“CBAM” ส่อขยายวงใช้ในหลายประเทศ เอกชนหา “เกณฑ์กลาง” ห่วงถูกบังคับใช้

“CBAM” ส่อขยายวงใช้ในหลายประเทศ  เอกชนหา “เกณฑ์กลาง” ห่วงถูกบังคับใช้

ภาวะโลกร้อน จนกลายเป็นโลกเดือดในขณะนี้ กำลังส่งพลังทำลายล้างมาถึงภาคธุรกิจการค้า นำไปสู่ข้อกำหนดทางการค้าด้านต่างๆ ที่กำลังทดลองใช้ และจะใช้จริงจังเร็วๆ นี้ก็คือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป (อียู)

โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า มาตรการ CBAM กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่  เหล็ก และเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และ ไฮโดรเจน ต้องแจ้งปริมาณสินค้าที่นำเข้ามาในอียู และปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้านั้น

ในช่วง 3 ปีแรก (ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2566 - 31 ธ.ค.2568) เป็นระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องแจ้งข้อมูลย้อนหลังทุกไตรมาส (เช่น ในเดือนม.ค.2567 จะต้องแจ้งข้อมูลของช่วงระหว่าง 1 ต.ค.2566 - ธ.ค. 2566)

      ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2569 ให้แจ้งข้อมูลย้อนหลังทุกปี และอียูจะเริ่มมาตรการบังคับที่กำหนดให้ ผู้นำเข้าต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น และในอนาคต EU จะขยายขอบเขตให้ครอบคลุมสินค้าต่างๆ มากขึ้น เช่น สินค้าเคมีภัณฑ์อินทรีย์ และพลาสติก

    นอกจาก อียูแล้ว มาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะมีอีกหลายประเทศนำมาใช้ด้วย ได้แก่  สหรัฐ ที่เมื่อเดือนก.ค.2564 และมิ.ย.2565 มีสมาชิกรัฐสภา และวุฒิสภา ได้เสนอร่างกฎหมาย FAIR Transition and Competition Act (FTCA) และ Clean Competition Act (CCA) ตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง เช่น เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเลียม อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ

สหราชอาณาจักร หลังจากได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะเมื่อเดือนมี.ค.- มิ.ย.2566 รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศว่าจะเริ่มใช้มาตรการ CBAM ภายในปี 2570 โดยในเบื้องต้น จะบังคับใช้กับสินค้าในกลุ่มเหล็ก และเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ เซรามิก ปุ๋ย กระจก และไฮโดรเจน โดยจะเริ่มต้นกระบวนการปรึกษาหารือเกี่ยวกับรายละเอียดของมาตรการในปี 2567 ต่อไป

แคนาดา เมื่อเดือนส.ค.2564 - ม.ค.2565 กระทรวงการคลัง และกระทรวงสิ่งแวดล้อมของแคนาดาได้เริ่มกระบวนการปรึกษาหารือภายในประเทศเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม

ออสเตรเลีย เมื่อเดือนก.ย.2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน ประกาศว่าจะเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการ CBAM โดยอาจเริ่มต้นกับ 2 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กกล้า และซีเมนต์ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายให้จัดทำรายงานผลการพิจารณาเรื่องนี้ภายในไตรมาส 3 ของปี 2567

“CBAM” ส่อขยายวงใช้ในหลายประเทศ  เอกชนหา “เกณฑ์กลาง” ห่วงถูกบังคับใช้

“การเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการ CBAM และข้อแนะนำกับผู้ประกอบการไทย ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามความคืบหน้า และรายงานข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการ CBAM ให้ภาคเอกชนทราบเป็นระยะ”

   ปัจจุบัน กฎระเบียบ CBAM ของอียู ยังขาดรายละเอียดในทางปฏิบัติในอีกหลายประเด็น เช่น การรับรองผู้ทวนสอบ (verify) ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคาดว่า ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน จนถึงก่อนที่จะบังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2569 อียูคงจะต้องเผยแพร่กฎหมายลำดับรองในเรื่องต่างๆ เพิ่มเติมอีก ซึ่งจะต้องติดตามพัฒนาการในเรื่องนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด

 วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูป และอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย กล่าวว่า การใช้ CBAM จะมีช่วงเปลี่ยนผ่านอยู่ 2 ปี ในตอนนี้สินค้าที่อยู่ในรายการสามารถขายได้ปกติ แต่ต้องมีการระบุที่มาที่ไปของสินค้า อย่างกระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนมีปริมาณมาก-น้อยเท่าไร ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น

 “โดยกิจการที่เกี่ยวข้องกำลังหามาตรการกลางที่จะใช้ร่วมกัน อย่างตัวเลขในการปล่อยคาร์บอนถ้ามีการปรับปรุงการผลิตไม่ให้ปล่อยคาร์บอนเกินกว่าปริมาณที่กำหนดควรอยู่ที่เท่าไรมีการปรับอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องมีการพูดคุยเจรจาให้มีมาตรฐานระดับโลกอย่างแท้จริง”

เบื้องต้นบริษัทฝั่งยุโรปที่เป็นเอกชนทำมาตรฐาน เพื่อหาภาพรวมจากหลากหลายประเทศทั่วโลกว่ามีวิธีการอย่างไรเพื่อนำมาใช้เป็นมาตรฐานก่อนนำไปใช้ในทั่วโลกเพื่อให้เกิดเสถียรภาพการใช้งานได้จริงต่อไป 

CBAM อาจเป็นเหมือนสัญญาณเตือนให้โลกการค้ารู้ว่า การเปลี่ยนแปลงกำลังเคาะประตูเพื่อให้เปิดรับการปรับตัวใหม่ในอีกความท้าทายที่ว่าด้วยเรื่องการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผู้ประกอบการไทยต้องเข้าใจ และรู้เท่าทัน 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์