จะเป็นอย่างไร เมื่อสารตกค้างจาก ‘ครีมกันแดด’ ปนเปื้อน ‘หิมะขั้วโลก’ ?

จะเป็นอย่างไร เมื่อสารตกค้างจาก ‘ครีมกันแดด’ ปนเปื้อน ‘หิมะขั้วโลก’ ?

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมยังน่าเป็นห่วงอย่างต่อเนื่อง หลังมีงานวิจัยระบุว่าพบสารจาก “ครีมกันแดด” ปนเปื้อนอยู่ใน “หิมะขั้วโลกเหนือ” ทั้งที่ในจุดที่เก็บตัวอย่างได้นั้น ไม่มีผู้คน และไม่มีแสงแดดส่องถึง

สารเคมีปนเปื้อนในหิมะ” อาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีรายงานการค้นพบสารปนเปื้อนในหิมะมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะมาจากไมโครพลาสติกหรือคาร์บอน แต่ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีตัวการใหม่ที่ทำให้หิมะใน “ขั้วโลกเหนือ” เกิดการปนเปื้อน  นั่นก็คือ “ครีมกันแดด” ที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้นคือ เมื่อตรวจสอบที่มาของสารเหล่านั้นแล้วกลับพบว่า พวกมันไม่ได้อยู่ที่ขั้วโลกเหนือมาตั้งแต่แรก แต่เดินทางมาจากที่อื่น

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยกาฟอสการี, สถาบันขั้วโลกวิทยา, สภาวิจัยแห่งชาติอิตาลี และศูนย์มหาวิทยาลัยในสฟาลบาร์ (UNIS) เปิดเผยผ่านการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Science of the Total Environment ว่า จากการติดตามสารเคมีที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายว่าพวกมันสามารถแพร่กระจายไปแถบอาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือได้บ้างหรือไม่ ด้วยการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เม.ย. - พ.ค.2021 โดยการเก็บตัวอย่างจากธารน้ำแข็ง 5 แห่งในคาบสมุทรบรอกเกอร์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ที่อยู่ห่างไกลหรือใกล้ชิดกับชุมชน ก็พบว่ามีสารจาก “ครีมกันแดด” ปนเปื้อนอยู่ในหิมะ

ผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่า มีสารประกอบจากผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายกระจายอยู่หลายจุด ส่วนมากคือ สารประเภทน้ำหอม และตัวกรองรังสียูวีที่อยู่ในครีมกันแดด

มาริอันนา ดามิโก (Marianna D'Amico) นักศึกษาปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์ขั้วโลกจากมหาวิทยาลัยกาฟอสการี ในฐานะผู้เริ่มต้นงานวิจัยในครั้งนี้ระบุว่า จากการวิเคราะห์สารปนเปื้อนจำนวนมาก เช่น Benzophenone-3, Octocrylene, Ethylhexyl Methoxycinnamate และ Ethylhexyl Salicylate พบว่าพวกมันไม่เคยมีบันทึกไว้ก่อนหน้านี้เลยว่าเป็นสารปนเปื้อนในหิมะขั้วโลกเหนือ จึงต้องวิเคราะห์ต่อว่าจะทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ทีมงานของมหาวิทยาลัยกาฟอสการียังอธิบายเพิ่มเติมว่า สารปนเปื้อนในพื้นที่ห่างไกลอย่าง “ขั้วโลกเหนือ” ที่พบเห็นได้ครั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่าเมื่อฤดูหนาวสิ้นสุดลง มวลอากาศที่ปนเปื้อนจากพื้นที่อื่นก็จะเคลื่อนย้ายมาสู่บริเวณขั้วโลกได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนก็คือ สารที่ทำหน้าที่กรองรังสียูวีในครีมกันแดดกลับถูกค้นพบบริเวณ “คาบสมุทรบรอกเกอร์” ในจุดที่ไม่มีแดดส่องถึง ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องใช้ครีมกันแดด

ท้ายที่สุดนี้แม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้จะยังเป็นเพียงแค่ข้อมูลเบื้องต้น แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่พอสมควร โดยนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจำเป็นต้องหาคำตอบอย่างละเอียดว่า สารปนเปื้อนจากครีมกันแดดที่พบในหิมะขั้วโลกเหนือนั้น ส่วนใหญ่มาจากไหนกันแน่? และจะส่งผลเสียตามมาอย่างไรในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เนื่องจากสภาพภูมิอากาศในแถบขั้วโลกเหนือเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่อื่นทั่วโลกถึง 4 เท่า

อ้างอิงข้อมูล : Eurek Alert และ IFL science

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์