ประชุมผู้ถือหุ้นกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กร

ประชุมผู้ถือหุ้นไปทำไม? ถ้าตอบตามตำรา ก็คือ เพื่อให้เกิด “การกำกับดูแลกิจการที่ดี” แต่ถ้าว่ากันตามกฎหมาย ก็คือ พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด

กำหนดให้คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมสามัญประจำปี (Annual General Meeting หรือ AGM) ภายใน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดของรอบปีบัญชีของบริษัท

“การกำกับดูแลกิจการที่ดี” คืออะไร และเพราะเหตุใดกฎหมายจึงต้องกำหนดไว้เช่นนั้น?

เริ่มต้นจากการอธิบายถึง “โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ” กันก่อนอาจกล่าวได้ว่ามีตัวละครอยู่ 3 กลุ่ม คือ ผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัท และคณะจัดการ

ผู้ถือหุ้นถือว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเรื่องสำคัญต่างๆ และเป็นผู้อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท เพื่อเป็นตัวแทนดูแลการจัดการบริษัท ซึ่งมีคณะจัดการหรือคณะผู้บริหารที่ดำเนินกิจการ และปฏิบัติงานของบริษัทนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อกิจการดำเนินไปครบรอบหนึ่งปี ย่อมจะต้องมีเรื่องสำคัญต่างๆ ที่ต้องการ การตัดสินใจจากผู้ถือหุ้น รวมถึงการรายงานผลการดำเนินกิจการในด้านต่างๆ ให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบ อนุมัติ แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ จึงต้องมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีขึ้น (ถ้ามีวาระเร่งด่วนกว่านั้น และรอรอบปีไม่ได้ ก็สามารถเรียกจัด “Extraordinary General Meeting” หรือ EGM ได้) เรื่องหรือวาระประจำในการประชุมตามที่กฎหมายกำหนดนั้น ยกตัวอย่างเช่น การอนุมัติงบการเงินประจำปี การอนุมัติการจัดสรรกำไรเพื่อเป็นทุนสำรองตามกฎหมาย การอนุมัติการจ่ายเงินปันผล การอนุมัติแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและค่าสอบบัญชี การอนุมัติแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระ และค่าตอบแทนกรรมการ เป็นต้น และเรื่องสำคัญอื่นๆ ตามแต่ความจำเป็นของกิจการ และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

 

การประชุมจึงมีผู้เข้าร่วมหลักทั้ง 3 กลุ่มคือ ผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัท และคณะจัดการ และเป็นลักษณะการลงคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติหรือไม่อนุมัติ (หรืองดออกเสียง) ในวาระต่างๆ รวมถึงแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้ทางคณะกรรมการบริษัท และคณะจัดการนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินกิจการต่อไป

เหตุใดจึงต้องจัดประชุมภายใน 4 เดือน นับจากปิดรอบบัญชีประจำปี?

แน่นอนว่า บริษัทมหาชนนั้น มีจำนวนผู้ถือหุ้นจำนวนมาก ต้องมีขั้นตอนการแจ้ง เตรียมและจัดการประชุม จึงมีระเบียบปฏิบัติมากมาย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ทั่วถึง และโปร่งใสให้มากที่สุด จึงต้องให้เวลาที่เพียงพอกับผู้ปฏิบัติงานได้ดำเนินการ ตั้งแต่เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้เสนอชื่อกรรมการ และวาระ นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาวาระส่งงบการเงิน จัดทำรายงานประจำปี (56-1 one report) ส่งหนังสือแจ้งวัน เวลา สถานที่ และวาระในการประชุม ปิดทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิในการเข้าประชุมผู้ถือหุ้น และการรับปันผล การลงทะเบียน และยืนยันตัวตนเพื่อเข้าร่วมประชุมของผู้ถือหุ้น อีกทั้งเตรียมสถานที่ ระบบลงคะแนน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับวันประชุม เป็นต้น

หากไม่มีการประชุมผู้ถือหุ้น จะเกิดอะไรขึ้น?

ประการแรก คณะกรรมการมีความผิดตามกฎหมาย ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินสองหมื่นบาท ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด

ประการถัดไปที่เป็นสิ่งสำคัญ คือ ผู้ถือหุ้นจะไม่สามารถรับทราบได้เลยว่า กิจการที่ตนลงทุนไปนั้น มีสถานะเป็นอย่างไร ทั้งข้อมูลการดำเนินการที่เกี่ยวกับการเงิน และข้อมูลการดำเนินการที่ไม่ใช่การเงิน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการดำเนินกิจการหรือการลงทุนนั้น สร้างผลกระทบทั้งตัวผู้ถือหุ้นเอง และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ กล่าวคือ สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม หรือสังคม ชุมชน หรือการดำเนินการบางประการของบริษัททำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปในวงกว้าง (ซึ่งสุดท้ายแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะกลับมามีผลกระทบกับตัวบริษัทและผู้ถือหุ้นเอง) เช่น การก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ อากาศ เสียง ระบบนิเวศ และคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบ ซึ่งโครงการนั้นอาจไม่ผ่านการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) หรือแม้ว่าผ่าน EIA แล้วก็ตาม ก็อาจถูกเพิกถอนสิทธิในการก่อสร้างได้ในภายหลัง ดังนั้น ผู้ถือหุ้น จะเป็นตัวแปรที่สำคัญในการพิจารณาว่า โครงการหรือการลงทุนที่ทำอยู่นั้น จะดำเนินการต่อไปหรือไม่ และจะมีทิศทางดำเนินการอย่างไร

กล่าวมาถึงส่วนนี้ ผู้อ่านคงจะเริ่มเห็นความเชื่อมโยงมากขึ้นแล้วว่า การจัดประชุมผู้ถือหุ้นนั้น เกี่ยวข้อง และมีความสำคัญกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรอย่างไร?

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ยิ่งการดำเนินกิจการ หรือการดำเนินธุรกิจใดๆ ที่มีโอกาสสร้างผลกระทบ โดยเฉพาะผลกระทบในเชิงลบกับสังคม (S-Social) สิ่งแวดล้อม (E-Environmental) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ (Stakeholders) ก็ยิ่งต้องมีการควบคุม ดูแลกำกับ ให้เป็นไปอย่างมีระบบระเบียบ มีมาตรฐานและประสิทธิภาพ อันเป็นที่มาของข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ ให้บริษัทต้องปฏิบัติตาม (รวมถึงการจัดการประชุมผู้ถือหุ้นตามกฎหมายข้างต้นด้วย) นั่นคือ “การกำกับดูแลกิจการที่ดี” (G-Governance) .. เพื่อให้ในท้ายที่สุด เกิดผลลัพธ์ที่เราทุกคนคาดหวังคือ การทำธุรกิจโดยสร้างประโยชน์สูงสุดร่วมกัน และการอยู่ร่วมกันของทุกภาคส่วนได้ แบบพึ่งพาอาศัยกัน อย่างมีสมดุล และเกิดความยั่งยืน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์