‘เกาหลีใต้’ ผลิต ‘ข้าวเนื้อ’ แหล่งโปรตีนแห่งอนาคต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

‘เกาหลีใต้’ ผลิต ‘ข้าวเนื้อ’ แหล่งโปรตีนแห่งอนาคต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เกาหลีใต้พัฒนา “ข้าวเนื้อ” ที่มีเนื้อและไขมันของวัวอยู่ภายใน “เมล็ดข้าว”  หวังเป็นแหล่งโปรตีนและพลังงานในอนาคต

KEY

POINTS

  • เกาหลีใต้คิดค้น “ข้าวเนื้อ” ที่มีเซลล์เนื้อวัวอยู่ในเมล็ดข้าวได้สำเร็จ ตั้งเป้าเห็นแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนแห่งอนาคต ที่มีราคาไม่แพง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงวัวเพื่อการบริโภคอีกต่อไป
  • งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นการสร้างอาหารชนิดใหม่ที่ช่วยให้มนุษย์สามารถเอาชนะวิกฤติทางอาหาร ความกังวลด้านสุขภาพ ความเสี่ยงของโรคติดเชื้อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขาดแคลนทรัพยากรในคราวเดียวกัน
  • ข้าวเนื้อที่มีโปรตีน 100 กรัมจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 6.27 กิโลกรัม ขณะที่เนื้อวัว 100 กรัมจะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 49.89 กิโลกรัม

เกาหลีใต้พัฒนา “ข้าวเนื้อ” ที่มีเนื้อและไขมันของวัวอยู่ภายใน “เมล็ดข้าว”  หวังเป็นแหล่งโปรตีนและพลังงานในอนาคต

ลืม “ข้าวหน้าเนื้อ” แบบเดิม ๆ ไปได้เลย เกาหลีใต้คิดค้น “ข้าวเนื้อ” ที่มีเซลล์เนื้อวัวอยู่ในเมล็ดข้าวได้สำเร็จ ตั้งเป้าเห็นแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนแห่งอนาคต ที่มีราคาไม่แพง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงวัวเพื่อการบริโภคอีกต่อไป

ศ.ฮง จินกี จากมหาวิทยาลัยยอนเซ ในกรุงโซล ผู้นำงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Matter กล่าวว่า “ข้าวเนื้อ” เป็นผลิตภัณฑ์อาหารชนิดแรกที่ผสานแหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์เข้าไว้ในเมล็ดข้าว

พัค โซฮยอน ผู้เขียนงานวิจัยกล่าวเสริมว่า “ข้าวมีสารอาหารที่สูงอยู่แล้ว แต่การเพิ่มเนื้อสัตว์เข้าไปจะช่วยให้ได้สารอาหารมากขึ้น ทำให้ได้รับสารอาหารทั้งหมดที่เราต้องการจากกินข้าวเพียงอย่างเดียว”

‘เกาหลีใต้’ ผลิต ‘ข้าวเนื้อ’ แหล่งโปรตีนแห่งอนาคต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

มีทั้งข้าว มีทั้งเนื้อในเมล็ดเดียว

ข้าวเนื้อมีสีชมพูได้มาจากการผสมเนื้อสัตว์เข้าไป ถือเป็นแหล่งโปรตีนที่มีราคาถูกและยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แถมมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่าเนื้อวัวมาก

ขั้นแรกของการเพาะข้าวเนื้อ เริ่มจากเคลือบข้าวด้วยเจลาตินจากปลา เพื่อช่วยให้เซลล์เนื้อยึดเกาะได้ดีขึ้น จากนั้นจึงใส่กล้ามเนื้อวัวและสเต็มเซลล์ไขมันลงในเมล็ดข้าว แล้วจึงนำไปเพาะในจานเพาะเชื้อ

การศึกษากล่าวว่า โครงสร้างเซลล์สัตว์มีขนาดเล็ก สามารถเติบโตเข้าได้อย่างดีกับเมล็ดข้าวที่มีโครงสร้างที่มีรูพรุนและเป็นระเบียบ เพราะมีลักษณะเดียวกันกับโมเลกุลบำรุงรักษาได้ดี

หลังจากผ่านไปประมาณ 9-11 วัน เซลล์เนื้อจะเจริญเติบโตบนพื้นผิวของเมล็ดข้าวและภายในเมล็ดข้าวได้เอง จนมีลักษณะเหมือนกับซูชิเนื้อขนาดจิ๋ว มีเนื้อสัมผัส ลักษณะทางโภชนาการ และรสชาติที่แตกต่างจากเมล็ดข้าวแบบดั้งเดิม โดยเนื้อสัมผัสของข้าวเนื้อจะแน่นและร่วนมากกว่าข้าวทั่วไป มีโปรตีนและไขมันสูงกว่า 

ข้าวที่มีเนื้อผสมในปริมาณสูงกว่าจะมีกลิ่นคล้ายเนื้อวัวและอัลมอนด์ ในขณะที่ข้าวที่มีปริมาณไขมันสูงกว่าจะมีกลิ่นคล้ายครีมหรือน้ำมันมะพร้าว

งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นการสร้างอาหารชนิดใหม่ที่ช่วยให้มนุษย์สามารถเอาชนะวิกฤติทางอาหาร ความกังวลด้านสุขภาพ ความเสี่ยงของโรคติดเชื้อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขาดแคลนทรัพยากรในคราวเดียวกัน

พัคให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ว่าก่อนหน้านี้ทีมวิจัยได้ทดลองผสมเนื้อเข้ากับอาหารประเภทต่าง ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เช่น ถั่วเหลือง แต่เนื่องจากโครงเซลล์ของถั่วเหลืองมีขนาดใหญ่เกินไป จะทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับรสสัมผัสของเนื้อได้

‘เกาหลีใต้’ ผลิต ‘ข้าวเนื้อ’ แหล่งโปรตีนแห่งอนาคต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“ข้าวเนื้อ” ลดโลกร้อน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเนื้อสัตว์ทางเลือกและนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น เนื้อที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ ผลิตภัณฑ์ “แพลนต์เบส” (Plant-based) ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพื่อต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดขึ้นจากการทำปศุสัตว์

ข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่า การทำฟาร์มและปศุสัตว์ถึง 12% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมที่เกิดจากมนุษย์ โดยการผลิตเนื้อวัวนั้นมีคาร์บอนเข้มข้นที่สุด ในแต่ละปีการทำปศุสัตว์จะปล่อยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 6,200 ล้านตันเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ

แต่หลังจากเป็นกระแสได้เพียงไม่นาน ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์จำนวนมากไม่สามารถดึงดูดผู้บริโภคและเข้าสู่กระแสหลักได้ แต่กลุ่มนักวิจัยชาวเกาหลีกล่าวว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาอาจมีข้อได้เปรียบมากกว่า เพราะใช้ส่วนผสมที่ปลอดภัย เข้าถึงได้ ราคาไม่แพง และยังมีความยั่งยืนในการผลิต

ปัจจุบันเนื้อวัวไม่ติดมันราคาประมาณ 14.88 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ส่วนข้าวขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 2.20 ดอลลาร์ จากการประเมินของทีมวิจัยคาดว่าข้าวเนื้อจะขายได้ในราคากิโลกรัมละ 2.23 ดอลลาร์ นอกจากนี้ข้าวเนื้อที่มีโปรตีน 100 กรัมจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 6.27 กิโลกรัม ขณะที่เนื้อวัว 100 กรัมจะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 49.89 กิโลกรัม

พัคกล่าวว่า หากทีมวิจัยสามารถพัฒนาเซลล์ไลน์ ซึ่งเป็นเซลล์ที่เพาะเลี้ยงจนสามารถแบ่งและเติบโตต่อไปได้เป็นระยะเวลานาน ก็จะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการเพาะพันธุ์ปศุสัตว์อีกต่อไป และสามารถสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนได้

อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ข้าวเนื้อยังไม่ได้วางจำหน่ายในร้านอาหาร ทีมวิจัยเตรียมพัฒนากระบวนการเพื่อให้เซลล์สามารถเติบโตได้ดีขึ้นในเมล็ดข้าวและสร้างคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ซึ่งหวังว่าจะช่วยปรับปรุงเนื้อสัมผัสและรสชาติของข้าวให้ดียิ่งขึ้นได้

“ตอนนี้ฉันเห็นความเป็นไปได้สำหรับกลุ่มอาหารลูกผสมที่ทำจากธัญพืช สักวันหนึ่งมันจะช่วยบรรเทาวามอดอยาก เป็นอาหารสำหรับทหาร หรือแม้แต่เป็นอาหารสำหรับกินบนอวกาศ” พัคกล่าว


ที่มา: CNNNew ScientistReuters