อบก. ไฟเขียว สวนยางขายคาร์บอนเครดิต กยท.พัฒนาเป็นกลางทางคาร์บอน 20 ล้านไร่

อบก. ไฟเขียว สวนยางขายคาร์บอนเครดิต กยท.พัฒนาเป็นกลางทางคาร์บอน 20 ล้านไร่

อัปเดต อบก. ไฟเขียว สวนยางพาราขายคาร์บอนเครดิตได้ กยท.เดินหน้าพัฒนาสู่เป็นกลางทางคาร์บอน 20 ล้านไร่

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผยว่า  กยท.ได้วางแผนที่จะพัฒนาสวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนไว้ประมาณ 20 ล้านไร่  ให้เป็นสวนยางที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality)

เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดเป้าหมายนำประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050  และเป็นประเทศผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ตลอดจนบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ได้ในปี ค.ศ. 2065

 ซึ่งขณะนี้ องค์กาบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้ยืนยันแล้วว่า ยางพาราเป็นไม้ยืนต้นที่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ และสามารถนำมาผ่านกระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้

สำหรับไม้ที่นำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตนั้น อบก. ได้กำหนดไว้ว่า จะต้องจัดอยู่ในกลุ่มไม้โตไว 58 ชนิด ตามที่กรมป่าไม้ประกาศ แต่ยางพาราก็สามารถเข้าร่วมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้เช่นกัน

เนื่องจากเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจสูง มีรอบตัดฟันที่ยาว มีอายุนานหลายปี มีคุณสมบัติเหมือนไม้ยืนต้น และมีปริมาณเนื้อไม้เป็นหลัก จึงมีคุณสมบัติในการกักเก็บคาร์บอน ดังนั้น เกษตรกรชาวสวนยาง จึงสามารถนำยางพารามาซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ ช่วยเพิ่มรายได้เช่นเดียวกับไม้ยืนต้นชนิดอื่น

อบก. ไฟเขียว สวนยางขายคาร์บอนเครดิต กยท.พัฒนาเป็นกลางทางคาร์บอน 20 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาสวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. ให้เป็นสวนยาง Carbon neutrality นั้น ล่าสุด กยท.ได้ลงนามบันทึข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) กับ อบก. ในการพัฒนาโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อให้สามารถนำต้นยางพาราที่อยู่ในพื้นที่สวนยางนำมาผ่านกระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้เสริมนอกเหนือจากการขายผลผลิตยางเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของรัฐบาล
    

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กยท. ได้นำร่องดำเนินโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและยื่นขึ้นทะเบียนกับ อบก. เพื่อทำเป็นสวนยางต้นแบบที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน  ในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ จันทบุรี  เลย และสุราษฎร์ธานี มีสวนยางของเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน  2,299 รายกว่า 50,000 ไร่ คาดว่า โครงการนำร่องในช่วง 7 ปีแรก จะสามารถสะสมปริมาณคาร์บอนเครดิตได้กว่า 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) คิดเป็นมูลค่ากว่า 390 ล้านบาท ซึ่งหากเกษตรกรมีสวนยาง 1 ไร่ จะสามารถกักเก็บปริมาณคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 4 ตัน สร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตเฉลี่ย 1,200 บาท/ไร่  ถือเป็นรายได้เสริมที่เกษตรกรจะได้รับจากพื้นที่สวนยาง  นอกเหนือจากการขายผลผลิตยางเพียงอย่างเดียว 
    

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวต่อว่า ภายใต้ MOU ดังกล่าว  ยังจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูงมาใช้ในการประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในสวนยาง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด เช่น เทคโนโลยี LiDAR อากาศยานไร้คนขับ และดาวเทียม ตลอดจนกำหนดแนวทางและกิจกรรมเพื่อยกระดับการจัดการสวนยางให้ดียิ่งขึ้น โดยการยืดอายุสวนยางด้วยวิธีการกรีดยางหน้าสูง การใช้แก๊สเอทธิลีนเร่งน้ำยาง และการกรีดยาง ด้วยระบบกรีดความถี่ต่ำ ซึ่งจะช่วยยืดอายุการโค่นได้อีก 5-10 ปี และเพิ่มปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในสวนยางมากขึ้น ควบคู่ไปกับการลดปริมาณการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดทุน ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ระดับราคายางมีการปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย
    

นอกจากนี้ กยท. ยังได้วางแนวทางในการหาตลาดรองรับจากภาคเอกชนที่มีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต รวมถึงสร้างความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการพัฒนาแพลตฟอร์มกระดานซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตในอนาคต ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลกำหนดไว้
  

 ส่วนราคาที่จะใช้ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั้น ถ้าเป็นสวนยางพาราจะซื้อขายในราคาที่ต่ำว่าสวนป่าที่ปลูกไม้ยืนต้นที่ไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต  ในขณะที่เกษตรกรชาวสวนยางยางมีรายได้หลักจากการขายผลผลิต คือ น้ำยางและไม้ยางอยู่แล้ว  การขายคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้เสริม ซึ่งจะซื้อขายในราคาประมาณ 100-3,000 บาท/tCO2e  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เป็นการซื้อขายแบบสมัครใจยังไม่มีการบังคับอย่างเป็นทางการ  ดังนั้น หากมีการบังคับด้วยกฎหมายการจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนหรือกำหนดเป็นเงื่อนไขสำหรับสิบค้านำเข้าเป็นการทั่วไปแล้ว ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางจะมีรายได้เพิ่มขึ้น  สร้างความมั่นคงให้กับอาชีพการทำสวนยางอย่างยั่งยืน 
  

 "หลังจาก กยท. นำร่องดำเนินโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ในพื้นที่สวนยางต้นแบบทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าวแล้ว ก็จะขยายผลไปยังไปสวนยางในพื้นที่อื่นๆที่มีความพร้อม โดยตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นสวนยางCarbon neutrality ให้ใด้ 10 ล้านไร่ ภายในปี 2573 และภายในปี 2593 สวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.  ที่มีอยู่ประมาณ 20 ล้านไร่ จะเป็นสวนยาง Carbon neutrality ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับประโยชน์จากซื้อขายคาร์บอนเครดิต  พร้อมทั้ง กยท. จะพัฒนาองค์กรให้เป็นผู้ตรวจสอบประเมินคาร์บอนเครดิตที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ อบก. อีกด้วย" ผู้ว่าการ กยท.กล่าวในตอนท้าย