'เอสซีจี' เปิด 4 ภารกิจสร้างสังคม Net Zero แก้วิกฤติโลกเดือด

'เอสซีจี' เปิด 4 ภารกิจสร้างสังคม Net Zero แก้วิกฤติโลกเดือด

"เอสซีจี" ชวนจับตาหลายวิกฤติทั่วโลก ลั่นเตรียมพร้อมรับทุก "เซอร์ไพรส์" เปิด 4 ภารกิจหลัก เดินหน้าสร้างสังคม Net Zero แก้วิกฤติโลกเดือด ตั้งเป้ายอดขายนวัตกรรมกรีน 67% ปี 2573 

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG  กล่าวว่า จากสถานการณ์จีโอโพลิติก และวิกฤติต่าง ๆ ส่งผลให้ต้องอยู่ในโลกที่ทีความผันผวนสูง โดยจะเห็นได้ชัดว่าในแต่ละปีจะเกิดเหตุการณ์เซอร์ไพรส์ต่าง ๆ อาทิ โควิด เทรดวอร์ สงครามระหว่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้น ในช่วง 5-10 ปีต่อจากนี้ เอสซีจีได้เตรียมใจว่าคงต้องเจอเรื่องเซอร์ไพรส์อีกแน่นอน

ทั้งนี้ สิ่งที่ยังต้องเจอต่อเนื่องคือ จีโอโพลิติก ที่จะกระทบกับราคาน้ำมัน และที่สำคัญจะเป็นเรื่องของโลกเดือด ภัยธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้อุณหภูมิขึ้นใกล้จะถึง 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว ส่งผลให้ลูกค้าในประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับประเด็นการปลดปล่อยคาร์บอนมากขึ้น เช่น สิงคโปร์ให้ความสำคัญเรื่องของภาษีคาร์บอน ดังนั้น ท่ามกลางวิกฤติต่อจากนี้ เราจะต้องอยู่กับโลกที่มีความไม่แน่นอน

"เราไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ จึงต้องเตรียมพร้อมและอยู่กับมันให้ได้ เอสซีจีมองทิศทางดำเนินงานในช่วง 3-5ปี หากหวังจะทำธุรกิจให้ได้เพียงแค่กำไรนั้นง่ายมากโดยไม่ต้องปรับอะไรมากและอยู่กับธุรกิจที่สร้างคาร์บอนสูงต่อไป แต่หากจะมองไปในระดับ 40-50 ปี หรือ 100 ปี ต้องมองอีกแบบและต้องเดินไปสู่เป้าหมาย Net Zero ควบคู่กับการสร้างผลกำไร จึงต้องมุ่งพัฒนาสินค้าที่ปลดปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด"

นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ปี 2567 เอสซีจี ได้เตรียมงบลงทุน 40,000 ล้านบาท และตั้งเป้ารายได้จากยอดขายโต 20% เพื่อผลักดันทุกกลุ่มธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว โดยสัดส่วนรายได้ธุรกิจเคมิคอลยังเป็นรายได้หลักมีสัดส่วนประมาณ 40% รองลงมาคือ ธุรกิจซีเมนต์และก่อสร้างกว่า 30% และธุรกิจแพคเกจจิ้งประมาณ 20% เป็นต้น

ทั้งนี้ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ และสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ต้องปรับตัว สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้แนวคิด Passion for Inclusive Green Growth ผ่าน 4 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่

1.องค์กรคล่องตัว ด้านธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพเติบโตสูงเพื่อขยายขีดความสามารถของแต่ละธุรกิจตอบสนองความต้องการลูกค้ายุคใหม่และความผันผวนของสถานการณ์โลก ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

2. เร่งพัฒนานวัตกรรม โซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นที่ต้องการสูงของตลาดโลก ให้ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสังคม Net Zero เช่น นวัตกรรมปูนคาร์บอนต่ำ สมาร์ทโซลูชันเพื่อการอยู่อาศัย พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่ใช้ซ้ำ รีไซเคิลได้ พลังงานสะอาดครบวงจร พร้อมขยายเข้าสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยระดับโลกเพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน อาทิ Norner AS ศูนย์วิจัยและพัฒนาพลาสติก ประเทศนอร์เวย์ และ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยตั้งเป้ารายได้จากนวัตกรรมรักษ์โลก SCG Green Choice 67% จากยอดขายทั้งหมด ภายในปี 2573 ซึ่งปีที่ผ่านมามียอดขายอยู่ที่ 54% พร้อมพัฒนากระบวนการผลิตคาร์บอนต่ำ ตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593 (Net Zero 2050)

3. องค์กรแห่งอนาคตสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เปิดโอกาสให้พนักงานปล่อยแสงสร้างสรรค์นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านโครงการสตาร์ทอัพในเอสซีจี อาทิ พัฒนาแพลตฟอร์มสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ Prompt Plus ยกระดับการบริหารจัดการต้นทุนและสต๊อกสินค้าให้แก่ร้านค้ารายย่อยกว่า 10,000 รายในเครือข่ายเอสซีจี การบ่มเพาะสตาร์ทอัพในโครงการ ZERO TO ONE by SCG สร้างโอกาสให้พนักงานก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ ปั้นธุรกิจศักยภาพสูงมากมาย เช่น Dezpax.com แพลตฟอร์มออนไลน์แพคเกจจิ้งครบวงจรรายแรกในไทย 

4. ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยกันผลักดันสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เพื่อเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จ ข้อจำกัดในการเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมการเกษตรคาร์บอนต่ำ รวมทั้งพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการ 50,000 คนในปี 2573 และร่วมกับชุมชนดูแลระบบนิเวศให้อุดมสมบูรณ์ ตั้งเป้าหมายการปลูกป่า 1.5 ล้านร่ในปี 2593 ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 2 ล้านตันต่อปี

"เงินลงทุนปีนี้ ในทุกธุรกิจที่จะผลักดันอุตสาหกรรมจะต้องทำให้เป็นกรีนและต้องได้เงิน ดังนั้น เทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงสำคัญ โดยจะต้องผสานนวัตกรรมจากคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าให้พร้อมเปิดรับเทคโนโลยีร่วมกันช่วยผลักดันกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นซัพพลายเชนให้เติบโตไปด้วยกัน" 

สำหรับประเด็นการลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยเพื่อผลักดันเป้าหมายประเทศสู่ Net Zero ปี 2065 นั้น ส่วนตัวมองว่าอีก 5-10 ปี ก็อาจจะไม่เกิด ดังนั้น เอสซีจี จะคงมุ่นมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้นวัตกรรมกรีนเข้ามาสนับสนุนเกษตรกรไทยจะเกิดประโยชน์มากกว่า เนื่องจากภูมิประเทศของไทยถือเป็นเมืองเกษตรกรรม มีทั้งแสงแดดและลม ดังนั้น ธุรกิจแพคเกจจิ้งจึงตอบโจทย์มากสุดโดยเอสซีจีมีการปลูกป่ายูคาลิปตัสเกิดประโยชน์ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ 

รวมถึงกรีนพอลิเมอร์ ถือเป็นเม็ดพลาสติกหมุนเวียนซึ่งเป็นโฮโมพอลิเมอร์ที่ผ่านการคิดค้นและพัฒนาจากเทคโนโลยีการรีไซเคิลขั้นสูง โดยพลาสติกใช้แล้วจะถูกเก็บกลับมาผ่านกระบวนการให้กลับกลายไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในรูปแบบเม็ดพลายสติกใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ เอสซีจี พร้อมทรานส์ฟอร์มโครงสร้างธุรกิจตามกลยุทธ์สร้างความคล่องตัว แข็งแกร่งและเติบโตระยะยาว เพื่อรับความท้าทายต่าง ๆ ให้ทันท่วงที จากวิกฤติต่าง ๆ ที่ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานและค่าขนส่งที่ผันผวน ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ผ่าน 6 ธุรกิจหลัก คือ 1. ธุรกิจเคมิคอลส์  2. ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน 3. ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง 4. ธุรกิจเอสซีจี ดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล 5. ธุรกิจเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ พลังงานสะอาดครบวงจร 6. ธุรกิจแพคเกจจิ้ง