"ความยั่งยืนกับการค้า" เมื่อกติกาบอกว่า"ต้องทำทันที"

"ความยั่งยืนกับการค้า" เมื่อกติกาบอกว่า"ต้องทำทันที"

ญี่ปุ่นกำลังดำเนินโครงการนำร่องติดฉลากลดก๊าซเรือนกระจกในสินค้าเกษตรกลุ่มผักและผลไม้สดเพื่อสื่อสารความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกของเกษตรกรและผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคโดยคาดว่าจะใช้ระบบการติดฉลากลดก๊าซเรือนกระจกในสินค้าเกษตรอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนเม.ย. 2567

นี่คือข้อมูลจากการติดตามสถานการณ์การค้าที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ นำมาเล่าสู่กันฟัง โดยข้อมูลยังบ่งชี้อีกว่า ญี่ปุ่นมีแผนจะขยายกลุ่มสินค้าให้ครอบคลุมกลุ่มปศุสัตว์ ได้แก่ โคนม โคเนื้อ และสุกร ด้วย

ปัจจุบันตลาดคู่ค้าที่สำคัญของไทยกำลังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ จึงควรปรับปรุงการเพาะปลูกและกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยควรเริ่มเก็บข้อมูลการเพาะปลูกเพื่อคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขอรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพื่อเป็นข้อมูลให้กับตลาดคู่ค้าที่ให้ความสำคัญและต้องการสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

สอดคล้องกับกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเทศผู้นำเข้ากำหนดมาตรการการค้าออกมาเพื่อให้ผู้ส่งออกสินค้าต้องปฏิบัติเพราะเป็นกติกาที่ต้องทำตามเนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ส่งออก ก่อนหน้านี้มาตรการที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นเรื่องสุขอนามัย คุณภาพมาตรฐาน สวัสดิภาพสัตว์ มาตรฐานแรงงาน การค้ามนุษย์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวก็อาจมีเรื่องของการกีดกันทางการค้าแฝงมาด้วย แต่ปัจจุบันมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมก็เริ่มออกมามากขึ้นในทุกปีๆส่วนหนึ่งก็เพราะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ(climate change) 

ทั้งนี้มาตรการที่ออกมาต้องไม่เลือกปฏิบัติต่างกันระหว่างการบังคับใช้ต่อสินค้าในประเทศและต่างประเทศด้วย และต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในเรื่อง climate change ไม่ใช่นำมาเพื่อเป็นมาตรการกีดดันทางการค้าและต้องคำนึงถึงบริบทของแต่ละประเทศด้วย ซึ่งหากมาตรการดังกล่าวไม่เป็นธรรมก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องเข้าไปชี้แจง

\"ความยั่งยืนกับการค้า\" เมื่อกติกาบอกว่า\"ต้องทำทันที\"

สำหรับสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่เฉพาะซีแบมเท่านั้น คือ 1.การปรับตัว โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการนำโมเดลBCG ไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้า ซึ่งเข้ากับเทรนด์ของโลกและสอดคล้องกับกติกาการค้าของโลกใหม่ 2.เตรียมพร้อมในด้านข้อมูล เช่น เรื่องการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นต์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ แหล่งที่มาของวัตถุดิบ การตรวจสอบย้อนกลับ เป็นต้น 3.ใช้ความพยายามเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นจุดขายเพื่อช่วยดึงดูดผู้บริโภค พร้อมทั้งติดตามข่าวสาร กติกาการค้าใหม่ ๆ

“เราไม่รู้ว่าอีก 5 ปี 10 ปี จะมีมาตรการใดๆออกมาอีก ดังนั้นอย่าคิดว่ากติกาใหม่เป็นปัญหาและอุปสรรค แต่มันเป็นเกมส์ที่เราต้องเล่น เพราะต้องค้าขายกับทั่วโลก แต่ขอให้มองเป็นโอกาส อย่าไปกลัว ที่จะเจอกติกาใหม่ เราต้องรู้ สุดท้ายเราก็ต้องอยู่ให้ได้ในเวทีโลก โดยเฉพาะกติกาด้านสิ่งแวดล้อมที่ออกมาเพื่อโลกเพราะหากเราไม่ทำเราก็จะเจอสภาพแวดล้อมที่ลำบาก"

เมื่อกติกาในเกมส์การค้าบอกว่า ความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นสิ่งที่ต้องปฎิบัติตาม การเข้าใจและปรับตัวทันทีจะช่วยให้ข้อบังคับกลายเป็นแต้มต่อในสนามแข่งขันทางการค้าได้