องค์กรโดยตรง แทนที่จะเป็นแนวปฏิบัติเพียงส่วนเสริม

2. Double Materiality – การวิเคราะห์สาระสำคัญสองมิติ

การพิจารณาประเด็นที่มีผลกระทบทั้งจากมุมของธุรกิจ (Financial Materiality) และจากมุมของสังคม-สิ่งแวดล้อม (Impact Materiality) เพื่อให้แน่ใจว่าองค์กรตอบโจทย์ได้ครบทุกด้าน

3. Triple Up Plan – แผนพัฒนา 3 ระดับ

การกำหนดแนวทางยกระดับ ESG อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนและสามารถต่อยอดไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

6 ทิศทาง ESG ปี 2568

1. จากวิถียั่งยืน สู่ขีดความสามารถ – พัฒนาบุคลากรและบริหารทรัพยากรให้ ESG ขับเคลื่อนได้จริง

2. จากคณะกรรมการ สู่กลยุทธ์หลัก – ผนวก ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กร

3. จากผู้ถือหุ้น สู่สิ่งแวดล้อม – บริหารองค์กรโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ

4. จากนโยบายสีเขียว สู่แผนเปลี่ยนผ่าน – เตรียมมาตรการรองรับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น

5. จากการเปิดเผยข้อมูล สู่ผลกระทบที่แท้จริง – รายงาน ESG ต้องสะท้อนผลกระทบต่อโลกจริง

6. จาก Net Zero สู่ความหลากหลายทางชีวภาพ – ธุรกิจต้องคำนึงถึงระบบนิเวศควบคู่กับเป้าหมายลดคาร์บอน

องค์กรต้องก้าวจาก “การทำตาม” สู่ “การขับเคลื่อน ESG อย่างแท้จริง” เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

องค์กรต้องยกระดับ ESG จากภาระสู่กลยุทธ์หลัก

วรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ธุรกิจต้องมีกรอบแนวคิดที่ชัดเจนในการขับเคลื่อน ESG ให้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กร ไม่ใช่แค่การตอบสนองต่อแรงกดดันภายนอก โดยผลสำรวจ 2025 CFO Sustainability Outlook Survey จาก CFO ทั่วโลก 500 ราย พบว่า 70% ขององค์กรยังดำเนินการด้านความยั่งยืนแยกออกจากกลยุทธ์หลัก โดย 40% ทำเพราะแรงกดดันจากผู้มีส่วนได้เสีย และ 30% ทำตามข้อบังคับ ขณะที่มีเพียง 21% ที่สามารถหลอมรวม ESG เข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจได้จริง

ฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ กรรมการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ธุรกิจต้องผ่าน 3 ระยะของการบูรณาการ ESG 1.อยู่ภายนอกวาระของคณะกรรมการ, 2.อยู่ในวาระการพิจารณา, และ 3.ฝังตัวเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์หลัก โดยปัจจุบัน ธุรกิจไทยส่วนใหญ่อยู่ในระยะที่หนึ่ง มีโครงการ ESG แยกส่วนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ แต่ยังไม่ได้เป็นแนวทางเชิงกลยุทธ์ มีเพียงองค์กรขนาดใหญ่บางแห่งที่เริ่มพัฒนาไปสู่ระยะที่สอง

การเดินทางสู่ความยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัย “วิสัยสามารถ” (Capacity) ที่องค์กรต้องสร้างและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับกรอบแนวคิดที่เหมาะสมในการประเมินปัจจัยด้าน ESG ที่มีผลต่อธุรกิจ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ธุรกิจไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการบูรณาการ ESG โดยมีเพียงบางองค์กรขนาดใหญ่ที่พัฒนาไปสู่ระดับที่ ESG กลายเป็นวาระสำคัญของคณะกรรมการ ทั้งนี้ การเดินหน้าสู่ความยั่งยืนต้องอาศัย “วิสัยสามารถ” (Capacity) และกรอบแนวคิดที่ถูกต้อง เพื่อให้ ESG เป็นปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจอย่างแท้จริง

ไทยพัฒน์ ยกระดับธุรกิจสู่ ‘วิสัยยั่งยืน’ เพื่ออนาคตที่ดีกว่า