นวัตกรรม-ซอฟท์พาวเวอร์ เพิ่มมูลค่าข้าว จบปมรายได้ต่ำเหลื่อมล้ำไร้ทางรวย

นวัตกรรม-ซอฟท์พาวเวอร์ เพิ่มมูลค่าข้าว จบปมรายได้ต่ำเหลื่อมล้ำไร้ทางรวย

การต่อยอดข้าวไทยหลังจากนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเป็นอาหารเท่านั้น แต่ by-product ผลผลิตพลอยได้ทุกอย่างต้องนำมาใช้ประโยชน์ ที่สำคัญต้องสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ด้วย จึงจะเป็นทางรอดของชาวนาที่มีรายได้จากการขายผลผลิตเพียงปีละเพียง 1 ครั้ง

อานนท์ นนทรีย์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ต้นทุนการผลิตข้าวของไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 5,000 บาทต่อไร่ เมื่อเทียบกับราคาข้าวที่ขายได้ประมาณตันละ 1.2-1.5 หมื่นบาทต่อตัน โดยเฉลี่ยแล้ว เกษตรกรจะมีกำไรสุทธิประมาณ ไร่ละ 3,000 บาทเท่านั้น ในกรณีที่เกษตรกรทำนาได้ครั้งเดียว ปีละ 10 ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้หลักเพียง 30,000 บาทเท่านั้น ซึ่งน้อยมากไม่เพียงพอที่จะใช้ได้ตลอดทั้งปี

 

นวัตกรรม-ซอฟท์พาวเวอร์ เพิ่มมูลค่าข้าว จบปมรายได้ต่ำเหลื่อมล้ำไร้ทางรวย

ดังนั้น กรมการข้าวจึงมีนโยบายที่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าว ทั้งกับเมล็ดข้าว รำ แกลบ ฟาง เป็นต้น พัฒนากระบวนการผลิตข้าว เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ การพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น มีสารต้านอนูลอิสระ แอนโทไซยานิน ที่มีอยู่ในข้าวสี เช่น ข้าวทับทิมชุมแพ หรือข้าวมะลินิลสุรินทร์ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์โภชนเภสัช หรืออาหารเสริม

การพัฒนาอาหารและเครื่องดื่มที่มีวัตถุดิบจากข้าว เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สาโท หรือ เบียร์จากข้าวไทย) รวมถึงการนำข้าวและวัสดุเหลือใช้จากข้าวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมูลค่าสูง เช่น การนำน้ำมันรำข้าวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และการนำสารให้กลิ่นต่างๆที่มีอยู่ในข้าว มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องหอม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ข้าวมีมูลค่าที่สูงขึ้น โดยเทคโนโลยีเหล่านี้จะเห็นได้ในงาน  Thailand Rice Fest 2023 ที่จะมีขึ้น ในวันที่ 14-17 ธ.ค.นี้ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นวัตกรรม-ซอฟท์พาวเวอร์ เพิ่มมูลค่าข้าว จบปมรายได้ต่ำเหลื่อมล้ำไร้ทางรวย นวัตกรรม-ซอฟท์พาวเวอร์ เพิ่มมูลค่าข้าว จบปมรายได้ต่ำเหลื่อมล้ำไร้ทางรวย

“เทคโนโลยีปัจจุบันมีความก้าวหน้ามาก สามารถที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการต่อยอดข้าวไทยได้อย่างหลากหลาย โดยเมื่อเร็วๆนี้กรมการข้าวได้ร่วมกับบริษัท ปุริ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านเครื่องสำอางของไทย และบริษัทไทย สพิริท อินดัสทรี จำกัด (TSI) ในการพัฒนาน้ำหอมจากข้าว หากสำเร็จจะช่วยเพิ่มมูลค่าข้าวของไทยได้อีกมาก”

ในขณะที่กรมการข้าวจะร่วมกับกรมชลประทานเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรในแถบภาคกลาง ปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ลดการปล่อยน้ำขัง เพื่อลดก๊าซมีเทน ผลผลิตข้าวที่ได้ กรมการข้าวให้การรับรองเป็นข้าวคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมาก โดยเฉพาะออสเตรเลีย ที่แต่ละปีต้องการนำเข้าข้าวมากถึง 1 ล้านตัน แต่ที่ผ่านมานำเข้าจากไทยน้อย เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม หากกรมการข้าวสามารถรับรองข้าวคาร์บอนต่ำได้ ทางออสเตรเลียยินดีที่จะรับซื้ออย่างไม่จำกัดปริมาณ และให้ราคาที่สูงกว่า

“ ทางกรมการข้าวให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยทางด้านอาหาร ดังนั้นจึงจะออกมาตรการรับรอง ข้าวพรีเมี่ยมขึ้น เช่นข้าวอินทรีย์ ข้าวคาร์บอนต่ำ ข้าวที่ได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) การผลักดันข้าวพรีเมี่ยมให้เป็นที่รู้จัก โดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขึ้นทะเบียนข้าวGI ในต่างประเทศ การสนับสนุนการขอรับรองมาตรฐานต่างประเทศ เช่น EU Organic ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อให้สามารถส่งออกข้าวไปขายในราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีคุณสมบัติเฉพาะให้สามารถแข่งขันในตลาดพรีเมี่ยมได้ “

อานนท์ กล่าวว่า การพัฒนาข้าวตามนโยบายต่างๆ จะช่วยผลักดันข้าวไทยให้เกิดเป็น Soft Power เป็นการประชาสัมพันธ์ข้าวไทยและอาหารไทยให้เป็นที่รู้จัก ผ่านสื่อในช่องทางต่างๆ เช่น ภาพยนต์ ซีรีย์ หรือสื่อออนไลน์ (Youtube หรือ Tik-tok) เผยแพร่วัฒนธรรมด้านอาหารให้แก่ชาวต่างชาติ ให้ความรู้ผู้บริโภคในการทำอาหารไทย การเลือกวัตถุดิบข้าว รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยการผลักดันเครื่องหมายรับรองต่างๆ เช่น เครื่องหมาย Thai SELECT Organic Thailand หรือ ข้าวพันธุ์แท้ ให้เป็นที่รับรู้และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในต่างประเทศ ซึ่งส่วนตัวแล้วข้าวไทยไม่เป็นรองข้าวใดๆในโลกนี้

 

สำหรับภาพรวมในปี 2566 ในด้านการผลิตปริมาณข้าวเปลือกลดลงอยู่ที่ 32.35 ล้านตัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำ ทำให้บางพื้นที่สามารถปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

หนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางสังคมและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งแผนพัฒนาผลผลิตภัณฑ์ข้าวจะเป็นอีกช่องทางที่จะเพิ่มรายได้และลดความเหลื่อมล้ำผ่านการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และ ซอฟท์พาวเวอร์