PM 2.5 เพิ่มแรงฉุดเศรษฐกิจ กทม.ลากยาว 1 เดือน กระทบ 3-6 พันล้านบาท

เปิดมาตรการควบคุมฝุ่น PM2.5 ปี 2568 ของกรมควบคุมมลพิษ ตั้งเป้าลดพื้นที่เผาไหม้ ป่าและพื้นที่เกษตร ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัญหา กรุงเทพฯ-ปริมณฑล กระทบเศรษฐกิจ 3-6 พันล้านบาท ส.อ.ท.ห่วง 4 ด้าน หอการค้า ชี้ท่องเที่ยวหนักสุด ลุ้น พ.ร.บ.อากาศสะอาด คาดผ่านสภา เม.ย. นี้
KEY
POINTS
- เปิดมาตรการควบคุมฝุ่น PM 2.5 ปี 2568 กรมควบคุมมลพิษตั้งเป้าลดพื้นที่ป่าเผาไหม้ลง 25% ลดเผาพื้นที่เกษตร 10-30%
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัญหาเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล 1 เดือน กระทบเศรษฐกิจ 3-6 พันล้านบาท
- ส.อ.ท. ห่วงผลกระทบเศรษฐกิจ 4 ด้าน
- หอการค้า ชี้ท่องเที่ยวหนักสุด
- ลุ้น พ.ร.บ.อากาศสะอาด แก้ปัญหาระยะยาว คาดผ่านสภา เม.ย. นี้
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ รายงาน สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ระหว่างวันที่ 22-25 ม.ค.2568 มีแนวโน้มสูงขึ้นในระดับกระทบสุขภาพ (ระดับสีแดง) โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่อื่นที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้จัดทำมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ปี 2568 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2562
รวมทั้งได้สรุปข้อมูลปี 2567 พบพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ อยู่ในสถานการณ์ที่แย่ที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ย
PM 2.5 ทั้งปีอยู่ที่ 46 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น และมีจำนวนวันที่ค่าเกินมาตรการมากที่สุดที่ 129 วัน ในขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่าเฉลี่ย 33 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และมีจำนวนวันที่ค่าเกินมาตรฐาน 97 วัน
มาตรการควบคุมฝุ่น PM 2.5 ปี 2568
นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้บูรณาการการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคประชาชน ในปี 2568 เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ รวมถึงการป้องกันและลดผลกระทบต่อประชาชนที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
- พื้นที่ป่า มีเป้าหมายควบคุมพื้นที่เผาไหม้ โดยโฟกัสที่ป่าแปลงใหญ่ที่มีความเสี่ยง 14 กลุ่มป่า (Cluster) ควบคุมพื้นที่เผาไหม้ ลดลง 25% จากปี 2567 ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดกาญจนบุรี
- พื้นที่เกษตร มีเป้าหมายควบคุมพื้นที่เผาไหม้จากการเผาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน ตั้งเป้าให้ลดลง 10-30% จากปี 2567 โดยโฟกัสที่กลุ่มพืชเป้าหมาย ได้แก่ นาข้าว ลดลง 30% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดลง 10% และอ้อยโรงงาน ลดลง 15%
- พื้นที่เมือง เป้าหมายควบคุมการระบายฝุ่นในพื้นที่เมือง โดยโฟกัสที่ยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรมปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบให้ได้ 100%
นอกจากนั้น จะมีการจัดทำ Risk Map วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงเป็นส่วนสำคัญของการป้องกัน ซึ่งช่วยให้รัฐบาลและชุมชนควบคุมฝุ่นได้ล่วงหน้า และการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน การเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อวางมาตรการลดการเผาเป็นการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่สำคัญ
ชี้ลากยาวกระทบเศรษฐกิจ 3-6 พันล้าน
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 กระทบหลายด้านทั้งค่าเสียโอกาส ค่ารักษาพยาบาล และกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว โดยค่าเสียโอกาสที่อาจกระทบระยะสั้น คือ กรณีฝุ่น PM 2.5 อาจทำให้ประชาชนเจ็บป่วย ภูมิแพ้กำเริบ ซึ่งกระทบถึงค่ารักษาพยาบาลที่นำไปใช้แทนการใช้จ่ายส่วนอื่น
รวมทั้ง หากฝุ่น PM 2.5 รุนแรงเข้าสู่สถานการณ์สีส้มแดง มองว่าระยะกลางอาจทำให้ประชาชนป่วยเรื้อรังในเดินหายใจและลามปอด ซึ่งจะมีผลต่อผลิตผลแรงงานระยะข้างหน้า และอาจกระทบเศรษฐกิจตามมาได้ รวมถึงลามไปยังธุรกิจที่มีกิจกรรมกลางแจ้งขาดรายได้
นอกจากนี้ ด้านค่าใช้จ่ายทำให้ประชาชนอาจเพิ่มขึ้น เช่น การจัดหาซื้อหน้ากากอนามัยหรือเครื่องฟอกอากาศ โดยกรณีผลกระทบเฉพาะเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หากสถานการณ์ฝุ่นต่อเนื่อง 1 เดือน คาดผลกระทบมูลค่า 3-6 พันล้านบาท
“ผลกระทบขึ้นกับสถานการณ์รุนแรงแค่ไหน และขึ้นกับประชาชนตัดสินใจอย่างไร เช่น หากสถานการณ์ไม่รุนแรงมาก การซื้อหน้ากากอนามัยอาจมีต้นทุนไม่มากผลกระทบอาจไม่มาก แต่หากผลกระทบรุนแรงลามถึงการใช้ชีวิต เช่น เจ็บป่วย การซื้ออาหารเดลิเวอรี่ ต้องหยุดกิจกรรมต่างๆ ผลกระทบอาจมีค่อนข้างมาก และผลกระทบไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งเฉพาะเขตเมืองที่เป็นพื้นที่ฝุ่นค่อนข้างมาก”
ส.อ.ท.ห่วงผลกระทบเศรษฐกิจ 4 ด้าน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพุ่งสูงขึ้นหลายพื้นที่ สร้างความน่ากังวลต่อสุขภาพของประชาชน เช่น ระบบทางเดินหายใจ โดย ส.อ.ท.กังวลและได้แก้ไขในทุกปี แม้จะแก้ปัญหาที่อาจจะยังไม่ตรงจุด ซึ่งปัญหา PM 2.5 หลักของไทยมี 4 ส่วน คือ
- ภาคการเกษตร โดยเฉพาะการเผาวัชพืชในฤดูเกี่ยวเกี่ยวทางการเกษตร ซึ่งปัญหากระจายไปประเทศอื่นด้วยและบริษัทไทยได้ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งทำเกษตรพันธสัญญา (คอนแทรคฟาร์มมิ่ง) บางส่วนก็ควบคุมไม่ได้และรุนแรงขึ้นรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้อากาศไม่ค่อยไหลเวียนเหมือนเดิม
- ภาคคมนาคมและการขนส่ง
- ภาคการก่อสร้าง
- ภาคอุตสาหกรรม
“สิ่งสำคัญคือการแก้ปัญหาที่ต้นตอเช่น การเผาวัชพืช ภาครัฐต้องมีมาตรการที่เอาจริงเอาจังอาจจะมีบทลงโทษ เป็นเรื่องที่รัฐบาลดำเนินการอยู่แล้วแต่ต้องเข้มข้นขึ้น”
ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีปัญหาหลักจากภาคคมนาคมและการขนส่ง โดยเฉพาะการตรวจสภาพรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะที่ปล่อยควันดำและใช้เครื่องยนต์ที่ขาดมาตรการควบคุมให้ได้มาตรฐานและต้องมีบทลงโทษจริงจังขณะที่สาเหตุจากโรงงานสัดส่วนไม่สูงในเขตกรุงเทพมหานคร
ผนึก กทม.แก้ปัญหาเป็นระบบ-ยั่งยืน
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ส.อ.ท.แก้ปัญหา PM2.5 ต่อเนื่องร่วมกับกรุงเทพมหานคร แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งและหากจะให้ยั่งยืนต้องบูรณาการแก้ไขเป็นระบบโดยเรียนรู้จากต่างประเทศมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับไทย ด้วยการจัดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองรถยนต์ในราคาพิเศษ
ล่าสุด ส.อ.ท.จะประกาศความร่วมมือใหญ่ FTI Expo 2025 ระหว่างวันที่ 12-15 ก.พ.2568 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กับกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขเป็นระบบ จากนโยบาย 4 Go ของ ส.อ.ท.โดยยก Go Green ที่ต้องแก้ PM 2.5 ทำควบคู่การดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยี
“ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือการท่องเที่ยวซึ่งฝุ่นที่มากขึ้นทำให้เป็นอุปสรรค หลายคนหนีไปเที่ยวต่างประเทศ เพราะบางคนแพ้อากาศจึงห้ามไม่ได้ส่วนภาคอุตสาหกรรมถือว่าเป็นสัดส่วนน้อยเพราะเปลี่ยนเทคโนโลยีที่สะอาดปล่อยของเสียน้อยมาก ดั้งนั้้นจึงควรแก้ที่ต้นตอและให้ตรงจุดเป็นระบบและยั่งยืน” นายเกรียงไกร กล่าว
“หอการค้า” ชี้กระทบเศรษฐกิจภาพรวม
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สิ่งแรกต้องคำนึงPM2.5ด้านสุขภาพประชาชนซึ่งภาครัฐแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการให้ Work From Home โดยไทยเคยผ่านโควิด-19 มาแล้วจึงให้ความร่วมมือแบบไม่บังคับแต่มีส่งผลทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ในจังหวะที่ในช่วงนี้อยู่ในช่วงที่อากาศเย็น ถือว่าส่งผลให้การท่องเที่ยวที่กำลังคึกคักที่ควจจะบูมมากขึ้นอาจชะลอลง คนในประเทศเองที่บอกว่าเที่ยวด้วยอากาศเย็นแบบนี้จะมีความสุขมากๆ ก็อาจจะหนีไปเที่ยวอากาศเย็นประเทศอื่นถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย
ดังนั้น การแก้ระยะยาวไม่สามารถแก้ได้ด้วยเอกชนอย่างเดียว หรือประเทศไทยอย่างเดียว เพราะเป็นเรื่องของอาเซียนโดยต้องดูรายเซ็คเตอร์รวมถึงการรณรงค์ที่จะเห็นได้ว่าโซนภาคเหนือปี2568ดีกว่าปีที่ผ่านมามากจึงต้องรณรงค์ต่อไปและเข้มข้นขึ้น
“เรื่องของฝุ่นที่เห็นชัดๆ ทั้งโลกคือภัยธรรมชาติ อย่างไฟไหม้ป่า ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องจริงจัง เช่น สหรัฐเป็นตัวอย่าง งบประมาณที่ต้องดูแลต้องมีมากพอสมควร หรือวิธีการใดที่จะระงับเหตุได้ดีที่สุด เพราะว่าเมื่อป่าถูกเผาจะหนักกว่าที่เราพยายามคุมดังนั้น สิ่งสำคัญคือการของความร่วมมือโดยการโปรโมทและรณรงค์แบบเอาจริงเอาจัง รวมถึงงบประมาณภาครัฐที่จะสนับสนุนด้วย”
ตั้งเกณฑ์ประกาศเขตควบคุมโรค
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม โดยกล่าวหลังการประชุมว่า มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง การป้องกันและควบคุมโรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่น PM 2.5
ทั้งนี้ จะกำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมโรคเมื่อจังหวัดมีค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในรอบ 24 ชั่วโมง มากกว่า 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาหนึ่ง และยกเลิกเมื่อค่า PM2.5 น้อยกว่า 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 7 วัน โดยกรณีค่าฝุ่นเกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ควรยกระดับมาตรการเฝ้าระวังสุขภาพเข้มข้น
รวมทั้งเมื่อประกาศเป็นเขตพื้นที่เสี่ยงแล้ว ควรมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ดังนี้
- สนับสนุนหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง
- ออกประกาศ Work from Home และงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- จัดทำศูนย์พักคอยกลุ่มเปราะบางและผู้มีโรคประจำตัว
- ขอความร่วมมือเกษตรกร ผู้ประกอบกิจการลดฝุ่น
ลุ้นกฎหมายแก้ปัญหาระยะยาว
สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด หลังจากสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 รวมร่างกฎหมาย 7 ฉบับ
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายทุกฉบับมีวัตถุประสงค์หลักคล้ายกัน โดยปกป้องสุขภาพของประชาชน ด้วยการสร้างระบบการจัดการอากาศที่มีประสิทธิภาพ โดยหมวดต่างๆ ของร่าง พรบ. เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ ระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศ มาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกัน และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อส่งเสริมอากาศสะอาด
สำหรับความคืบหน้าได้พิจารณาเนื้อหาไปแล้ว 7 หมวด จาก 10 หมวด โดยอาจจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระที่ 2-3 กลางเดือน ก.พ. 2568 และคาดว่าผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนปิดสมัยประชุมวันที่ 9 เม.ย. 2568
ส่วนสาระสำคัญของร่างกฎหมายจะควบคุมต้นเหตุการเกิดฝุ่น 6 สาขา คือ สาขาเกษตร สาขาป่าไม้ สาขาอุตสาหกรรม สาขาคมนาคม สาขาเมือง และฝุ่นข้ามแดน รวมทั้งกำหนดให้มี “กองทุนอากาศสะอาด” เพื่อเป็นแหล่งทุนในการพัฒนาทุกด้านและใช้ต่อยอดการแก้ปัญหาเชิงรุกให้ได้ผลเป็นรูปธรรม