"GEd"คือเทคโนโลยีใหม่ตัดส่วนด้อยเติมส่วนเด่นพืชผลิตอาหาร

"GEd"คือเทคโนโลยีใหม่ตัดส่วนด้อยเติมส่วนเด่นพืชผลิตอาหาร

การผลิตอาหารมาจากรากฐานการทำการเกษตรเป็นสำคัญ แต่"ภาวะโลกเดือด" กำลังทำให้ความสามารถด้านการเกษตรเผชิญ“ข้อจำกัด”อย่างด้าน ทั้งจำนวนที่ดิน สภาพอากาศแปรปรวน ทำให้“พืช”ที่จะทำการเพาะปลูกเพื่อผลิตอาหารต้องมีความเข้มแข็งมากพอที่จะเติบโตบนข้อจำกัดต่างๆให้ได้

Key Point 

  •  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งผลักดันส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Gene Editing( GEd) 
  • เทคโนโลยี GEd ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs และมีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในระยะยาว เทคโนโลยีGEd จะทำให้ไทยผลิตอาหารได้อย่างยั่งยืน 

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการสัมมนาวิชาการ “เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ในการแก้ปัญหาภาวะวิกฤติโลกเดือด และศัตรูพืชอุบัติใหม่” ว่า เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศไทย ซึ่งในภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วและรุนแรง ซึ่งสหประชาชาติ ได้ประกาศว่า “ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลง ยุคโลกเดือดมาถึงแล้ว” ซึ่งภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของศัตรูพืชอุบัติใหม่ที่สำคัญ อาทิ โรคใบด่างมันสำปะหลังโรคใบร่วงยางพารา ประกอบกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก

 

ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่และเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการยกระดับรายได้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี การนำเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่มีความปลอดภัยสูง คุ้มค่า พัฒนาได้รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ จึงมีความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงปัญหาภาวะวิกฤติดังกล่าว จึงเร่งผลักดันส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Gene Editing( GEd) ให้ก้าวทันบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การนำเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ Ged ในการแก้ไข หรือปรับแต่งยีนให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ต้านทานศัตรูพืช มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น ผลผลิตสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง ที่สำคัญเทคโนโลยี GEd ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs และมีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

\"GEd\"คือเทคโนโลยีใหม่ตัดส่วนด้อยเติมส่วนเด่นพืชผลิตอาหาร

 

โดยเทคโนโลยี GEd ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO),

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)  มี 13 ประเทศประกาศสนับสนุนในที่ประชุม องค์การการค้าโลก(WTO) ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GEd เชิงการค้าและการบริโภคร่วมกัน และกว่า 40 ประเทศทั่วโลก อาทิ

 แคนาดา สหรัฐบราซิล อาร์เจนตินา ชิลี ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฟิลิปปินส์ เคนยา รัสเซีย และออสเตรเลีย ประกาศใช้นโยบาย no transgene = not GMOs โดยถือว่าพืช GEd มีความปลอดภัยเช่นเดียวกับพืชปกติทั่วไป ที่สำคัญองค์กรนานาชาติ และประเทศต่าง ๆ เร่งลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี GEd เพื่อรองรับวิกฤตการณ์ความมั่นคงทางอาหารของโลก

จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุนการขับเคลื่อนเทคโนโลยี GEd และกำหนดท่าทีที่ชัดเจนของประเทศไทยในทิศทางเดียวกัน กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน รวมถึงเชิญผู้เชี่ยวชาญจาก FAO และประเทศต่าง ๆ อาทิ อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ร่วมผลักดันและสร้างความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์และเป็นรูปธรรม

ด้านระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เทคโนโลยี GEd แตกต่างกับ GMOs รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GEd ในประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับภาวะวิกฤตโลกเดือดและศัตรูพืชอุบัติใหม่ โดยกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อที่จะขับเคลื่อนเทคโนโลยี GEd อย่างเป็นรูปธรรม

เทคโนโลยีใหม่ ย่อมมาพร้อมกับโอกาสและความเสี่ยงที่ต้องใช้ความรู้เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจในวงกว้างว่า เทคโนโลยีอย่าง GEd จะสามารถทลายข้อจำกัดการผลิตอาหารหล่อเลี้ยงชาวโลกได้มากขึ้นและมีคุณภาพขึ้น ซึ่งไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากโลกเดือด ตามข้อมูลรายงานความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก ปี 2564 พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 9ของกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ดังนั้น การรับเทคโนโลยีใหม่และใช้ให้เป็นจึงเป็นการจัดวางบริบทให้ประเทศไทยในอยู่ในสถานะผู้ผลิตอาหารของโลกอย่างยั่งยืนได้ต่อไป