‘วันคุ้มครองโลก 2024’ โลกร้อนแก้ได้ มุ่งให้ความรู้ - พฤติกรรมเด็กรุ่นใหม่

‘วันคุ้มครองโลก 2024’ โลกร้อนแก้ได้ มุ่งให้ความรู้ - พฤติกรรมเด็กรุ่นใหม่

“วันคุ้มครองโลก” หรือ “Earth Day” ประจำปี 2024 เรียกร้องให้ทั่วโลกส่งเสริมการศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศ ให้แก่เด็ก และเยาวชน ที่จะเป็นก้าวสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

KEY

POINTS

  • สำรวจทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจาก 24,000 คนทั่วโลก พบว่า คนส่วนใหญ่เริ่มชินชากับปัญหาโลกร้อน แต่ยังเชื่อว่าถ้าช่วยกันเปลี่ยนแปลงกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ก็จะสามารถสร้างผลกระทบยิ่งใหญ่ให้แก่โลกใบนี้ได้ แต่พวกเขายังขาดความรู้ความเข้าใจและวิธีการที่ถูกต้อง
  • วันคุ้มครองโลก ในปีนี้มาในธีมส่งเสริมการศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Education) ให้แก่เด็กและเยาวชน พร้อมเน้นย้ำถึงผลกระทบของการให้ความรู้ด้านสภาพภูมิอากาศต่อการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในคนรุ่นต่อไป
  • นักการศึกษาจำนวนมากกำลังค้นหาวิธีสอนการศึกษาเรื่องสภาพอากาศในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ และไม่ยัดเยียดจนเกินไป พร้อมการศึกษาแบบบูรณาการเข้ากับวิชาต่าง ๆ ช่วยให้คนรุ่นใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงลึกยิ่งขึ้น

“วันคุ้มครองโลก” หรือ “Earth Day” ประจำปี 2024 เรียกร้องให้ทั่วโลกส่งเสริมการศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศ ให้แก่เด็ก และเยาวชน ที่จะเป็นก้าวสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วันคุ้มครองโลก” หรือ “Earth Day” ตรงกับวันที่ 22 เมษายน ของทุกปี โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP (United Nations Environment Program) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ พร้อมกระตุ้นให้ผู้คนเห็นความสำคัญของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

สำหรับปี 2024 นี้ Earthday.org ในฐานะผู้จัดงานวันคุ้มครองโลกเรียกร้องให้ทั่วโลกส่งเสริมการศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Education) ให้แก่เด็ก และเยาวชน ที่จะเป็นก้าวสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมเน้นย้ำถึงผลกระทบของการให้ความรู้ด้านสภาพภูมิอากาศต่อการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในคนรุ่นต่อไป

 

ส่งเสริมการให้ความรู้ด้านสภาพภูมิอากาศ 

แม้ว่าเราทุกคนจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลกใบนี้ แต่ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่จะยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

IPSOS บริษัทด้านการสำรวจ และวิจัยตลาดระดับโลก สำรวจทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจาก 24,000 คนทั่วโลก พบว่า คนส่วนใหญ่เริ่มชินชากับปัญหาโลกร้อน โดยมีคนคิดว่าหากไม่ลงมือทำให้โลกดีขึ้น คนรุ่นต่อไปก็จะใช้ชีวิตยากลำบาก น้อยลงกว่าปี 2021 ถึง 13% แต่ขณะเดียวกันมีคนจำนวนไม่น้อยที่กล่าวว่าภาคธุรกิจ และรัฐบาลจะทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ไม่ดี หากไม่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่ ราว 33% ของผู้ชายรุ่นมิลเลนเนียล และเจน Z ให้ความเห็นว่าตอนนี้สายเกินไปแล้วที่จะแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่างกับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ยังเห็นว่ายังสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

นอกจากนี้ 2 ใน 3 ของคนจาก 33 ประเทศทั่วโลก คิดว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส แคนาดา และเยอรมนี ควรจ่ายเงินเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ชาวฝรั่งเศส และแคนาดารู้สึกว่าพวกเขาถูกขอให้เสียสละมากเกินไปเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามจากทุกประเทศเห็นต้องกันว่าหากพวกเขาช่วยกันเปลี่ยนแปลงกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ ก็จะสามารถสร้างผลกระทบยิ่งใหญ่ให้แก่โลกใบนี้ได้ แต่พวกเขายังขาดความรู้ความเข้าใจ และวิธีการที่ถูกต้อง โดยพวกเขามักจะประเมินความสำคัญของการรีไซเคิลสูงเกินไป แต่กลับมองว่าการไม่ใช้รถยนต์ และการเป็นวีแกนไม่สามารถช่วยโลกได้มากนัก

ไบรซ์ คูน ผู้เขียนรายงาน และผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาของ Earth Day กล่าวว่า การจุดประกายแรงผลักดันและพลังงานระดับโลกให้กับคนหนุ่มสาวสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้นี้ได้เป็นอย่างดี

ต้องมีความรู้ติดตัว

นักการศึกษามีความปรารถนาที่จะเตรียมผู้เรียนให้พร้อมรับมือกับความท้าทายระดับโลกในยุคนั้น ดังนั้นครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องมีความรู้ที่ถูกต้อง และมีวิธีการสอนที่จะทำให้เด็กๆ มีความรู้ติดตัวนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

คูนแนะนำให้ครูสร้าง “ความทรงจำของกล้ามเนื้อสีเขียว” (green muscle memory) ซึ่งเป็นนิสัย ทัศนคติ และรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ จนร่างกาย และสมองจดจำสิ่งเหล่านั้น โดยคูนตั้งข้อสังเกตว่าวิธีการสอนแบบนี้จะมีส่วนช่วยบรรเทาความสิ้นหวัง และความวิตกกังวลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศได้

นักวิจัยชาวฟินแลนด์ ใช้การขี่จักรยานเป็นการเปรียบเทียบ เพื่ออธิบายกระบวนการที่ความรู้ฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของผู้คน เราจะสามารถปั่นจักรยานได้อย่างปลอดภัยราบรื่น ก็ต่อเมื่อจักรยานทุกส่วนทำงานร่วมกัน เช่นเดียวกับการให้ความรู้เรื่องสภาพภูมิอากาศที่จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายส่วน ทั้งวิธีการเรียนรู้ ความรู้ อัตลักษณ์ อารมณ์ และมุมมองโลก เพื่อทำให้ความรู้เรื่องสภาพภูมิอากาศมีอิทธิพลต่อนิสัยใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างกิจกรรมสร้างความทรงจำของกล้ามเนื้อสีเขียว เช่น การพกขวดน้ำใช้ซ้ำได้ในแต่ละวัน อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของครอบครัวนับล้าน ก็จะช่วยจำนวนลดขยะพลาสติกได้

 

เพิ่มหลักสูตรการศึกษาสภาพภูมิอากาศ

การเพิ่มปัญหาสภาพภูมิอากาศเข้าไปในหลักสูตรโรงเรียน ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะในการสำรวจความเห็นของนักการศึกษาในแคนาดา พบว่า 50% ของนักการศึกษาทั่วประเทศเห็นพ้องต้องกันว่า หลักสูตรการศึกษาในปัจจุบันอัดแน่นไปด้วยเนื้อหา จนไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับการเพิ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในหลักสูตร แม้จะรู้ดีว่ามีประโยชน์มากก็ตาม

ผลการศึกษาวิจัยในสหรัฐเมื่อปี 2023 ระบุว่า หากแสดงให้เห็นถึงคุณค่า และความสำคัญของการศึกษาเรื่องสภาพภูมิอากาศสามารถชักนำเยาวชนให้มีพฤติกรรมรักสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น แสวงหาทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น

นักการศึกษาจำนวนมากกำลังค้นหาวิธีสอนการศึกษาเรื่องสภาพอากาศในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ และไม่ยัดเยียดจนเกินไป พร้อมการศึกษาแบบบูรณาการเข้ากับวิชาต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และศิลปะ ที่จะช่วยให้ “หัวใจ และมือ” ของคนรุ่นใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงลึกยิ่งขึ้น พร้อมมีการฝึกอบรมครู และโปรแกรมเสริมเพื่อตอบสนองความต้องการอีกด้วย 


ที่มา: The Conversation

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์