เปิดแผน ‘คลัง’ ใช้มาตรการภาษีหนุนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

เปิดแผน ‘คลัง’ ใช้มาตรการภาษีหนุนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

“พิชัย” ระบุคลังเตรียมแผนมาตรการภาษีและกลไกสินเชื่อแบงก์รัฐ หนุนผู้ประกอบการไทยเข้าถึงแหล่งทุนช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตคาร์บอนต่ำ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน “Greening the Future: ESG Leadership in the Sustainability Revolution” จัดโดยหนังสือพิมพ์ The Bangkok Post วันที่ 30 พ.ค.2567 ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยรวมทั้งเป็นจะภาระทางการคลังในอนาคต โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation) ของสหภาพยุโรป 

โลกร้อนกระทบเศรษฐกิจ

โดยในปี 2567 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.5% จากภาคส่งออกและการผลิตอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว รวมทั้งภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและปรากฏการณ์เอลนิโญ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวไม่เพียงแต่สะท้อนภาพเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่สะท้อนถึงความจำเป็นในการเร่งปรับตัวและยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายในช่วงการเปลี่ยนผ่านเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและการปรับตัวสู่เศรษฐกิจแห่งอนาคต ซึ่งการเข้าถึงแหล่งทุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะเป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ 

โดยการสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถปรับตัวและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech)

ชูมาตรการภาษี 3 ระยะ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการภาษี โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะสั้นจะส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกและการลดใช้พลังงานด้วยการอนุญาตให้หักลดหย่อนการซื้อและติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน การอนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมาหักค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับ Climate Tech

ระยะกลางจะส่งเสริมการปรับตัวไปสู่ Low-carbon Activities และสร้างอีโคซิสเต็มในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ค่าใช้จ่ายในการคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นส์ เพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างตรงจุด การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ค่าใช้จ่ายในการ ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต เพื่อกระตุ้นในภาคเอกชนขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตในกาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะภาคเกษตร ที่จะช่วยเพิ่มซัพพลายและสภาพคล่องในตลาดคาร์บอนเครดิตอีกด้วย 

ส่วนในระยะยาว เน้นการผลักดันภาษีคาร์บอนเพื่อผลักดันให้ทุกภาคส่วนปรับตัวเพื่อให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายที่ประกาศเจตนารมณ์ไว้ตาม Paris Agreement โดยจะพิจารณาผลกระทบที่รอบด้านและเงื่อนไข ด้านเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนกลุ่มเปราะบาง และพัฒนากลไกเยียวยาที่เหมาะสม

ให้ลดหย่อนภาษีที่ดินฯ พื้นที่สีเขียว 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เหมาะสมสำหรับที่ดินของเอกชนที่มีลักษณะเป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อรักษาพื้นที่สีเขียวที่ครอบครองโดยเอกชน ซึ่งปัจจุบันอาจถูกตีความว่าเป็นที่รกร้างและไม่ได้ใช้ประโยชน์ 

หนุนกลไกสินเชื่อสีเขียว

ขณะเดียวกัน ยังใช้กลไกของแบงก์รัฐในการออกสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนโดยกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยทั่วไป อาทิ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) มีสินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนติดตั้งระบบ Solar Cell และสินเชื่อสำหรับผู้ลงทุนในโครงการพัฒนาพลังงานสะอาด ธนาคารออมสิน มีสินเชื่อผู้ประกอบการและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) 

ส่วนภาคตลาดทุนมีความสำคัญในการผลักดันการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน โดยกระทรวงการคลังเล็งเห็นว่าควรเร่งส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและการจัดตั้งตลาดคาร์บอนในประเทศไทย ด้วยการสร้างโครงสร้าง พื้นฐานเพื่อรองรับการขึ้นทะเบียน การซื้อขาย และการตรวจสอบคาร์บอนเครดิตที่เป็นมาตรฐานสากล 

นอกจากนี้ ยังต้องมีการพัฒนาตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนด้วยการสนับสนุน ให้รัฐวิสาหกิจออกพันธบัตรสีเชียว (Green Bond) และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond)

“ธุรกิจของภาคเอกชนที่ยึดหลัก ESG จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวเป็นผู้นำระดับโลกด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมนวัตกรรม และมีเศรษฐกิจ ที่เติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ซึ่งจะยกระดับรายได้ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน“