‘ความยั่งยืน’ เริ่มที่ตัวเรา ก่อนขยายผลสู่ ‘ธุรกิจ-สังคม’

‘ความยั่งยืน’ เริ่มที่ตัวเรา ก่อนขยายผลสู่ ‘ธุรกิจ-สังคม’

กสิกรไทย เดินหน้า ความยั่งยืน เร่งส่งผ่านธุรกิจ สังคม ให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น ชี้การริเริ่มเปลี่ยนแปลง ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน เหมือนหยดน้ำที่เริ่มจากตัวเอง แล้วค่อยขยายผลออกไป เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนมากขึ้น

ความยั่งยืน ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมากของสถาบันการเงินไทย หากต้องการทำให้เกิด Action for Change เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งผ่านไปสู่ ธุรกิจ สู่สังคม สิ่งที่สำคัญ ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน เหมือนหยดน้ำที่เริ่มจากตัวเอง แล้วค่อยขยายผลออกไป เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนมากขึ้น

ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวในหัวข้อ Action for Change : นวัตกรรมการเงิน เพื่อความยั่งยืนที่จัดขึ้นโดย “เดลินิวส์” ว่า หาก “ธนาคาร” จะ Action for Chang ธนาคารต้องรู้ก่อนว่า ธนาคารปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากน้อยแค่ไหน 

หากฉายภาพโลกของเราในปัจจุบัน พบว่า มีการปล่อยคาร์บอนมากถึง 53,800 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และเฉพาะประเทศไทย มีการปล่อยคาร์บอนฯ สูงถึง 372 ล้านตันคาร์บอนฯ ประเทศในโลกนี้มี 195 ประเทศ เฉลี่ยมีการปล่อยคาร์บอนฯอยู่ที่ 0.5% แต่เฉพาะประเทศไทยมีการปล่อยคาร์บอนฯ อยู่ที่ 0.7% มากกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้น เราต้องทำอะไรสักอย่าง และต้องทำเดี๋ยวนี้ !

โดยเฉพาะ “กสิกรไทย” มีการปล่อยคาร์บอนฯ มากถึง 36 ล้านตันคาร์บอน แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจากธนาคาร ซึ่งจากธุรกิจธนาคารมีการปล่อยคาร์บอนฯ เพียง 0.07 ล้านตันคาร์บอน แต่ที่เหลือคือ พอร์ตลูกค้าของธนาคารที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่โลกใบนี้

ดังนั้น โจทย์ที่ธนาคารต้องเน้นมีสองโจทย์คือ บทบาทของแบงก์ในฐานะที่ทำธุรกิจในการปล่อยคาร์บอนฯ และโจทย์การปล่อยสินเชื่อที่ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนนั่นคือ สิ่งที่ธนาคารจะเน้นมากขึ้น
ดังนั้น การมุ่งมั่นไปสู่ความยั่งยืนได้นั้น ธนาคารเชื่อว่าต้องมี “เป้าหมาย” ที่เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันองค์กร และธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนอย่างสำเร็จ

สำหรับ เป้าหมายของธนาคารต้องการไปสู่ Net Zero ภายในปี 2030 ควบคู่ไปกับการตั้งเป้าหมายในการสนับสนุนด้านการเงินด้านสินเชื่อ เพื่อลูกค้าให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ให้ได้ 200,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้สนับสนุนด้านสินเชื่อไปแล้วกว่าครึ่งทางกว่า 100,000 ล้านบาท

โจทย์สำคัญ ในการไปสู่ความยั่งยืน สิ่งสำคัญคือ ธนาคารยังต้องช่วยลูกค้าธุรกิจ คู่ค้า ซัพพลายเออร์ ให้สามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น เริ่มจากการให้สินเชื่อที่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางขึ้นไป ต้องผ่านเกณฑ์เรื่อง ESG ว่าองค์กรเหล่านั้นมีนโยบายเกี่ยวกับสีเขียว และความยั่งยืน หรือเป็นธุรกิจที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ? เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ธนาคารหยุดปล่อยกู้แล้วตั้งแต่วันนี้ !

ไม่เฉพาะการปล่อยสินเชื่อ แต่หน้าที่ของธนาคาร คือต้องทำให้เกิด Financial inclusion การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดี บนราคาไม่แพงเกินไป ราคายุติธรรม เข้าถึงคนได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนให้คน “ออมเงิน” ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อการรองรับสังคมสูงวัยอย่างยั่งยืนได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ทุกธนาคารต้องทำให้เกิดขึ้น

แน่นอน คนที่ทำดีต้องได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า และดีกว่า ที่วันนี้เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผ่านการให้สินเชื่อสีเขียว หรือ Green Loan หรือ การออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ที่วันนี้เริ่มเห็น ต้นทุนในการออก หรือ ต้นทุนของสินเชื่อเหล่านี้ “ต่ำลง” หากเทียบกับช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เหล่านี้สะท้อนว่า ปัจจุบันโลกเริ่มให้ “มูลค่า” กับความยั่งยืนมากขึ้นแล้ว 

และจากความมุ่งมั่นของธนาคารในการไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ทำให้วันนี้ “กสิกรไทย” ถือเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรก ที่ได้รางวัล Dow Jones Sustainability Index 8 ปีติดต่อกัน ในเรื่องของ ESG สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่มองว่าเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง