พื้นที่ชุ่มน้ำไทย ในวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

เราเคยสงสัยไหมว่าพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำขังในบางช่วงเวลาหรือตลอดทั้งปี มีความสำคัญอย่างไร หลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงแหล่งน้ำธรรมดา บางแห่งก็ดูเหมือนพื้นที่รกร้าง และบ้างก็ได้รับการพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
ความจริงแล้วพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ Wetlands ช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างที่คาดไม่ถึง
พื้นที่ชุ่มน้ำคืออะไร?
พื้นที่ชุ่มน้ำ ก็คือ ระบบนิเวศที่มีน้ำท่วมขังเป็นระยะหรือถาวร ซึ่งอาจเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น หนอง บึง แม่น้ำ ลำคลอง ปากแม่น้ำ หรือทะเลสาบ รวมถึงพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น อ่างเก็บน้ำ
พื้นที่เหล่านี้สามารถเป็นแหล่งน้ำนิ่งหรือน้ำไหล และรองรับได้ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม บางแห่งยังเป็นพื้นที่ทะเลและชายฝั่งที่ระดับน้ำลดต่ำสุดไม่เกินหกเมตรอีกด้วย
การจำแนกพื้นที่ชุ่มน้ำตามระดับความสำคัญของประเทศไทย ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่น ความสำคัญระดับชาติ ความสำคัญระดับนานาชาติ และความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาไซต์ (Ramsar Site) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามอนุสัญญาแรมซาร์
ปัจจุบันมีพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาไซต์ในประเทศ จำนวน 15 แห่ง เช่น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จ.เชียงราย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี พรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส เป็นต้น
บทบาทของพื้นที่ชุ่มน้ำ
พื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญกว่าที่หลายคนคิด เพราะช่วยกักเก็บน้ำและป้องกันน้ำท่วมได้ดีเยี่ยม เหมือนเป็นฟองน้ำขนาดใหญ่ที่ดูดซับน้ำฝนและน้ำท่า ลดความเสี่ยงจากอุทกภัย พื้นที่ชุ่มน้ำในพื้นที่ชายฝั่ง
อย่างกรณีป่าชายเลนได้ทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันธรรมชาติ ลดการกัดเซาะจากคลื่นทะเล และรักษาสมดุลของระบบน้ำใต้ดิน
นอกจากนี้ พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เช่น บัวสาย บัวหลวง กก กระจูด สาหร่ายน้ำจืด เป็นต้น พบสัตว์เฉพาะถิ่นในพื้นที่ชุ่มน้ำบางแห่ง
เช่น ปลาบู่มหิดล ปลาค้อกาญจนบุรี ปลาดุกลำพัน กบอ่างทอง และเต่าใบไม้ อีกทั้งยังเป็นถิ่นอาศัยของนกน้ำหลากหลายชนิด นอกจากนี้ ยังมีชนิดพืชและสัตว์
ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้เคยทำการสำรวจและประเมินมูลค่าการใช้ประโยชน์ทางตรงจากพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมชาติ เมื่อปี 2564 พบว่า บางครัวเรือนรอบพื้นที่พรุมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการพึ่งพิงทรัพยากรในพื้นที่พรุ
เช่น รายได้จากการตัดกระจูดขายสด สานกระจูด จับปลา น้ำผึ้งหลวง ตลอดจนการใช้ประโยชน์น้ำเพื่ออุปโภคและการเกษตร ใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ และการท่องเที่ยว
ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate mitigation) ของพื้นที่ชุ่มน้ำ ด้วยการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน โดยป่าชายเลน หนองบึง และป่าพรุสามารถกักเก็บคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ช่วยลดความรุนแรงของน้ำท่วม
โดยกักเก็บน้ำส่วนเกิน ลดผลกระทบจากอุทกภัย และช่วยรักษาคุณภาพน้ำ ช่วยลดสารมลพิษที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
- การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate adaptation) พื้นที่ชุ่มน้ำได้ช่วยป้องกัน
การกัดเซาะชายฝั่ง: ป่าชายเลนและแนวปะการังช่วยลดแรงคลื่นและป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง
ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและแหล่งน้ำ: เป็นแหล่งอาหารและน้ำสำหรับชุมชน โดยเฉพาะในช่วงภัยแล้ง และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชที่ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ในภาวะที่อากาศเปลี่ยนแปลง
ปัจจุบันมีงานวิจัยระบุว่าพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลกสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ในปริมาณมาก โดยเฉพาะป่าชายเลนมีพรรณไม้ที่หลากหลาย
ด้วยความหลากหลายของพรรณไม้นั้นสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เร็วกว่าป่าฝนเขตร้อนถึง 55 เท่า หรือพื้นที่พรุที่สามารถกักเก็บคาร์บอนมากกว่าป่าทั่วไปถึง 10 เท่า
แม้พื้นที่ชุ่มน้ำมีการปล่อยก๊าซมีเทน แต่ประโยชน์ในการกักเก็บคาร์บอนโดยรวมยังสูงกว่าการปล่อยก๊าซมีเทน
หลายงานวิจัยมีข้อเสนอว่าการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นหนึ่งในแนวทางที่มีต้นทุนต่ำและมีศักยภาพสูงในการลดคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ
ขณะที่พื้นที่ชุ่มน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนที่ไม่แน่นอน
ส่งผลให้ระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำเสียสมดุล ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นทำให้บางพื้นที่ถูกท่วมขังอย่างถาวร ขณะที่ในบางช่วงอาจเกิดภาวะแห้งแล้งจนระบบนิเวศไม่สามารถดำรงอยู่ได้ สิ่งมีชีวิตบางชนิดสูญพันธุ์หรืออพยพไปยังถิ่นที่อยู่ใหม่
ส่วนการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ กระตุ้นให้เกิดการแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาแทนที่ระบบนิเวศดั้งเดิม
เราจะช่วยป้องกันและลดภัยคุกคามต่อพื้นที่ชุ่มน้ำได้อย่างไร ?
นอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ชุ่มน้ำยังต้องเผชิญกับการขยายตัวของเมือง อุตสาหกรรม และพื้นที่เกษตร ซึ่งทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่
ขณะที่การทิ้งขยะและปล่อยน้ำเสียจากครัวเรือน มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และสารเคมีจากภาคการเกษตร เป็นภัยคุกคามต่อคุณภาพพื้นที่ชุ่มน้ำ
กรณีการสำรวจพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดเชียงรายและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้โครงการ URBAN ซึ่งสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ดำเนินงานร่วมกับ IUCN และองค์กรภาคี
พบว่าพื้นที่ชุ่มน้ำมีแนวโน้มลดลง โดยมีสาเหตุการลดลงที่สอดคล้องกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเคยระบุไว้เมื่อปี 2562 ว่าภัยคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำส่วนใหญ่เกิดจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค การขยายพื้นที่เกษตร และสิ่งปลูกสร้าง
นอกจากนี้ ยังเกิดจากการแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อศักยภาพและความสามารถทางธรรมชาติของ พื้นที่ชุ่มน้ำที่จะสามารถเป็นพื้นที่ซับน้ำ และปกป้องเมืองต่อวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น
การจัดการให้พื้นที่ชุ่มน้ำจำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจัง โดยคำนึงถึงการใช้มาตรการที่อาศัยธรรมชาติเป็นฐาน (Nature-based Solutions-NbS) ในการคุ้มครอง ฟื้นฟู ใช้ประโยชน์ และจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
ด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำไม่ใช่เพียงแค่แหล่งน้ำ แต่เป็นเกราะทางธรรมชาติที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐหรือองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ทุกคนต้องช่วยกัน
- การคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่ให้ถูกรุกล้ำ มีแนวเขตที่ชัดเจน จัดระดับความสำคัญและกำหนดหน่วยงานดูแลรับผิดชอบ
- การฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ คำนึงถึงการจัดการระบบน้ำ ใช้พืชและโครงสร้างทางธรรมชาติ
- การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน: ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อการใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีกฎกติการ่วมกันอย่างชัดเจน
- การพัฒนาระบบการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ: เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์แนวโน้มของพื้นที่ จัดทำแผนพื้นที่จัดการชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับต่าง ๆ
เห็นได้ว่า พื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทยกำลังเผชิญกับทั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศและภัยคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ ความสามารถในการดูดซับคาร์บอน และบทบาทสำคัญในการป้องกันภัยธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม พวกเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดมลพิษ สนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูระบบนิเวศ
เพราะการรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่ใช่แค่การปกป้องธรรมชาติ แต่ยังเป็นการสร้างหลักประกันให้กับอนาคตของเราและคนรุ่นต่อไป
แหล่งข้อมูล: สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, กรมทรัพยากรน้ำ, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้อมูลจากการสำรวจภายใต้โครงการ URBAN