ครั้งสุดท้าย! รับฟัง “ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ...”

ครั้งสุดท้าย! รับฟัง “ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ...”

ครบ 6  ภูมิภาค!! สำหรับการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ "ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ...” ก่อนจะเตรียมดำเนินการ นำเสนอร่างดังกล่าวต่อครม.ให้ทันภายในกลางปี 2567 นี้  ระบุกฎหมายโลกร้อน กลไกกำกับการดำเนินงานของทุกภาคส่วนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

KEY

POINTS

  • การปล่อยก๊าซเรือนกระจกถ้าจะควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาเซสเซียส จะทำให้ปล่อยได้ไม่เกิน 500 กิกะตัน แต่ใน7 ปีข้างหน้าจะปล่อยกันทั้งโลก 430 กิกะตัน  
  • ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องเป็นกลไกระเบียบข้อบังคับที่โปร่งใส น่าเชื่อถือ ที่พี่น้องประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ต้องเป็นกฎหมายที่ดีพอ เหมาะสม ใช้งานได้ และเป็นธรรม
  • เน้นการวางกรอบ และกำหนดอำนาจที่ใช้เครื่องมือที่มีศักยภาพ จำเป็น และเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ 

ครบ 6  ภูมิภาค!! สำหรับการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ "ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ...” ก่อนจะเตรียมดำเนินการ นำเสนอร่างดังกล่าวต่อครม.ให้ทันภายในกลางปี 2567 นี้  ระบุกฎหมายโลกร้อน กลไกกำกับการดำเนินงานของทุกภาคส่วนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ปัจจุบันประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจึงทำให้ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาในครั้งนี้ ส่งผลให้เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559 ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

โดยได้แสดงเจตจำนงที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางคาร์บอนและปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ จึงต้องมีมาตรการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายและพร้อมรับมือกับความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

เนื่องด้วยกฎหมายฉบับปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมการดำเนินงานในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงมีการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมการดำเนินงานทั้งในด้านการรายงานปริมาณการปล่อย กักเก็บ และดูดซับก๊าซเรือนกระจกและมาตรการกลไกราคาคาร์บอนในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย ตลอดจนกำหนดโทษที่เหมาะสมเพื่อควบคุมการดำเนินการงานให้มีประสิทธิภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"กฎหมายโลกร้อน"กติกาใหม่ หนุนเศรษฐกิจรับเงื่อนไขสิ่งแวดล้อม

ทส. ย้ำตั้งเป้า 'ลดโลกร้อน' ให้สำเร็จ ต้องมีกฎหมาย ประชาชนร่วมมือ

รับฟังฯร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ...

วันนี้ (26 มีนาคม 2567) ที่กรุงเทพมหานคร  ถือเป็นครั้งสุดท้ายในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ "ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ..." ในส่วนของภาคกลาง โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) เปิดให้ประชาชนเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ พร้อมกับร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว 

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมสส. เป็นประธาน กล่าวเปิดการประชุมว่าจากการรับฟังความคิดเห็นมาจากทุกภูมิภาค อยากชวนทุกคนคิดพร้อมกันถึงร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ซึ่งขณะนี้สถานการณ์โลกมีความชัดเจนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทุกคนที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความเข้าใจถึงความเร่งด่วนในเรื่องนี้

"วันนี้ภัยพิบัติรุนแรงและชัดเจนมากขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก แผนงานของโลกที่จะนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ในระยะ 7 ปีข้างหน้าจนถึงเป้าหมายร่วมกันของโลกครั้งแรกที่เรียกว่า แผนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดฉบับปรับปรุง (nationally determined contributions, NDC) 2573 นั้น จะมีความร้ายกาจ หมายความว่า ถ้ากำหนดอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซสเซียส เป็นตัวตั้ง ตอนนี้ทั่วโลกยังทำงานได้ไม่ดีพอ"ดร.พิรุณ กล่าว

ครั้งสุดท้าย! รับฟัง “ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ...”

ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกถ้าจะควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาเซสเซียส จะทำให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่เกิน 500 กิกะตัน แต่ใน7 ปีข้างหน้าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันทั้งโลก 430 กิกะตัน  เหลือเพียง 70 กิกะตันที่จะเอาไว้ปล่อยใน 20 ปีสุดท้ายก่อนปี 2593  นี่คือ ภาพฉายที่โลกได้หารือร่วมกัน

คำถามคือ ต้องลดให้เร็ว ลดให้ลึก แต่มีการผูกไว้ด้วยความยั่งยืน ซึ่งจะมีความยั่งยืนจริงหรือไม่ เมื่อทั้งโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 70 กิกะตัน ใน 20 ปี ขณะที่จะปล่อยอีก 430 กิกะตัน ใน 7 ปี 

 

"กฎหมายโลกร้อน" ปัจจัยกดดันลดก๊าซเรือนกระจก

ดร.พิรุณ กล่าวต่อว่าเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีกลไกต่างๆ ที่จะเข้ามาในเวทีระหว่างประเทศ กลไกทางการค้าจะมีมากขึ้น เช่น มาตรการ CBAM  (Carbon Border Adjustment Mechanism) ตัวอย่างหนึ่ง เป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ขณะที่อเมริกา จีน แคนาดาก็มีคิดในเรื่องเหล่านี้

“ปัจจัยที่เป็นแรงกดดัน คือความอยู่รอดของโลกใบนี้ เมื่อตอนนี้ทั่วโลกยังทำได้ไม่ดีพอ ก็ต้องมีปัจจัยที่จะผลักดันให้เกิดการทำมากขึ้น ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้คนตื่นตัวมากสุด มักจะไม่ใช่ความสมัครใจ นี่จึงเป็นที่มา ว่าทำไม CBAM   ถึงเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องคาร์บอน อีกทั้งการผลิตที่ผ่านมามีการลดก๊าซเรือนกระจกแบบภาคสมัครใจ โดยไม่มีกฎหมายใดๆ เลย สามารถทำได้มากกว่าเป้าที่กำหนดไว้ ที่ไทยได้ประกาศไว้ใน UN 2 เท่า ทั้งภาคพลังงาน และขนส่ง  เรามีนโยบายจากรัฐบาล มีเครื่องมือเป็นกฎหมายจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาทำงานผ่านกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม  ไปเชื่อมกับการทำงานของกระทรวงที่เกี่ยวข้องแต่อาจจะทำได้ไม่เร็วมากพอ"ดร.พิรุณ กล่าว

ที่ผ่านมา มีกฎระเบียบจากสำนักนายกฯ ซึ่งทำให้มีการออกแบบลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขาในปี 2573 และจะเสนอเข้าครม. เพื่อให้มีมาตรการชัดเจนในภาคขนส่ง ของเสีย เกษตร  รวมถึงตัวเลขลดก๊าซเรือนกระจก และช่วงเวลาของตัวเลข เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้ติดตาม ว่าประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ได้ให้ไว้กับประชาคมโลกหรือไม่  เป็นการทำงานโดยไม่จำเป็นต้อง มีพ.ร.บ. 

ครั้งสุดท้าย! รับฟัง “ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ...”

ดร.พิรุณ กล่าวต่อไปว่าหลังจากปี 2574 เป็นต้นไป จะเกิดการเปลี่ยนแปลง มีอัตราเร่งเร็วขึ้น การจะใช้เครื่องมือเดิมๆ อาจจะทำให้การทำงานได้เร็ว และมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอในการตอบโจทย์ที่มีความท้าทายมากขึ้น เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องมีองค์กร ซึ่งขณะนี้มีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ถึงจะไม่ได้เป็นองค์กรใหม่แต่มีการปรับตัว และเรียนรู้ข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการพัฒนากรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมให้เดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้น ต้องมีเครื่องมือ ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นการสร้างกลไกใหม่มาใช้ภายในประเทศ ถ้าเราทำได้ตั้งแต่วันนี้สามารถยกร่างได้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สร้างโครงสร้างและการทำงานที่เร่งมากกว่าเดิม 

ไม่ใช่ทำงานไม่ได้ ถึงมีร่างกม.โลกร้อน

ดร.พิรุณ กล่าวอีกว่าพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าทำงานไม่ได้แล้ว ถึงจะมีพ.ร.บ. แต่พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นการทำให้มีอำนาจเข้ามาเปลี่ยนแปลง ช่วยปิดช่องวางบางอย่างที่มีอยู่ และความไม่เอื้ออำนวยให้ใช้กลไกบางอย่าง  ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ฉบับนี้ มุ่งเน้นการวางกรอบ และกำหนดอำนาจที่ใช้เครื่องมือที่มีศักยภาพ จำเป็น และเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ 

"ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว มีเรื่องของกองทุน เพื่อนำไปสร้างโครงสร้าง ให้ทุกภาคส่วนได้ใช้มีกองทุนในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น  ธุรกิจSMEs หรือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการดำเนินการตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น รวมทั้งต้องมีการรายงานข้อมูลซึ่งเป็นส่วนสำคัญกับกลไกราคาคาร์บอน เพื่อให้ภาครัฐได้มีข้อมูลไปใช้อย่างเหมาะสม นำไปสู่การวางแผนที่ลงลึก ละเอียด และมองไปข้างหน้าภาพระยะไกลได้ชัดเจนมากขึ้น"ดร.พิรุณ กล่าว

ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบริบทของประเทศ พร้อมให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง บูรณาการเป้าหมายไปสู่ภารกิจของตนเอง กำหนดให้มีการจัดทำแผนระยะยาว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำเสริมสร้างศักยภาพด้านการปรับตัว และสร้างขีดความสามารถของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการต่างๆ

โดยในส่วนของการลดก๊าซเรือนกระจกให้มีการจัดทำแผนปฎิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจัดทำฐานข้อมูลในภาพรวมของประเทศ

ครั้งสุดท้าย! รับฟัง “ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ...”

สิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กลไกทางเศรษฐศาสตร์

การกำหนดสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอนุญาตให้มีการซื้อขายสิทธิดังกล่าว และสร้างความมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของนิติบุคคลเฉพาะกลุ่ม ผ่านกลไกทางเศรษฐศาสตร์ที่มีความยืดหยุ่นสูง กำหนดให้มีการพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ในสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกับระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ ให้นิติบุคคลสามารถใช้คาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจำเกินสิทธิได้อย่างมีเงื่อนไจ

นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านภูมิอากาศ  เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลสำหรับคาดการณ์  ประเมินความเสี่ยง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ

อีกทั้งมีการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศทั้ง 6 สาขา ได้แก่ น้ำ เกษตร ท่องเที่ยว สาธารณสุข ทรัพยากร และตั้งถิ่นฐาน พร้อมทั้งแนวทางการส่งเสริม สนับสนุน และวางแผนการขับเคลื่อน การดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สอดรับกับแผนระยะยาว และสถานการณ์ของประเทศไทย

ทุกภาคส่วนปรับตัว โดยเฉพาะภาคเกษตรรับClimate Change

รวมถึงหมวดการปรับตัว หลายครั้งที่มีการพูดเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมองเรื่องของการลดคาร์บอน ลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันทางการค้าได้ แต่ความสำคัญของการปรับตัวไม่ใช่เพียงภาครัฐ หรือภาคเอกชน แต่ต้องทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเกษตร เพราะเป็นรากฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เกษตรกรจะปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเพิ่มมากขึ้นทั้งปริมาณและความถี่ อีกทั้ง จะมีการจัดทำความเสี่ยงระดับประเทศ และจังหวัด นำเครื่องมือไปวางแผนในอนาคต ทั้งเรื่องวิธีการ และประเภทของพืชที่มีความคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

"ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะต้องมีกลไกระเบียบข้อบังคับที่โปร่งใส และมีความน่าเชื่อถือของระบบ ที่พี่น้องประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ต้องเป็นกฎหมายที่ดีพอ เหมาะสม ใช้งานได้ และเป็นธรรม ดังนั้น ความเห็นของทุกคน ทางกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จะรับฟังทั้งหมด แต่คงไม่สามารถทำตามใจทุกคนได้ ร่างกฎหมายนี้ จะมีคำอธิบายชัดเจนว่าทำไมถึงไม่เลือกความคิดเห็น และมีการดำเนินการอย่างไร โดยจะเห็นการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ทางเว็บไซต์ ของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ก่อนจะนำเสนอครม.ต่อไป"ดร.พิรุณ กล่าว

ครั้งสุดท้าย! รับฟัง “ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ...”