EXIM BANK เผยแผนปีหน้าออกบลูบอนด์ 5 พันล้าน หนุนธุรกิจรับ ESG

EXIM BANK เผยแผนปีหน้าออกบลูบอนด์ 5 พันล้าน หนุนธุรกิจรับ ESG

EXIM BANK เผยแผนปีหน้าออกบลูบอนด์ 5 พันล้าน หนุนธุรกิจรับ ESG ตั้งเป้าเพิ่มพอร์ตสินเชื่อสีเขียวเป็น 50% ภายในปี 71 พร้อมแนะภาคการเงินควรร่วมมือด้านการเงินต้นทุนต่ำแก่ธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)กล่าวในเวทีสัมมนา SUSTAINABILITY FORUM 2024 จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ หัวข้อ Sustainable Finance ถอดสูตรการเงิน สู่ความยั่งยืน ว่า ในมุมของสถาบันการเงินที่จะช่วยสนับสนุนทิศทาง ESG คือ การระดมทุน และการปล่อยสินเชื่อด้วยการสร้างกลไกให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารก็ได้ออกกรีนบอนด์ เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อธุรกิจสีเขียวให้ต้นทุนของผู้ประกอบธุรกิจต่ำลงเรื่อยๆ ภายใต้หลักการที่ว่า เมื่อคนตัวใหญ่ได้ต้นทุนการเงินที่ถูก คนตัวเล็กก็ต้องได้ต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงเช่นเดียวกัน

เขาเห็นว่า ในระยะต่อไป การระดมทุนจะไม่ได้มุ่งไปที่กรีนบอนด์เท่านั้น แต่จะพัฒนาไปยังบลูบอนด์คือ บอนด์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยในปีหน้า ธนาคารมีแผนจะระดมทุนผ่านบลูบอนด์จำนวน 5 พันล้านบาท จะส่งผลให้ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อสีเขียวเป็น 6.6 หมื่นล้านบาท หรือ 45% ของพอร์ตสินเชื่อกว่า 1.8 แสนล้านบาท และตั้งเป้าว่า ภายในปี 2571 พอร์ตสินเชื่อสีเขียวจะขยับเป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่า เครื่องมือทางการเงินที่เกี่ยวกับธุรกิจสีเขียวหรือสีฟ้ายังมีไม่เพียงพอ จึงอยากขอให้ภาคเอกชน และภาคการเงินช่วยกัน เพราะสิ่งที่ออกมาช่วยกันทำให้มีซัพพลายทางการเงินตลาดสีเขียวมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าจะได้รับต้นทุนที่ต่ำลง

แม้เราพยายามแค่ไหน จำนวนความต้องการของโลกที่จะใช้กรีนไฟแนนซ์ เพื่อคุมไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส มีปริมาณสูงกว่าสิ่งที่ซัพพลายในวันนี้มากถึง 6 เท่า หมายความว่าผลิตภัณฑ์ในการออกกรีนบอนด์ กรีนโลน รวมทั้ง บลูบอนด์นั้น จะออกมายังไงก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดปัจจุบัน เชื่อว่า ทุกคนในวันนี้อยากจะเดินหน้าสู่โลกสีเขียว เราจะต้องช่วยกันมากขึ้นกว่าเดิมถึง 6 เท่า”

ทั้งนี้ ธนาคารได้ปรับสมการ การให้สินเชื่อ และการระดมทุนใหม่ให้สอดคล้องกับธุรกิจยุคใหม่ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อของธนาคารไม่ได้ดูเพียงกระแสเงินสดของบริษัทเท่านั้น แต่ยังดูถึงเรื่องการจ้างแรงงาน รวมทั้ง การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทที่ทำดีมากๆ ธนาคารจะให้สินเชื่อกรีนสตาร์ต ที่ออกมาช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเอสเอ็มอีที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีการดูแลชุมชน แม่น้ำ หรือลำคลองได้ดี จะได้รับการลดอัตราดอกเบี้ย 0.25%

เขาย้ำว่า ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนของไทยต้องร่วมมือกันสร้างบุญใหม่กลบกรรมเก่า เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งขออธิบายง่ายๆ ในภาษาพุทธศาสตร์ว่า ที่เราทำมาในอดีต ถือเป็นกรรมเก่า ต่อไป เราต้องสร้างกรรมดี เพื่อกลบกรรมเก่า ที่สามารถทำได้ด้วยตัวของคุณเอง กล่าวคือ หากต้องการให้การปล่อยคาร์บอนจากในอดีต เหลือศูนย์ เราสามารถสร้างกรรมดีได้ด้วยการซื้อคาร์บอนจากชาวบ้าน แต่หากต้องการเป็น NET ZERO เราต้องปลูกป่า ปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต จากเดิมที่อาจจะใช้เครื่องจักรที่ไม่ทันสมัย ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องผู้ประกอบการต้องเข้าใจ เพราะการนำงบดุลย้อนหลังมาโชว์ 3-5 ปี แต่มีตัวเลขสีเขียวอันดับสุดท้าย ธนาคารก็ไม่ได้มีการพิจารณาปล่อยสินเชื่อเป็นหลักอีกแล้ว เราจะพิจารณาการปล่อยสินเชื่อจาก DNA ของธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ธนาคารได้เป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์ของหลายบริษัทในไทย เพื่อช่วยสนับสนุนไปสู่การเป็นบริษัทเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเรามี KPI ในการตรวจวัดบริษัทเหล่านี้ เช่น เรือด่วนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา และธนาคารก็ได้เดินหน้าทำโซล่าฟาร์มตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ธนาคารเดินทางมาตลอด ทำให้เราเป็นหนึ่งในผู้นำอาเซียนเรื่องพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นการสร้าง DNA ให้กับเราด้วย

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์