อึ้ง! ‘อัลบั้ม K-POP’ ใช้พลาสติกผลิตปีละเกือบพันล้านตัน

อึ้ง! ‘อัลบั้ม K-POP’ ใช้พลาสติกผลิตปีละเกือบพันล้านตัน

“ขยะพลาสติก” จากอุตสาหกรรม “K-POP” กำลังเป็นปัญหาใหญ่! หลังพบข้อมูลว่า ใช้ “พลาสติก” มากถึง 800 ตัน ในการผลิต นำมาสู่แคมเปญ "No K-pop on a Dead Planet" ไม่มี K-POP ในโลกที่ตายแล้ว!

วงการ K-POP ยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีนี้ศิลปินหลายวงทำยอดขายทะลุล้านชุดกันเป็นว่าเล่น ในแง่หนึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าศิลปิน K-POP ประสบความสำเร็จในระดับโลก แต่ขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์ของ “อัลบั้ม” เหล่านี้ใช้พลาสติกเกือบพันล้านตันต่อปี ซึ่งอาจก่อให้เกิดขยะพลาสติกเป็นจำนวนมาก

ตามข้อมูลที่ อู วอนชิก สมาชิกพรรคประชาธิปไตยเกาหลี (DPK) ได้รับจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม ระบุว่าในปี 2565 อุตสาหกรรม K-POP ใช้พลาสติก 801.5 ตันในปีที่แล้ว สำหรับผลิตอัลบั้มแบบแผ่น ซึ่งรวมถึงบรรจุภัณฑ์ แผ่นซีดี และการ์ดรูปถ่าย ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 14 เท่าจาก 55.8 ตันในปี 2560

แต่ดูเหมือนว่าตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ใช่จำนวนพลาสติกที่แท้จริงในการผลิตสินค้า K-POP เพราะเมื่อพิจารณาจากยอดขายอัลบั้มทั้งหมดในปีที่แล้ว ตามรายงานของ Circle Chart ชาร์ตจัดอันดับเพลง และอัลบั้มยอดนิยมในเกาหลีใต้ เปิดเผยว่าในปี 2565 อัลบั้ม K-POP ขายได้มากกว่า 74.2 ล้านชุดทั่วประเทศ โดยแผ่นซีดีหนึ่งแผ่นมีน้ำหนัก 18 กรัม เพราะฉะนั้นจะต้องใช้พลาสติกอย่างน้อย 1,395 ตัน สำหรับการผลิตแผ่นซีดีอย่างเดียว ไม่รวมบรรจุภัณฑ์ และสินค้าอื่นๆ 

ขณะที่รายงานการจัดการเพื่อความยั่งยืนของ HYBE Corporation ค่ายต้นสังกัดของวงบอยแบนด์ BTS ที่เผยแพร่เมื่อเดือนก.ค.2566 ระบุว่า ในปีที่แล้วบริษัทใช้พลาสติกถึง 894.6 ตันจากการผลิตอัลบั้มและบรรจุภัณฑ์

เนื่องด้วยการใช้พลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้วอนชิก ในฐานะตัวแทนของฝ่ายค้าน ต้องการให้บริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรม K-POP จ่ายค่าชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการใช้พลาสติกจำนวนมาก

  • แฟนคลับตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

อัลบั้มของศิลปิน K-POP ในปัจจุบันมักจะทำออกมาหลายเวอร์ชันให้แฟนคลับได้เลือกซื้อ ซึ่งแต่ละแบบก็เต็มไปด้วยไอเทมพิเศษมากมาย เช่น โฟโต้การ์ดศิลปิน โปสเตอร์ โปสการ์ด และสติกเกอร์ตามแต่ละคอนเซปต์ของแต่ละเวอร์ชัน แถมของเกือบทุกอย่างมาในรูปแบบการสุ่ม ดังนั้นแฟนคลับศิลปินกลุ่มจึงต้องซื้ออัลบั้มจำนวนมากเพื่อให้ได้การ์ดของเมนตนเอง (และไม่ได้การันตีว่าซื้อเยอะแล้วจะได้โฟโต้การ์ดเมนตัวเองครบ หรือได้การ์ดซ้ำ)

แฟนคลับศิลปิน K-POP ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตอัลบั้ม K-POP และรวมตัวกันจัดตั้งโครงการ “Kpop4Planet” ขึ้นเพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

พัค จิน-ฮุย ตัวแทน Kpop4Planet กล่าวกับ The Korea Times ว่า แฟนคลับมักจะซื้ออัลบั้มคนละหลายสิบถึงร้อยอัลบั้ม เพื่อเพิ่มยอดขาย และหวังให้ศิลปินที่ตนเองรักชนะถ้วยรางวัลในรายการเพลง ขณะที่บางคนสะสม “โฟโต้การ์ด” ของศิลปินที่แถมมากับอัลบั้ม รวมถึงหวังลุ้นเป็นผู้โชคดีเข้ากิจกรรมแจกลายเซ็น หรือที่เรียกว่า แฟรนไชส์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์กระตุ้นยอดขายของค่ายเพลง ที่ใช้ประโยชน์จากความรักของแฟนๆ เพื่อให้ได้รายได้เข้ากระเป๋ามากที่สุด และทำให้เกิดการผลิตขยะพลาสติกจำนวนมาก

อึ้ง! ‘อัลบั้ม K-POP’ ใช้พลาสติกผลิตปีละเกือบพันล้านตัน

อัลบั้ม K-POP ที่ถูกทิ้งรวมในกองขยะ

Kpop4Planet เปิดตัวแคมเปญ "No K-pop on a Dead Planet" (ไม่มี K-POP ในโลกที่ตายแล้ว) หวังให้อุตสาหกรรมเพลงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพราะเหล่าแฟนคลับตระหนักดีว่าพวกเขาต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท้ายที่สุดแล้วอัลบั้ม “ส่วนเกิน” ที่ซื้อมาจะกลายเป็น “ขยะ” 

ที่ผ่านมามักมีคนแชร์ภาพอัลบั้มเพลง K-POP ถูกทิ้งตามถังขยะเป็นจำนวนมาก ซึ่ง Kpop4Planet เคยเก็บรวบรวมอัลบั้มที่ถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะได้มากกว่า 8,000 ชุด ภายในช่วงเวลาไม่กี่เดือน

อึ้ง! ‘อัลบั้ม K-POP’ ใช้พลาสติกผลิตปีละเกือบพันล้านตัน

บางส่วนของอัลบั้มที่ Kpop4Planet เก็บได้

 

ขณะที่สหพันธ์เพื่อการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมแห่งเกาหลีใต้ (KFEM) ระบุว่า แฟนคลับบางคน และบริษัทบางแห่งนำอัลบั้มเหล่านี้ไปมอบให้สถานสงเคราะห์เด็ก จนทำให้บางศูนย์ถึงขั้นประกาศงดรับบริจาคอัลบั้ม เพราะไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และสุดท้ายก็ลงเอยที่ถังขยะเหมือนเดิม 

จากการสำรวจของ Kpop4Planet เมื่อปี 2564 พบว่า 95.6% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เห็นว่า บริษัทบันเทิงต้องรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย 59.4% เห็นว่าแฟนคลับควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และอีก 39.5% ระบุว่าศิลปินควรรับผิดชอบด้วยเช่นกัน ผลการสำรวจทำให้องค์กรเสนอให้ค่ายเพลงทำอัลบั้มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการมีตัวเลือกให้ผู้ซื้อเลือกรับอัลบั้มน้อยกว่าจำนวนที่ซื้อจริง เพื่อลดปริมาณขยะส่วนเกิน

 

  • “อัลบั้มดิจิทัล” ยังไม่ตอบโจทย์?

ค่ายเพลงหลายแห่งพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการหันมาปล่อยเพลงในรูปแบบ “สมาร์ตอัลบั้ม” ไม่มีแผ่นซีดี แต่ให้ผู้ฟังสามารถฟังเพลงผ่านคิวอาร์โค้ด เพื่อฟังเพลงบนแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มต่างๆ แทน รวมถึงมีนวัตกรรมใหม่อย่าง “KiT Album” (คิท อัลบั้ม) ที่มีรูปร่างเล็กกะทัดรัดสามารถใช้เป็นพวงกุญแจได้ โดยใช้เทคโนโลยี NFC เวอร์ชันขั้นสูงเข้ามาผสมผสาน ซึ่งจะสามารถฟังเพลง และดูคอนเทนต์ต่างๆ ได้ผ่านแอปพลิเคชัน KiT Player เท่านั้น 

“เราขายอัลบั้ม KiT ได้กว่า 6 ล้านชุดในปีนี้ ซึ่งสูงกว่ายอดขายปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกที่เราเปิดตัวอัลบั้มประเภทนี้ประมาณ 300 เท่า” ไอแซค รี หัวหน้าฝ่ายการตลาดของ Muzlive ผู้ผลิตอัลบั้ม KiT เพียงหนึ่งเดียวในอุตสาหกรรมเพลง

แม้จะมียอดขายเติบโตมากขึ้น แต่ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้สมาร์ตอัลบั้มมีราคาที่สูงกว่าอัลบั้มปกติ และไม่ได้เป็นที่นิยมในหมู่แฟนคลับมากเท่าที่ควร เนื่องจากชาร์ตเพลงจำนวนมากทั้งใน และต่างประเทศไม่ได้นับอัลบั้ม KiT รวมเป็นยอดขายอัลบั้ม

อึ้ง! ‘อัลบั้ม K-POP’ ใช้พลาสติกผลิตปีละเกือบพันล้านตัน

ตัวอย่าง KiT Album


อี กยู-แท็ก รองศาสตราจารย์ด้านวัฒนธรรมศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน เกาหลีใต้ กล่าวว่า ชาร์ตเพลงใหญ่ๆ ทั่วโลกอย่าง Billboard ชาร์ตเพลงที่ใหญ่ที่สุดของโลก Officail Chart ของสหราชอาณาจักร และ Oricon ของญี่ปุ่น ให้สัดส่วนน้ำหนักการดาวน์โหลด และการสตรีมมิงเพลงน้อยกว่าการซื้ออัลบั้มแบบแผ่น แต่ชาร์ตเหล่านี้กำลังพิจารณานำสมาร์ตอัลบั้มมานับรวมเป็นยอดขายด้วย

กยู-แท็ก เชื่อว่าอุตสาหกรรม K-POP สามารถเป็นผู้ริเริ่มนำสมาร์ตอัลบั้มมานับยอดขายได้ เพราะอัลบั้มรูปแบบนี้ไม่ได้มีจำหน่ายในตลาดเพลงอื่นๆ มากนัก “แฟนเพลงในประเทศอื่นๆ มักจะซื้อแผ่นเพลงเพราะชอบเพลง แต่กรณีของแฟนคลับศิลปิน KPOP ซีดีเป็นเหมือนสินค้ามากกว่าเป็นช่องทางในการฟังเพลง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสิ่งแวดล้อมยังไม่มีระเบียบข้อบังคับในการลดขยะพลาสติกกับค่ายเพลง หรือเพิ่มอัลบั้มเพลงแบบจับต้องได้เอาไว้ในรายการผลิตภัณฑ์ที่ใช้การบรรจุภัณฑ์มากเกินไป ซึ่งวอนชิกเห็นว่ากระทรวงสิ่งแวดล้อมควรมีมาตรการตอบโต้ นอกเหนือจากแนะนำกฎระเบียบต่างๆ ให้ค่ายเพลงทำตาม 

อีกทั้งค่ายเพลงจำเป็นต้องปรับปรุงมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) พร้อมกำหนดงบประมาณสำหรับการจัดการของเสียง และต้องแจ้งวิธีการกำจัดผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคทราบใส่ไว้ในอัลบั้ม 

ด้วยความนิยมของเพลง K-POP และค่านิยมของแฟนคลับที่ต้องซื้ออัลบั้มจำนวนมากยังคงอยู่ ส่งผลให้ปัญหาขยะจากอัลบั้มที่จับต้องได้ยังคงสูงขึ้น หากค่ายเพลง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดยังไม่ตระหนัก มองเห็นว่าเป็นปัญหา มีมาตรการหรือปรับโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหานี้

ขณะเดียวกัน แฟนคลับอาจจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการสั่งอัลบั้ม ฉุกคิดถึงความจำเป็นสักนิดว่าต้องซื้ออัลบั้มจำนวนมากเป็นหลักสิบหลักร้อยหรือไม่ ซื้อมาแล้วได้ใช้ประโยชน์จริงๆ หรือเปล่า หรือสุดท้ายก็ถูกกองรวม ๆ กันไว้มุมห้อง แล้วไม่เคยถูกหยิบมาเปิดดูอีกเลย แต่ท้ายที่สุดแล้วอำนาจการตัดสินใจซื้อก็ขึ้นอยู่กับผู้ซื้อเอง อาจจะเป็นเรื่องที่ทำใจยากหากไม่ได้โฟโต้การ์ดเมนสุดน่ารักมาครอบครอง หรือไม่ได้เข้าร่วมแฟรนไชส์เพื่อได้พูดคุยกับเมนสักครั้งในชีวิต


ที่มา: CBCKorea Times 1Korea Times 2Korea Times 3

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์