S&P คาด 'ตลาดเชื้อเพลิง SAF' โตสูงสุด 2.1 ล้านบาร์เรล/วัน กลางทศวรรษ 2050

S&P คาด 'ตลาดเชื้อเพลิง SAF' โตสูงสุด 2.1 ล้านบาร์เรล/วัน กลางทศวรรษ 2050

“จี ยาง ลุม” รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเชื้อเพลิงชีวภาพและการวิเคราะห์จาก S&P Global Commodity Insights คาดว่าความต้องการเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (เอสเอเอฟ) เติบโตสูงสุดในช่วงกลางทศวรรษ 2050 สู่ระดับประมาณ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

กลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนา Bangchak Group Greenovative Forum ครั้งที่ 13 “Regenerative Fuels: Sustainable Mobility” เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2566 เพื่อนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อลดการปล่อยก๊าซ

“จี ยาง ลุม” รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเชื้อเพลิงชีวภาพและการวิเคราะห์จาก S&P Global Commodity Insights กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพของโลกยังเติบโตไม่ค่อยมาก เพราะมีความท้าทายมากมายทั้งด้านแหล่งวัตถุดิบ และการแข่งขันใช้รถยนต์ไฟฟ้าในภาคขนส่ง โดยความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพจะโตสูงสุดช่วงกลางทศวรรษ 2030 จากนั้นจะเริ่มลดลง

อย่างไรก็ดี ความต้องการเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (เอสเอเอฟ) คาดว่าจะเติบโตสูงสุดในช่วงกลางทศวรรษ 2050 สู่ระดับประมาณ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

การใช้เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน สหภาพยุโรป (อียู) ต้องการบรรลุเติมเชื้อเพลิงยั่งยืนในเครื่องบินในสัดส่วน 70% ภายในปี 2593 และมีข้อกำหนดเฉพาะคือ ห้ามใช้น้ำมันถั่วเหลืองไปผลิตเชื้อเพลิงยั่งยืน จึงอาจต้องใช้น้ำมันหมูหรือน้ำมันปาล์มแทน เป็นต้น ขณะที่สหรัฐตั้งเป้าบรรลุใช้เชื้อเพลิงยั่งยืนในเครื่องบิน 35% ภายในปี 2573 ซึ่งเอสแอนด์พีคาดว่า เชื้อเพลิงที่ใช้ส่วนใหญ่อาจเป็นน้ำมันถั่วเหลือง และสหรัฐอาจสามารถดึงดูดให้คนหันมาใช้เชื้อเพลิงยั่งยืนมากขึ้น เพราะมีการลดหย่อนภาษีเชื้อเพลิงยั่งยืนและเชื้อเพลิงชีวภาพ

ในทางกลับกันการใช้เชื้อเพลิงยั่งยืนด้านการบินในเอเชียค่อนข้างเงียบเหงา มีเพียงญี่ปุ่นที่ประกาศเคลื่อนไหวมากที่สุด โดยตั้งเป้าใช้เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน 10% ภายในปี 2573 อย่างไรก็ดี ยังมีสมาคมสายการบินเอเชียแปซิฟิก (The Association of Asia Pacific Airlines) ที่มีทั้งสายการบินไทย และสายการบินสิงคโปร์ ได้ประกาศแผนใช้เชื้อเพลิงยั่งยืนในเครื่องบิน 5% ภายในปี 2573

ทั้งนี ในอียูเริ่มมีการวิจัยและพัฒนา รวมถึงปรับใช้เชื้อเพลิงการบินยั่งยืนมากขึ้นแล้ว ขณะที่บางรัฐของสหรัฐที่มีการลดหย่อนภาษีเชื้อเพลิงยั่งยืน เริ่มใช้เอสเอเฟและปรับใช้เอสเอเอฟแบบผสมผสานมากขึ้นเช่นกัน ส่วนในเอเชีย มีประเทศจีนที่ใช้น้ำมันสังเคราะห์จากพืชในหลายพื้นที่มากกว่าประเทศอื่น ๆ

ในตอนท้าย จีเผยสิ่งที่น่ากังวล 2 อย่างคือ เอสแอนด์พีคาดว่าความต้องการเอสเอเอฟอาจมากกว่าอุปทานตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป และราคาวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงอาจแพงขึ้นในอนาคต หากตลาดต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น แต่อาจมีเชื้อเพลิงยั่งยืนบางชนิดมาทดแทนได้