อีกมุมมองสำคัญในการสร้าง ‘อาเซียนสีเขียว’ | World Wide View

อีกมุมมองสำคัญในการสร้าง ‘อาเซียนสีเขียว’ | World Wide View

ศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ แซคส์ นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก เผยว่าโลกของเราไม่ได้ไร้ซึ่งทางออกในการแก้ไขปัญหาโลกเดือด แต่สิ่งที่โลกกำลังขาดคือ Mindset ที่พร้อมส่งเสริมความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน โลกกำลังประสบกับความท้าทายในรูปแบบต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับเพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มีผลกับผู้คนในวงกว้างทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยเฉพาะกรณีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร และพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากอัตราค่าครองชีพที่พุ่งสูง หรือแม้แต่ความเสี่ยงทางสุขภาพจากโรคอุบัติใหม่หรือการแพร่ขยายของโรคอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก ด้วยเหตุนี้ การแก้ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจึงเป็นหนึ่งในประเด็นระดับโลกที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ 

แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ แซคส์ นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกและขณะนี้ดำรงตำแหน่งประธานเครือข่าย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ของสหประชาชาติที่ได้กล่าวไว้ในงาน Sustainability Talks: Towards a Green ASEAN ซึ่งจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue: ACSDSD) C asean และ ThaiBev เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา โดยศาสตราจารย์แซคส์ ได้ย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังจากที่ปี 2566 ทุบสถิติเป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบ 120,000 ปี 

อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์แซคส์ ได้ให้ความเห็นว่า โลกของเราไม่ได้ไร้ซึ่งทางออก เพราะเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด หรือแม้แต่ปัญญาประดิษฐ์ล้วนจะช่วยแก้ปัญหาโลกเดือดได้ทั้งสิ้น แต่สิ่งที่โลกกำลังขาดคือ Mindset ที่พร้อมส่งเสริมความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในสภาวะปัจจุบันที่โลกเต็มไปด้วยจุดเปราะบางทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่กระตุ้นให้บางประเทศมุ่งความสนใจไปที่ประเด็นความขัดแย้ง สงคราม หรือการแข่งขันกันระหว่างประเทศมหาอำนาจ มากกว่าการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันความร่วมมือเพื่อแก้วิกฤตินี้ 

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์แซคส์ ยังได้ย้ำถึง 6 ประเด็นสำคัญที่ทุกประเทศควรร่วมกันพัฒนาเพื่อปูทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ (1) ระบบการศึกษาที่ดี (2) ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง (3) การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (4) การเกษตรที่ยั่งยืน (5) โครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์ ทั้งในด้านการคมนาคม และการรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และ (6) การพัฒนาระบบดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพคนควบคู่ไปกับการสร้างระบบที่พร้อมต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยดึงดูดการลงทุน และความร่วมมือจากประเทศภายนอกสู่การดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับชาติ และระดับภูมิภาค 

ทั้งนี้ การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนถือเป็นประเด็นที่ไทย ในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนในด้านดังกล่าวดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งศูนย์ ACSDSD ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของไทยเมื่อปี 2562 เพื่อทำหน้าที่ด้านการศึกษา และการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นเวทีหารือเชิงนโยบายระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก ตลอดจนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับภาคีภายนอกของอาเซียน ซึ่งรวมถึงการผลักดันความร่วมมือเพื่อสร้าง “อาเซียนสีเขียว” โดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนฉบับใหม่ที่จะกำหนดให้ประเด็นดังกล่าวเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่อาเซียนจะมุ่งไปสู่ในอีก 20 ปีข้างหน้าด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์