‘ทรัมป์’ สั่งรัฐใช้ ‘หลอดพลาสติก’ เมินหลอดกระดาษ เน้นสะดวกคน ไม่สนฉลาม

‘ทรัมป์’ สั่งรัฐใช้ ‘หลอดพลาสติก’ เมินหลอดกระดาษ เน้นสะดวกคน ไม่สนฉลาม

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งให้ใช้หลอดพลาสติก แทนหลอดกระดาษ ชี้ กระดาษเปื่อยง่าย ไร้สาระ ไม่สนเรื่องปัญหาขยะพลาสติกที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม คาดฉลามน่าจะไม่เดือดร้อนเรื่องนี้

ว่าด้วยเรื่องของหลอด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการรณรงค์ลดใช้หลอดพลาสติก รวมถึงส่งเสริมให้ใช้หลอดกระดาษหรือไม่ใช้หลอดเลย เพื่อลดขยะและมลพิษในแหล่งน้ำ และลดภัยคุกคามต่อสัตว์ชนิดต่างๆ แต่ล่าสุดผู้นำของชาติมหาอำนาจโลกกลับมองว่า “หลอดพลาสติก” ดีกว่า “หลอดกระดาษ” เพียงเพราะใช้สะดวก

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เผยเมื่อวันจันทร์ (10 ก.พ.) ว่า เขาเตรียมแบนการใช้หลอดกระดาษ โดยบอกว่าหลอดกระดาษใช้งานได้ไม่ดี และไม่สามารถใช้งานได้เป็นเวลานาน เขาจึงต้องการให้รัฐบาลเปลี่ยนไปใช้หลอดพลาสติกแทน

“มันเป็นเรื่องที่ไร้สาระ เราจะกลับไปใช้หลอดพลาสติกอีกครั้ง” ทรัมป์กล่าวขณะลงนามคำสั่งบริหารให้ยกเลิกนโยบายการจัดซื้อของรัฐบาลกลางที่สนับสนุนให้ใช้หลอดกระดาษและห้ามใช้หลอดพลาสติก

คำสั่งดังกล่าวมีผลโดยตรงให้หน่วยงานรัฐบาลกลางต่างๆ เลิกซื้อหลอดกระดาษ และต้องไม่มีการนำหลอดกระดาษมาใช้ภายในหน่วยงานรัฐอีก

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่นโยบายของรัฐบาลโจ ไบเดน ที่ต้องการยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น หลอด ในการดำเนินการต่างๆ ของร้านอาหาร อีเวนต์ และการบรรจุหีบห่อ ภายในปี 2570 รวมถึงการดำเนินงานของรัฐบาลกลางทั้งหมด ภายในปี 2578

แม้หลอดพลาสติกถูกกล่าวหาว่าเป็นมลพิษต่อมหาสมุทรและเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล แต่ทรัมป์บอกว่า ยังคงไม่เป็นไรถ้าจะใช้หลอดพลาสติกต่อไป

“ผมไม่คิดว่าพลาสติกจะส่งผลกระทบต่อฉลามมากนัก ในขณะที่มันหาอาหารและกินอาหารในมหาสมุทร” ทรัมป์ กล่าว

ทั้งนี้ สหรัฐ จีน และเยอรมนี เป็นผู้เล่นรายใหญ่สุดในการค้าพลาสติกของโลก ด้านสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยว่า ทุกๆ ปี โลกผลิตพลาสติกใหม่มากกว่า 400 ล้านตัน และราว 40% ของพลาสติกนำไปใช้เป็นบรรจุภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม หลอดพลาสติกเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของปัญหาเท่านั้น เพราะตอนนี้สิ่งแวดล้อมเต็มไปด้วยบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่มมากมาย ทั้งขวดน้ำ กล่องอาหารใช้แล้วทิ้ง แก้วกาแฟ ถุงพลาสติก ฯลฯ 

ขณะที่การผลิตพลาสติกปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษอันตรายมากมาย ซึ่งผลิตภัณฑ์พลาสติกมากกว่า 90% ผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และโลกทิ้งขยะพลาสติกหลายล้านตันลงสู่ทะเลในทุกๆ ปี

ด้านผู้เชี่ยวชาญเผย ทั่วโลกมีขยะพลาสติกเทียบเท่ากับรถบรรทุกขยะหนึ่งคันไหลลงสู่มหาสมุทรในทุกนาที และเมื่อขยะเหล่านั้นย่อยสลายสู่สิ่งแวดล้อม ไมโครพลาสติกก็จะเข้าไปอยู่ในท้องของสัตว์ต่างๆ เช่น ปลา และนก รวมถึงเลือดและอวัยวะต่างๆ ของมนุษย์ก็พบไมโครพลาสติกแล้วด้วย

บริษัทข้ามชาติหลายแห่งได้หลีกเลี่ยงการใช้หลอดพลาสติกและการใช้พลาสติกในศูนย์กลางการดำเนินงานเพื่อเป้าหมายด้านความยั่งยืนของธุรกิจ แนวคิดการกลับมาใช้หลอดพลาสติกของทรัมป์จึงสวนทางเป้าหมายความยั่งยืน และกลายเป็นเรื่องแปลกประหลาดในโลกธุรกิจ

คริสตี ลีวิตต์ ผู้อำนวยการฝ่ายการรณรงค์ด้านพลาสติกของกลุ่มสิ่งแวดล้อม Oceana บอกว่า

“ทรัมป์กำลังเดินหน้ามาตรการเกี่ยวกับพลาสติกใช้ครั้งเดียวไปในทางที่ผิด ตอนนี้โลกกำลังเผชิญภาวะวิกฤติ และเราไม่สามารถเพิกเฉยต่อภัยคุกคามสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดที่มหาสมุทรและโลกของเราเผชิญอยู่”

ด้านอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกกลับยินดีต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าว

แมตต์ ซีโฮล์ม ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติก กล่าวว่า​ “หลอดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น การกลับไปใช้พลาสติกเป็นความเคลื่อนไหวที่เราทุกคนควรสนับสนุน”

ตามข้อมูลจากกลุ่มปกป้องเต่า Straws Turtle Island Restoration Network ระบุว่า ในสหรัฐมีการใช้หลอดพลาสติกมากกว่า 390 ล้านชิ้นในแต่ละวัน ส่วนใหญ่ใช้เพียง 30 นาทีหรือน้อยกว่านั้น ซึ่งหลอดต้องใช้เวลาย่อยสลายอย่างน้อย 200 ปี และจะก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อเต่าและสัตว์ชนิดอื่นๆ เมื่อย่อยสลายเป็นไมโครพลาสติก

“เพื่อปกป้องเต่าทะเลจากการตกเป็นเหยื่อของพลาสติก เราจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตและต่อสู้เพื่อสัตว์เหล่านี้”

อย่างไรก็ตาม หลายรัฐและหลายเมืองในสหรัฐได้แบนการใช้หลอดพลาสติก และร้านอาหารบางแห่งไม่ให้หลอดแก่ลูกค้าแล้ว

นอกจากนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังทำสนธิสัญญาเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติก โดยผู้นำจากหลายประเทศเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับพลาสติกในเกาหลีใต้เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ อย่างไรก็ดีการประชุมจะมีขึ้นอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงจำกัดการผลิตพลาสติก และการแก้ไขปัญหาด้านการทำความสะอาดและรีไซเคิล จะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 100 ประเทศ

 

อ้างอิง: AP