‘ทะเลอารัล’ จากทะเลสาบกลายเป็นทะเลทราย บทเรียนชลประทานผิดพลาด เร่งหาทางฟื้นฟู

เอเชียกลางเผชิญกับหายนะทางสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทะเลอารัลแห้งเหือด จากการบริหารจัดการทำน้ำที่ผิดพลาด ทำให้ทะเลสาบใหญ่ กลายเป็นทะเลทราย
“ทะเลอารัล” (Aral Sea) ตั้งอยู่ระหว่างอุซเบกิสถานและคาซัคสถาน เคยเป็นทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก แต่ปัจจุบันแห้งเหือดจนแทบไม่เหลือน้ำอยู่เลย จากระบบชลประทานที่ผิตพลาดของโซเวียตตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมร้ายแรงในเอเชียกลาง ปัจจุบัน “อุซเบกิสถาน” และ “คาซัคสถาน” ต้องหาทางพลิกฟื้นผืนดินที่แห้งแล้ง และต่อสู้กับการกลายเป็นทะเลทราย ด้วยการปลูกป่าทดแทน
ในสมัยที่โซเวียตเรืองอำนาจช่วงระหว่างปี 1960-1990 เอเชียกลางกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตฝ้าย พื้นที่ชลประทานเพื่อการเกษตรขยายตัวจาก 28,125,000 ไร่ เป็น 43,750,000 ไร่ ทำให้ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงจำเป็นต้องผันน้ำจากแม่น้ำซีร์ดาร์ยาและอามูดาร์ยาที่เป็นแหล่งน้ำหลักของทะเลอารัล ไปใช้ทางการเกษตรแทน
ก่อนปี 1960 แม่น้ำอามูดาร์ยาเติมเต็มน้ำ 38.6 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี ในขณะที่แม่น้ำซีร์ดาร์ยามอบน้ำสู่ทะเลสาบ 14.5 ลูกบาศก์กิโลเมตร โดยในช่วงปี 1960 ทะเลอารัลมีพื้นที่ 68,000 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำ 1,083 ลูกบาศก์กิโลเมตร มีความยาว 426 กิโลเมตร ความกว้าง 284 กิโลเมตร และจุดที่ลึกที่สุดลึก 68 เมตร
เมื่อมีโครงการชลประทานขนาดใหญ่ทะเลอารัลก็หดตัวลงเรื่อยมา จนในช่วงต้นทศวรรษ 2020 ระดับน้ำลดลง 3 เท่า และปริมาตรลดลง 15 เท่า พื้นผิวของทะเลสาบลดลงเกือบ 9 เท่า เหลือเพียง 8,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนปริมาณน้ำลดลงเหลือ 75 ลูกบาศก์กิโลเมตร และความลึกสูงสุดอยู่ที่ 20 เมตร ทะเลสาบยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยความลึกลดลงปีละ 80-110 เซนติเมตร
ปริมาณน้ำที่ลดลงทำให้ทะเลสาบแยกออกเป็นสองส่วน โดยส่วนหนึ่งอยู่ในอุซเบกิสถานและอีกส่วนหนึ่งอยู่ในคาซัคสถาน เกาะต่าง ๆ ประมาณ 300 เกาะที่เคยกระจัดกระจายทั่วในทะเลสาบได้รวมเข้ากับผืนแผ่นดินโดยรอบ
(ซ้าย) ปี 1985 (ขวา) ปี 2024
ทะเลสาบกลายเป็นทะเลทราย
เมื่อทะเลอารัลหดลง พื้นที่ที่เดิมกว่า 25 ล้านไร่ก็เปลี่ยนเป็น “ทะเลทรายอารัลคัม” ซึ่งทะเลทรายแห่งล่าสุดของโลก โดยในแต่ละปีเกิด “พายุทราย” ที่พัดเอาฝุ่นที่มีเกลือพัดเข้ามาประมาณ 100 ล้านตันทุกปี ทำให้สภาพแวดล้อมแย่ลง
นักวิทยาศาสตร์รายงานว่า พบร่องรอยของอนุภาคฝุ่นเหล่านี้ในเทือกเขาปามีร์ ซึ่งทำให้เกิดการละลายของธารน้ำแข็ง อีกทั้งทะเลสาบที่ขาดน้ำทำให้เกิดการกัดเซาะดินและมลพิษทางอากาศมากขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายสุขภาพของมนุษย์ สภาพความเป็นอยู่ และความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชากรเกือบ 3 ล้านคนที่อยู่รอบทะเลสาบ เกิดโรคภัยไข้เจ็บแพร่กระจายและอัตราการเสียชีวิตของทารกเพิ่มสูงขึ้น
ในอดีตเมืองมอยนัก เคยถูกเรียกว่าเป็นเมืองประมง และเป็นท่าเรือที่เจริญรุ่งเรือง แต่ปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายจากเกลือจำนวนมาก อีกทั้งแนวชายฝั่งหดตัวลงมากกว่า 100 กิโลเมตร ส่งผลให้การเกษตรและการประมงล่มสลาย ทำให้ผู้อยู่อาศัยจำนวนมากต้องอพยพเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า
เมื่อกลางศตวรรษที่ 20 แอ่งทะเลอารัลเป็นแหล่งอาศัยของพืชมากกว่า 300 ชนิด นก 319 ชนิด และสัตว์ 70 ชนิด แต่ในตอนนี้เกือบครึ่งหนึ่งของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้งหมดหายไปหรืออพยพย้ายถิ่นฐานไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ทะเลสาบอารัลเคยมีปลา 34 ชนิด โดยจับได้ปีละประมาณ 60,000 ตัน แต่ความเค็มที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า ช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 10 เท่า ทำให้สัตว์น้ำสูญพันธุ์เกือบหมด โรงงานบรรจุปลากระป๋องในเมืองมอยนักปิดตัวลง และเรือประมงที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดเกลื่อนพื้นทะเลที่แห้งเหือด จนกลายเป็นสุสานเรือเก่า และมีอูฐก็เดินเตร่ไปมาในทะเลทรายที่เพิ่งก่อตัวขึ้น
ฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้ทะเลสาบอารัล
ภาวะแห้งแล้งของทะเลอารัลทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ต่อปี รัฐบาลในภูมิภาคได้ริเริ่มโครงการปลูกป่าทดแทนบนพื้นทะเลที่เปิดโล่ง โดยมุ่งหวังที่จะทำให้ดินมีความเสถียรและลดพายุฝุ่น
ในปี 2560 อุซเบกิสถานได้เพิ่มความพยายามปลูกป่าในโครงการ “โครงการแนวกันชนสีเขียว” (Green Belt) ปลูกพันธุ์ไม้ที่ต้านทานทะเลทราย เช่น ต้นแซกซอล และต้นทามาริสก์ ครอบคลุมพื้นทะเลสาบที่แห้งแล้ง 70 กิโลเมตร เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเกลือและฝุ่น โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะปลูกป่าทดแทนในพื้นที่แห้งทั้งหมดของทะเลอารัลภายในหนึ่งทศวรรษ
ตามคำกล่าวของ ซาฟาร์ เอชานคูโลฟ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงนิเวศวิทยา การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอุซเบกิสถาน เปิดเผยว่าในตอนนี้อุซเบกิสถานได้ปลูกป่าในทะเลอารัลไปแล้วประมาณ 12.5 ล้านไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 20 ล้านไร่ โดยเขาย้ำว่าความพยายามเหล่านี้ช่วยลดการแพร่กระจายของฝุ่นละอองในอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นให้ดีขึ้น
ขณะที่ ทะเลอารัลเหนือมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 42% แตะระดับ 27 พันล้านลูกบาศก์เมตร ตามผลจากโครงการอนุรักษ์ทะเลอารัลเหนือที่รัฐบาลคาซัคสถานได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก เพื่อเพิ่มปริมาณและประสิทธิภาพของการสะสมน้ำในทะเลอารัลเหนือ การปรับปรุงการจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาประมงและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการปรับปรุงสถานะทางนิเวศวิทยาของภูมิภาค
ในปี 2024 คาซัคสถานปล่อยน้ำประมาณ 2,600 ล้านลูกบาศก์เมตรลงสู่ทะเลอารัล ซึ่งเป็นผลมาจากการกระจายและอนุรักษ์น้ำจากแม่น้ำซีร์ดาเรียอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ในปี 2022 มีน้ำไหลลงสู่ทะเลอารัลเพียง 816 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
“ตัวเลขเหล่านี้เป็นผลจากการทำงานเป็นระบบเป็นเวลาสองปี เราได้บรรลุความเข้าใจร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับการปกป้องและแบ่งปันทรัพยากรน้ำในแม่น้ำข้ามพรมแดนอย่างเท่าเทียมกัน” นายนูร์ซาน นูร์ซิกิตอฟ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรน้ำและชลประทานคาซัคสถาน กล่าว
วิกฤตการณ์ทะเลอารัลยังคงเป็นภัยพิบัติทางระบบนิเวศที่น่าตกใจที่สุดครั้งหนึ่งของโลก ซึ่งทั้งคาซัคสถานและอุซเบกิสถานกำลังพยายามแก้ไขวิกฤติดังกล่าว แม้จะยังไม่ได้ช่วยให้ทะเลอารัลกลับมามีน้ำมากเท่าเดิม แต่การบรรเทาผลกระทบดังกล่าวทำให้มีความหวังสำหรับอนาคต
ที่มา: Astana Times, Daily Sabah, DW