ภาคธุรกิจกับความหลากหลายทางชีวภาพและภาวะโลกรวน

ภาคธุรกิจกับความหลากหลายทางชีวภาพและภาวะโลกรวน

ความหลากหลายทางชีวภาพเริ่มได้รับความสำคัญและถูกคำนึงถึงเพิ่มมากขึ้นในการดำเนินงานของภาคธุรกิจ หลายภาคส่วนเห็นว่าปัญหาเรื่องการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) กับภาวะโลกรวน (Climate Change)

เป็นภาวะวิกฤตระดับโลกที่ควบคู่กัน สังเกตได้จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ซึ่งโดยปกติจะเป็นการประชุมที่เน้นในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในการประชุม COP 27 เมื่อปี 2565 และการประชุม COP 28 ที่เพิ่งผ่านมา ก็มีการประชุมเจรจาเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินสำหรับธรรมชาติ (Finance for Nature) และการเรียกร้องให้ภาคเอกชนลงทุนในเรื่องดังกล่าวมากขึ้นด้วย

ภูมิทัศน์และแนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจและความหลากหลายทางชีวภาพ

ปัจจุบัน เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของทัศนคติต่อธรรมชาติขององค์กรต่าง ๆ และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ รวมถึงโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น การเข้าร่วมของผู้ลงทุนสถาบันระดับโลกใน Nature Action 100 (NA100) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการจัดการกับปัญหาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง การกำหนดเป้าหมายที่ 14 (Life Below Water) และเป้าหมายที่ 15 (Life on Land) ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) และในกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) ก็ให้ความสำคัญกับบทบาทของ “ตลาดเครดิตด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Markets)” และ “การให้เงินทุนด้านธรรมชาติ (Nature Finance)” ล่าสุด ใน Joint Statement on Climate, Nature and People ซึ่งเป็นผลจากการประชุม COP 28 ก็ได้มีข้อสรุปว่า จะให้มีความร่วมมือกันในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณเงินทุนและการลงทุนเพื่อสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติโดยมีแหล่งที่มาทั้งจากงบประมาณภาครัฐ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี (Multilateral Development Bank) และภาคเอกชน

กฎหมายของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ

ประเทศไทยก็กำลังดำเนินการเพื่อออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังจัดทำร่างกฎหมายซึ่งมีหลักการที่สำคัญและเป็นสากลหลายประการ เช่น หลักการเรื่องการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน หลักการเรื่องการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพร่วมกันอย่างเท่าเทียม รวมทั้งเนื้อหาอื่นที่มุ่งยกระดับการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพและอุดช่องโหว่ของกฎหมายปัจจุบัน

แนวทางการประเมินและการเปิดเผยข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับภาคธุรกิจ

ในส่วนของภาคธุรกิจนั้น นอกจากการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ โดยในต่างประเทศเริ่มมีการกำหนดแนวทางเรื่องการจัดทำรายงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น แนวทางหรือคำแนะนำของ Taskforce on Nature-related Financial Disclosures (TNFD) ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้ภาคเอกชนไทยก็น่าจะต้องมีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้มากขึ้น โดยเทียบเคียงกับกรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (โดย Taskforce on Climate-related Financial Disclosures (TCFD)) ที่ต่อมามีการนำไปปรับเป็นมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนขององค์กร (IFRS S1 และ IFRS S2)

หากมีการจัดทำมาตรฐานรายงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งที่ทำให้การเปรียบเทียบและประเมินข้อมูลโดยผู้ใช้ข้อมูลและผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก็น่าเชื่อว่าจะเสริมสร้างความโปร่งใสของข้อมูล ส่งเสริมการสร้างความรับผิดชอบขององค์กร และหมุนเวียนไปเป็นแรงกระตุ้นการดำเนินการเพื่อธรรมชาติและลดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างครบวงจร