เปลี่ยน 'การสร้างขยะ' เป็น 'รีไซเคิล' หนุนการจ้างงาน ดัน GDP ทั่วโลก

เปลี่ยน 'การสร้างขยะ' เป็น 'รีไซเคิล' หนุนการจ้างงาน ดัน GDP ทั่วโลก

"การรีไซเคิล" เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ในแต่ละปีทรัพยากรที่รีไซเคิลได้ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากกว่า 700 ล้านตัน อีกทั้งยังเป็นการหนุนการจ้างงาน และดัน GDP ทั่วโลก

KEY

POINTS

ขยะรีไซเคิล คือ ขยะ ของเสีย หรือวัสดุเหลือใช้ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ โดยนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต เช่น แก้ว กระดาษ กระป๋องเครื่องดื่ม เศษพลาสติก เศษโลหะ เป็นต้น

ปี 65 ประเทศไทย มีขยะมูลฝอย จำนวน 25.70 ล้านตัน โดยเฉลี่ยมีคนทิ้งขยะวันละ 1.2 กิโลกรัมต่อคน นอกจากนี้ ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด มีมากถึง 27.6% ที่ไม่สามารถนำไปกำจัดได้อย่างถูกต้อง

ในแต่ละปีทรัพยากรที่รีไซเคิลได้ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากกว่า 700 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านตันภายในปี 2573 อีกทั้ง ยังหนุนการจ้างงาน และดัน GDP ทั่วโลก

 

"การรีไซเคิล" เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ในแต่ละปีทรัพยากรที่รีไซเคิลได้ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากกว่า 700 ล้านตัน อีกทั้งยังเป็นการหนุนการจ้างงาน และดัน GDP ทั่วโลก

ขยะรีไซเคิล คือ ขยะของเสีย หรือวัสดุเหลือใช้ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ โดยนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต เช่น แก้ว กระดาษ กระป๋องเครื่องดื่ม เศษพลาสติก เศษโลหะ เป็นต้น ขยะเหล่านี้ มีประโยชน์หลายซ้ำหลายซ้อนเพราะสามารถนำไปผลิตใช้ใหม่ได้ไม่รู้จบ

 

ขยะไทย ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ 8.80 ล้านตัน

ข้อมูลจาก กรมควบคุมมลพิษ ใน ปี 2565 ประเทศไทย มีขยะมูลฝอย จำนวน 25.70 ล้านตัน โดยเฉลี่ยมีคนทิ้งขยะวันละ 1.2 กิโลกรัมต่อคน นอกจากนี้ ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด มีมากถึง 27.6% ที่ไม่สามารถนำไปกำจัดได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากการคัดแยกขยะที่ไม่ถูกวิธี

  • ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ 8.80 ล้านตัน
  • ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดถูกต้อง 9.80 ล้านตัน
  • ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้อง 7.10 ล้านตัน
  • ปริมาณขยะมูลฝอยตกค้าง 9.91 ล้านตัน

 

สถานที่กำจัดขยะ ถูกต้อง

  • สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้อง 111 แห่ง
  • หมักทำปุ๋ย 4 แห่ง
  • MBT 0 แห่ง
  • RDF 2 แห่ง
  • ฝังกลบถูกหลักวิชาการ 1,577 แห่ง
  • เตาเผาผลิตพลังงาน (WTE) 8 แห่ง
  • เทกองควบคุม (<50 ตัน/วัน) 181 แห่ง

 

สถานที่กำจัดขยะ ไม่ถูกต้อง 

  • สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง 1,963 แห่ง
  • เทกองควบคุม (>50 ตัน/วัน) 8 แห่ง
  • เตาเผาไม่มีระบบบำบัดมลพิษอากาศ 94 แห่ง
  • การเทกอง 72 แห่ง
  • เผากำจัดกลางแจ้ง 61 แห่ง
  • สถานีขนถ่าย 33 แห่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

‘เยอรมนี’ ขึ้นแท่นประเทศ ‘รีไซเคิล’ มากที่สุดในโลก

ส่องมุมมอง 'คนรุ่นใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม' โลกเปลี่ยนได้ ด้วยกระป๋อง 1 ใบ

สังเกตก่อนทิ้ง 7 ประเภท ‘พลาสติก’ ที่ ‘รีไซเคิล’ ได้

 

 

6 ประเทศอาเซียน ปล่อยพลาสติกสู่ทะเล

เมื่อดูในแถบอาเซียน เป็นภูมิภาคที่ปล่อยพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดโดยเมื่อปี 2564 ผลการวิจัยที่เผยแพร่ภายใต้ Science Advances ระบุว่า 6 ประเทศอาเซียนปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลติด 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่

อันดับที่ 1 ฟิลิปปินส์ 3.6 แสนล้านตัน

อันดับที่ 3 มาเลเซีย 7.3 หมื่นล้านตัน

อันดับที่ 5 อินโดนีเซีย 5.6 หมื่นล้านตัน

อันดับที่ 6 เมียนมา 4 หมื่นล้านตัน

อันดับที่ 8 เวียดนาม 2.8 หมื่นล้านตัน

อันดับที่ 10 ไทย 2.3 หมื่นล้านตัน

 

ข้อมูลจาก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พบว่า ปี 2562 ทั่วโลก มีการผลิตพลาสติกต่อปี 460 ล้านตัน พุ่งขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อน เช่นเดียวกับขยะพลาสติกที่สูงถึง 353 ล้านตัน แต่ได้รับการรีไซเคิลเพียง 9% เท่านั้น ส่วนประมาณ 19% ถูกเผาในเตาเผา

 

ขณะที่เกือบประมาณ 50% ถูกฝังกลบอย่างถูกสุขาภิบาล และอีกประมาณ 22% ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องหรือปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ปี 2563 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การใช้พลาสติกทั่วโลกลดลง 2.2% จากปี 2562 แต่พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวเพิ่มขึ้นสูงอย่างมากจากบรรดาอุปกรณ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขยะพลาสติกก็เพิ่มขึ้นอีกครั้งตลอดวงจรชีวิต ของพลาสติกผลิตก๊าซเรือนกระจกประมาณ 3.4% ของก๊าชเรือนกระจกทั้งโลก

 

 

“เยอรมนี” ครองแชมป์รีไซเคิลมากที่สุด

ทั้งนี้ เมื่อดูการรีไซเคิลทั่วโลก ย้อนกลับไปในปี 2061 นับเป็นช่วงที่ประเทศทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญและสร้างโมเดลต้นแบบในการรีไซเคิลขยะกันมากขึ้น โดย 5 ประเทศต้นแบบ ที่มีการรีไซเคิลขยะมากที่สุดในโลก ได้แก่

1 เยอรมนี รีไซเคิลขยะดีที่สุดในโลก ถึง 56.1%

2. ออสเตรีย รีไซเคิลขยะได้ 53.8%

3. เกาหลีใต้ รีไซเคิลขยะได้ 53.7%

4. เวลส์ รีไซเคิลขยะได้ 52.2%

5. สวิตเซอร์แลนด์ รีไซเคิลขยะได้ 49.7%

 

โดยประเทศดังกล่าว มีการผลักดัน ออกกฎหมาย พร้อมนโยบายในการจัดการขยะอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการกระตุ้น และผลักดันให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการกำจัดขยะจึงทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ประสบความสำเร็จ และ ในปี 2566 “เยอรมนี” ก็ยังครองแชมป์ ประเทศที่มีการรีไซเคิลมากที่สุดในกลุ่มประเทศ OCED ด้วยสัดส่วน 66.1%

 

รีไซเคิล หมุนเวียน ไม่รู้จบ

ทั้งนี้ “การรีไซเคิล” เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ในแต่ละปีทรัพยากรที่รีไซเคิลได้ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากกว่า 700 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านตัน ภายในปี 2573 หากมีการมุ่งเน้นเรื่องรีไซเคิลทั่วโลก

 

ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 700 ล้านตันต่อปี
  • ชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด ที่เกิดจากอุตสาหกรรมการบินทุกปี

 

ส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่นทั่วโลก

  • มีการจ้างงานประมาณ 1.6 ล้านคนทั่วโลก เกี่ยวกับการรีไซเคิล
  • การสนับสนุนรายปีของอุตสาหกรรมรีไซเคิลต่อ GDP ทั่วโลก คาดว่าจะเกิน 400 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 10 ปีข้างหน้า
  • อุตสาหกรรมลงทุน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อสร้างงาน ปรับปรุงประสิทธิภาพการรีไซเคิล และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

อนุรักษ์ทรัพยากรหลักอันมีค่าของทั้ง 6 โลก

  • มนุษย์ใช้ทรัพยากรมากขึ้นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มากกว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทั้งหมด
  • ทรัพยากรที่ 7 (วัสดุรีไซเคิล) ช่วยทดแทนวัตถุดิบธรรมชาติ 40% เพื่อสนองความต้องการวัตถุดิบของโลก

 

ลดขยะที่ต้นทาง

ปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากเราทุกคน กรมอนามัย แนะนำว่า การช่วยลดปัญหานี้ให้เบาลงได้คือ การเริ่มสร้างจิตสำนึกของตนเองก่อนทิ้งขยะทุกครั้ง ควรแยกถังขยะออกไปตามประเภทของขยะ เพื่อการจัดการขยะในขั้นตอนต่อไปที่ง่ายลง โดยสามารถทำได้ตั้งแต่ตัวเอง ครอบครัว และชุมชน ให้มีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีวิธีการลดปริมาณขยะให้น้อยลงได้ด้วย วิธีดังนี้

ลดการใช้งาน (Refuse)

  • ด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์ วัสดุห่อหุ้มสินค้า ที่จะสร้างปริมาณขยะเพิ่มขึ้น เช่น ถุงหิ้วพลาสติก กล่องโฟม หรือสิ่งที่ใช้งานได้ครั้งเดียวแล้วทิ้งซึ่งสร้างปริมาณขยะมากขึ้น และย่อยสลายได้ยาก

 

นำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse)

  • การนำบรรจุภัณฑ์ หรือถุงพลาสติกที่ใช้แล้วแต่ยังใช้งานได้อยู่กลับมาใช้ซ้ำ

 

นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)

  • อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดปริมาณขยะ และมลพิษกับสิ่งแวดล้อม โดยการนำของที่ใช้แล้วมาเพิ่มมูลค่า โดยนำเข้าสู่กระบวนการผลิตอีกครั้งเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถนำมาใช้งานหรือขายออกสู่ตลาดได้

 

ที่มา : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , กรมควบคุมมลพิษ , สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , กรมอนามัย , กรมประชาสัมพันธ์

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์