"สรรพสามิต" พลิกบทบาทก้าวสู่กรม ESG เน้นนโยบายภาษีสิ่งแวดล้อม

"สรรพสามิต" พลิกบทบาทก้าวสู่กรม ESG เน้นนโยบายภาษีสิ่งแวดล้อม

กรมสรรพสามิต ตอกย้ำการพลิกบทบาทสำคัญก้าวสู่กรม ESG ชูยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ดูแลสุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มขีดการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

ข้อมูลจาก กรมสรรพสามิต ระบุว่า มีการยกเครื่องกรมชูยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ดูแลสุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

กรมสรรพสามิต ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG โดยในปี 2565 กรมสรรพสามิตได้ประกาศบทบาทใหม่ที่สำคัญเป็นกรม ESG เพื่อให้การดำเนินงานของกรมฯ สอดรับกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม การปรับตัวที่รวดเร็วของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยนำกลยุทธ์ EASE Excise เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ (Purpose) ของกรมสรรพสามิตที่ต้องการ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรรมาภิบาล สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน”

โดยกรมสรรพสามิตให้ได้ดำเนินมาตรการ ในปี 2566 ที่สำคัญ ดังนี้

1. ดำเนินมาตรการลดภาษีน้ำมันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงระดับราคาน้ำมันสูงและได้ยกเว้นภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันเพื่อนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ราคาก๊าซธรรมชาติสูงผิดปกติอันเป็นผลมาจากสงครามรัสเซียและยูเครน โดยในปี 2566 กรมสรรพสามิตได้สูญเสียรายได้จากการดำเนินมาตรการดังกล่าวกว่าแสนล้านบาท เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน

2. ดำเนินมาตรการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานในอัตราก้าวหน้าตามปริมาณน้ำตาล มาตรการนี้ได้ส่งผลให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่อยู่ในพิกัดภาษีสรรพสามิตปรับลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มลงอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร

ได้ลดปริมาณการผลิตลงเหลือเพียง 46 ล้านลิตร ในปี 2566 จาก 819 ล้านลิตรในปี 2561 ผลของมาตรการนี้จะส่งผลให้ประชาชนบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยลงและลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวานและโรคที่เกี่ยวข้อง

3. ดำเนินมาตรการสรรพสามิตเพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Zero Emission Vehicle: ZEV) ตามมาตรการ EV 3.0  ส่งผลให้ในปี 2566 ประเทศไทยมีการจดทะเบียนรถยนต์ ZEV จำนวน 76,739 คัน เติบโตจากปี 2565 ถึง 646 % ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในอาเซียน ในขณะที่ประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 21,677 คัน

เติบโตจากปี 2565  125 % นอกจากนี้ เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนดให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการต้องผลิตรถยนต์ EV ในไทยชดเชยและมาตรการส่งเสริมการลงทุนทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนกว่า 6.1 หมื่นล้านบาท

4. ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์เพื่อปราบปรามผู้กระทำผิดที่หลบเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิต โดยในปี 2566 ผลการปราบปรามคดีทั่วประเทศมีจำนวน 26,056 คดี สูงกว่าเป้าหมายจำนวน 7,531 คดี หรือ  40.7 %

5. นำแนวคิดกระบวนการออกแบบเชิงระบบ (design thinking) และ User Experience (UX) มายกระดับการให้บริการทางดิจิทัลของกรมสรรพสามิตเพื่อให้ผู้เสียภาษี โดยในปัจจุบันมีผู้เสียภาษี 96 % ของผู้เสียภาษีสรรพสามิตทั้งหมดได้ดำเนินการชำระภาษีผ่านทางระบบ e-service ส่งผลให้กรมสรรพสามิตได้รับรางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ (Super เลิศรัฐ) และรางวัลผู้นำองค์กรภาครัฐดิจิทัลดีเด่น ประจำปี 2566

ซึ่งในปี 2567 นี้กรมสรรพสามิตยังมีแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ EASE Excise อย่างต่อเนื่องโดยมีนโยบายดังนี้  ดังนี้

1. ด้านนโยบาย ESG จะมุ่งเน้นนโยบายภาษีสรรพสามิตที่ส่งเสริมภาษีสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ได้แก่ มาตรการภาษีคาร์บอน (carbon tax) นโยบายส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 มาตรการปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีรถยนต์เพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ        
2. ด้านพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ จะมุ่งเน้นการยกระดับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ทำงานได้คล่องตัว (Agile ways of working) และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในอนาคต (Future Skills) เช่น AI และ Data Analytics รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรให้เก่ง ดี มีความสุข

3. ด้านพัฒนากระบวนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้มีมาตรฐาน (Standardization) เช่น การวางมาตรฐานธรรมาภิบาลข้อมูล และวางมาตรฐานการปราบปรามผู้กระทำผิดเชิงรุกกับหน่วยงานปราบปรามที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการทบทวนกฏหมายภาษีสรรพสามิตที่บังคับใช้ในปัจจุบันหรือยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยหรือลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น (Regulatory Guillotine)

4. ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการให้บริการแบบไร้รอยต่อ (End-to-end Service) เพื่อให้ประชาชนผู้รับบริการได้รับความสะดวกและเจ้าหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่รวดเร็ว เพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดีกับการให้บริการของกรมสรรพสามิตมาตรการปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีรถยนต์เพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ        

ทั้งหมดนี้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ ดูแลและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศให้ดียิ่งขึ้นต่อไป