'ก.ล.ต. - ปตท.' ชี้ความสำเร็จด้าน ESG ต้องเริ่มที่ตัวเอง ไม่ต้องรอกฎหมายบังคับ

'ก.ล.ต. - ปตท.' ชี้ความสำเร็จด้าน ESG ต้องเริ่มที่ตัวเอง ไม่ต้องรอกฎหมายบังคับ

“เลขา ก.ล.ต.” ย้ำ การทำ ESG ให้สำเร็จต้องเริ่มที่ผลักดันภายในองค์กรเอง ไม่ใช้ให้หน่วยงานกำกับผลักดัน “CEO ปตท.” เผย องค์กรใหญ่เล็ก สามารถทำเรื่องความยั่งยืนได้พร้อมกันโดยเริ่มจากลดการใช้พลังงานถือว่าครอบคลุม ESG แล้ว

“สมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี สมาคม Ex-MBA KU ในหัวข้อเรื่อง “ESG : The Next Chapter to Sustainability : ก้าวต่อไปสู่ความยั่งยืน”

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบ ก.ล.ต. ยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งคอยติดตามโรดแมปในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในอนาคต และเป็นความเสี่ยง จะเห็นได้ชัดว่าอุณหภูมิมีแต่จะสูงขึ้น

\'ก.ล.ต. - ปตท.\' ชี้ความสำเร็จด้าน ESG ต้องเริ่มที่ตัวเอง ไม่ต้องรอกฎหมายบังคับ

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ยังมีประเด็นอื่นคือ แนวโน้มเกี่ยวกับความยั่งยืนที่ผู้ประกอบธุรกิจให้ความสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กลายเป็นโลกเดือดแล้ว ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกจึงต้องมองยุโรปด้วย โดยเฉพาะมาตรการ CBAM ที่ต้องเสียภาษี 80-90 ยูโรต่อตัน เพื่อชดเชย 6 กลุ่มสินค้า หากยังผลิตสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอน ซึ่งปี 2569 จะบังคับอย่างจริงจัง ต่อให้ไม่อยากคิดหรือทำก็จะเสียโอกาส และอยู่ไม่ได้เพราะไม่ใช่ตัวเลือก

ทั้งนี้ หากยิ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องมีคณะกรรมการความหลากหลาย ซึ่งต่างชาติได้ประเมินเรื่องความรู้ด้าน ESG ไทยยังต่ำ ดังนั้น บอร์ดจึงต้องมีความรู้ ต้องทำให้ตื่นตัว การลงทุนเงินต่างชาติ ไม่ใช่แค่เงินลงทุน แต่จะต้องดูบริษัทจดทะเบียนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมคือ กรีนอินเวสเมนท์ เพื่อให้หลักการลงทุนมีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมประกอบการตัดสินใจลงทุน ดูแลเงินทุนร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังต้องมี กรีนอีโคโนมี ถ้าไม่ทำจะไปสู่สังคมไม่ได้ ก.ล.ต. อยากเปลี่ยนตามเป้าหมายประเทศ ปี 2050 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และปี 2065 จะสู่เป้า Net Zero ดังนั้น ประเทศจะเก่งต้องมีกลไกในการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งก.ล.ต. จะเปลี่ยนผ่านโดยกลไก พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง พัฒนาเศรษฐกิจเงินทุนให้ยั่งยืนและโตต่อเนื่อง ซึ่งต้องสร้างความน่าเชื่อถือ และร่วมมือกับพันธมิตรทั้งใน และต่างประเทศเพื่อพัฒนาตลาดทุนไทย

“เราต้องมองให้ครอบคลุมโดยนำ ESG มาเชื่อมโยงทั้งระบบนิเวศทั้งบริษัทที่จดทะเบียน, นักลงทุน และโปรดักต์ ซึ่งเชื่อว่าภาครัฐจะออกพันธบัตรรัฐบาลที่อิงกับปัจจัยสำเร็จด้านความยั่งยืน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ เราต้องทำเรื่องความยั่งยืนเพราะอยากทำ เพื่อให้มีทิศทางที่ชัดเจน จะให้ ก.ล.ต.หรือผู้บริโภคเรียกร้องไม่ได้”

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องความยั่งยืนถือว่าอยู่ใน DNA ของคน ปตท. ที่ได้ยึดแนวปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หากนิยาม ESG แบ่งเป็น G คือ ผลดำเนินงานต้องเลิศ, E คือ โลกต้องรักษ์ และ S คือ สังคมไทยต้องอุ้มชู เพราะการดูแลสังคมดีแต่ขาดทุนตลอดก็จะล้ม

ต้องเป็นทั้งคนเก่ง และคนดี ให้ ปตท.เจอการเปลี่บนแปลงด้านพลังงาน อนาคตฟอสซิลจะต้องหายไป ภาระกิจหลักต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานประเทศ ปตท. ปรับวิสัยทัศน์ใหม่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต ซึ่งได้ใส่เรื่อง ESG ไว้แล้ว อาทิ การมุ่งสู่พลังงานทดแทนจากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 4,000-5,000 เมกะวัตต์ ปี 2030 ต้องได้ 15,000 เมกะวัตต์ ปี 2030

\'ก.ล.ต. - ปตท.\' ชี้ความสำเร็จด้าน ESG ต้องเริ่มที่ตัวเอง ไม่ต้องรอกฎหมายบังคับ

นอกจากนี้ ปตท. ดำเนินธุรกิจ ยา อาหาร หรือแม้แต่เครื่องมือทางการแพทย์ เพราะยาบ้านเราขาด เรามีแค่โรงงานอัดเม็ด และบรรจุลงขวดเท่านั้น ปตท.ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัทยาที่ประเทศไต้หวัน พร้อมนำเอาเทคโนโลยีมาศึกษาอนาคตอาจจะตั้งโรงงานในไทย รวมถึงหารือกับบริษัทชั้นนำเอาเทคโนโลยีมาตั้งโรงงานเพื่อต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมี รวมถึงลงนามความร่วมมือกับการรถไฟจีน เพื่อดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนได้โดยตรง เป็นต้น

ในส่วนของธุรกิจขายน้ำมัน ปัจจุบันได้ปรับมาเป็นนอนออยล์มากขึ้น มีทั้งคาเฟ่ อเมซอน ฯลฯ ช่วยสร้างอีโคซิสเต็มให้ศูนย์กลางชุมชน รวมถึงการใช้เทคโนโลยี AI & Robotics เสริม New S-Curve ประเทศ รวมถึงมีการตั้งกรรมการชุดย่อยเพื่อดูด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะเพื่อปลูกฝัง เป็นต้น

“เราประกาศเป้า Net Zero เร็วกว่าประเทศไทย 15 ปี เพื่อช่วยค่าเฉลี่ยประเทศ ซึ่งไม่ใช่ประกาศแค่เท่ มองว่าองค์กรใหญ่จะช่วยได้ โดยจะต้อง เร่งปรับ เร่งเปลี่ยน เร่งปลูก ซึ่งปตท. มองว่าไม่ว่าจะองค์กรใหญ่หรือเล็กก็สามารถเริ่มต้นจากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพไปได้พร้อมกัน เมื่อใช้พลังงานลดลง จะช่วยเพิ่มกำไรและจะสามารถดูแลสังคม และชุมชนต่อไปได้” นายอรรถพล กล่าว

นายรัชด ชมภูนิช รองอธิการบดี ฝ่ายกิจกรรมนิสิตและพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะ ผู้แทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยจะต้องสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจและชักชวนนักศึกษาให้ทราบถึง ESG ว่าดีอย่างไร เพราะปัจจุบันเด็กยุคใหม่จะเป็นตัวของตัวเองสูง จึงต้องอธิบายให้ชัดเจน

\'ก.ล.ต. - ปตท.\' ชี้ความสำเร็จด้าน ESG ต้องเริ่มที่ตัวเอง ไม่ต้องรอกฎหมายบังคับ

นอกจากนี้ ด้วยเทรนด์อนาคตจะเน้นในเรื่องของความยั่งยืน กระทรวงศึกษาต่างให้ความสำคัญมากขึ้น มหาวิทยาลัยจะมีกระบวนการสร้างแพลตฟอร์มให้มีการทำงานร่วมกันมากขึ้น พาร์ทที่เกี่ยวกับนิสิต หลักสูตรของเราแม้จะไม่สอดตรงแต่จะอยู่ในหลายวิชา แต่จะมีวิชากลาง ให้ ESG กลายมิติกระจายผ่านการทำกิจกรรม เป็นต้น

“ตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความเข้าใจด้าน ESG มากขึ้น เราต้องประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาทราบ และเข้าใจ และต้องถูกจริตกับเขาด้วย เพื่อดึงเข้าในกิจกรรม และเกิดการเผยแพร่ และสร้างการยอมรับต่อไป”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์