‘มกราคม 2025’ ขึ้นแท่น เดือนม.ค.ที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ 

‘มกราคม 2025’ ขึ้นแท่น เดือนม.ค.ที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ 

อุณหภูมิโลกทำลายสถิติในเดือนมกราคม แม้ว่าจะมีปรากฏการณ์ลานีญาในมหาสมุทร ซึ่งโดยปกติแล้วจะทำให้มีอุณหภูมิที่เย็นลง

ถึงแม้ว่าตลอดเดือนมกราคม 2568 ประเทศไทยจะเผชิญกับความหนาวเย็นตลอดเดือน และสหรัฐจะเจอกับพายุหิมะครั้งรุนแรง แต่หากดูภาพรวมทั้งโลกแล้ว เดือนมกราคมในปีนี้กลายเป็นเดือนมกราคม ที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้

อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนที่แล้วอยู่ที่ 13.23 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนมกราคมปี 1991-2020 ถึง 0.79 องศาเซลเซียส และสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.75 องศาเซลเซียส ตามรายงานของสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป หรือ C3S  

เดือนมกราคม 2025 เป็นเดือนที่ 18 ในช่วง 19 เดือนที่ผ่านมา ที่อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.5 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ สร้างความประหลาดใจให้กับนักวิจัยด้านสภาพอากาศ ทั้งที่ในช่วงนี้เกิด “ลานีญา” ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลดลง แต่ดูเหมือนว่าลานีญาในรอบนี้อ่อนกำลัง และไม่ได้ทำให้อุณหภูมิลดลงมากนัก 

อีกทั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่าน พื้นผิวโลกมีอุณหภูมิสูงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยคาร์บอนจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ก๊าซ และน้ำมัน ที่เพิ่มสูงขึ้นในระดับสูงสุดในปี 2023 และ 2024 แต่ดูเหมือนว่าโลกยังคงจะใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโดนัลด์ ทรัมป์ให้สัญญาว่าจะมุ่งเน้นการผลิตน้ำมันในสหรัฐตามนโยบาย “Drill, baby, drill” 

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าปีนี้จะเย็นกว่า 2 ปีที่ผ่านมาเล็กน้อย เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญา และยังไม่มีโอกาสที่ปี 2025 จะกลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ตามคำกล่าวของ ดร.รัสเซลล์ โวส นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากสำนักงานบริหารมหาสมุทร และบรรยากาศแห่งชาติ 

รายงานพบว่า อากาศอบอุ่นกว่าปกติมากในแคนาดาตอนเหนือ อะแลสกา และไซบีเรีย รวมถึงบางส่วนของออสเตรเลีย และแอนตาร์กติกา 

นอกจากนี้ อุณหภูมิที่สูงผิดปกติเหนืออ่าวฮัดสัน และทะเลลาบราดอร์ทำให้แผ่นน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกละลายอย่างรวดเร็ว จนเหลือน้ำแข็งอยู่น้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ 

อุณหภูมิที่สูงขึ้นทุกๆ เศษเสี้ยวขององศาเซลเซียสที่สูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส จะยิ่งทำให้สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อน ฝนตกหนัก และภัยแล้ง มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และเกิดบ่อยกว่าเดิม 

นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ช่วงเวลาปัจจุบันน่าจะเป็นช่วงที่โลกร้อนที่สุดในรอบ 125,000 ปี

 

ที่มา: IndependentThe GuardianThe New York Times

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์