'55 ปี กฟผ.' ฝ่าวิกฤติพลังงาน ยึดความมั่นคง - ส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืน

'55 ปี กฟผ.' ฝ่าวิกฤติพลังงาน ยึดความมั่นคง - ส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืน

ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับวิกฤติด้านต่างๆ ทั้งภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ราคาพลังงานมีความผันผวน เทคโนโลยีดิสรัปชัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบจนกลายเป็นภาวะโลกเดือด ล้วนเป็นสัญญาณเตือนให้ทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญกับคำว่า "ความยั่งยืน" มากขึ้น

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ได้สั่งสมความเชี่ยวชาญการดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทยมาถึง 55 ปี เพื่อส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนให้กับคนไทย และกำลังเดินหน้าผลิตไฟฟ้าด้วย พลังงานสะอาด และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยและทุกๆ ชีวิต

ภารกิจสำคัญนับตั้งแต่การไฟฟ้ายันฮี การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ และการลิกไนท์ ได้รวมเป็น "การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย" เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2512 สู่บทบาท "ผู้ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ" พร้อมพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาค โดยผสมผสานทั้งไฟฟ้าพลังน้ำและพลังความร้อนตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยกำลังการผลิตติดตั้งเริ่มต้นเพียง 908 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กฟผ. มีกำลังการผลิตรวม 16,261 เมกะวัตต์ คิดเป็น 32.75% ของกำลังผลิตตามสัญญาทั้งหมดของประเทศ และพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าเชื่อมโยงทั่วถึงทั้งประเทศกว่า 39,000 วงจร-กิโลเมตร และสถานีไฟฟ้าแรงสูงรวม 237 สถานี พร้อมปูทางมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตและรองรับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของ พลังงานหมุนเวียน

\'55 ปี กฟผ.\' ฝ่าวิกฤติพลังงาน ยึดความมั่นคง - ส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืน

ฟันเฟืองหลักในการพัฒนาประเทศ

ในทุกครั้งที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตินับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กฟผ. ถือเป็นหนึ่งกลไกสำคัญของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาวิกฤติและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่วิกฤติราคาน้ำมันในปี 2516 และ 2522 กฟผ. ได้เสาะแสวงหาแหล่งพลังงานต่างๆ และเป็นผู้นำเจรจาขอซื้อก๊าซธรรมชาติที่สำรวจพบในอ่าวไทยนำมาผลิตไฟฟ้า ทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในยุคต่อมา

เช่นเดียวกับในช่วงปี 2565 ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤติราคาพลังงานจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน กฟผ. ได้ร่วมฝ่าฟัน วิกฤติพลังงาน นำเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำมาผลิตไฟฟ้า โดยปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 ที่ปลดออกจากระบบเมื่อปี 2562 ให้กลับมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อีกครั้ง พร้อมเลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ออกไป เพื่อลดการนำเข้าเชื้อเพลิง LNG ราคาแพง และรับภาระค่าเชื้อเพลิงบางส่วนแทนประชาชนไปก่อนตามนโยบายของรัฐบาล บรรเทาภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน

ความต้องการพลังงานไฟฟ้าปี 2566 โดยรวมสูงกว่าปี 2565 จากการที่โควิด-19 คลี่คลาย รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทุกภาคส่วนกลับสู่สภาวะปกติและเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดมีแนวโน้มที่จะเกิดในเวลากลางคืนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ใช์ไฟบางส่วนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกลงเรื่อยๆ กฟผ. จึงต้องเตรียมพร้อมในทุกสถานการณ์

\'55 ปี กฟผ.\' ฝ่าวิกฤติพลังงาน ยึดความมั่นคง - ส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืน

กลไกภาครัฐเสริมแกร่งธุรกิจพลังงาน

กฟผ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นกลไกดำเนินธุรกิจแทนรัฐ โดยนำส่งกำไรเป็นรายได้ของรัฐ และรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ รวมถึงสนองนโยบายต่างๆ ของรัฐ อาทิ เป็นผู้นำเข้า LNG รายที่ 2 ของประเทศ เพื่อลดต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตามนโยบายการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงทุนในโครงการ LNG Receiving Terminal หนองแฟบ จ.ระยอง ช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงาน และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาคอาเซียน

เมื่อโครงสร้างระบบไฟฟ้าของประเทศมีการปรับเปลี่ยน ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น กฟผ. ได้นำความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน ทั้งงานเดินเครื่องและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) โรงไฟฟ้าหลากหลายประเภทมาช่วยพัฒนาและเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับโรงไฟฟ้าพันธมิตร อาทิ โรงไฟฟ้าเอกชนในประเทศและต่างประเทศผ่านงานบริการ O&M เพื่อให้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเดินเครื่องได้ต่อเนื่อง ทำให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคง เพียงพอ และมีเสถียรภาพมากขึ้น สร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้กับภาคธุรกิจ ทำให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

\'55 ปี กฟผ.\' ฝ่าวิกฤติพลังงาน ยึดความมั่นคง - ส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืน

บุกเบิกพลังงานแห่งอนาคตสู่ความยั่งยืน

เมื่อ พลังงานสะอาด ถือเป็นคำตอบของ "พลังงานแห่งอนาคต" ในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน กฟผ. ได้พัฒนาการผลิตไฟฟ้าจาก พลังงานหมุนเวียน "โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ" (Hydro-Floating Solar Hybrid) ในพื้นที่ 9 เขื่อนของ กฟผ. รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ โดยผสมผสานพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ และแบตเตอรี่ ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ

รวมทั้งพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้ทันสมัย (Grid Modernization) รองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน และแสวงหาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ๆ อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กเพื่อเป็นแหล่งพลังงานสะอาดให้กับประเทศในอนาคต 

นอกจากนี้ ยังร่วมส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ของประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) พร้อมกับเร่งขยายการให้บริการสถานีชาร์จ EleX by EGAT และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้วกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ พร้อมให้บริการออกแบบและติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร (one-stop service) สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้อีวีได้เดินทางทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

\'55 ปี กฟผ.\' ฝ่าวิกฤติพลังงาน ยึดความมั่นคง - ส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืน

ปลูก DNA ความยั่งยืนสร้างโลกสีเขียว

เมื่อกฟผ. ต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ จึงเริ่มต้นจากการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรได้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องควบคู่ไปกับ "การใช้อย่างรู้คุณค่า" การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management : DSM) พร้อมรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่า ประหยัด และมีประสิทธิภาพ ผ่านฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ซึ่งได้พัฒนายกระดับเพิ่มเกณฑ์ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ละเอียดและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศภายใต้โครงการปลูกป่าที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 โดยมุ่งเน้นการปลูกป่าต้นน้ำและป่าชายเลนอย่างมีคุณภาพ พร้อมต่อยอดสู่โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมตามเป้าหมาย 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี (ปี 2565 - 2574) สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ในการดูแลบำรุงรักษาป่าที่ปลูกให้เติบโตอย่างยั่งยืน คาดว่าตลอดระยะเวลาของโครงการฯ จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 23.6 ล้านตัน ทั้งหมดนี้คือภารกิจของ กฟผ.

จากจุดเริ่มต้น ที่ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ กฟผ. ยังคงเดินหน้าภารกิจผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยควบคู่กับการสร้างสมดุลพลังงานโดยคำนึงถึงประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญตามแนวคิด "EGAT for ALL : กฟผ. เป็นของคนไทยทุกคนและทำเพื่อทุกคน" ส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนให้กับคนไทยสืบไป


\'55 ปี กฟผ.\' ฝ่าวิกฤติพลังงาน ยึดความมั่นคง - ส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืน