“การบินไทย” เปิดแผน Net Zero “ลด” ต้นทุน “เพิ่ม” สมดุลสภาพอากาศ

“การบินไทย” เปิดแผน Net Zero  “ลด” ต้นทุน “เพิ่ม” สมดุลสภาพอากาศ

การเดินทาง ทางอากาศในแต่ละครั้งส่วนใหญ่จะสามารถบรรทุกคนได้มากกว่า 100 คน และเดินทางไปได้ไกลกว่าการเดินทางรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ เรือ หรือ แม้แต่ทางราง ดังนั้น หากจะคำนวณการสิ้นเปลืองทรัพยากรฯ ในการเดินทางแต่ละครั้งต่อนักเดินทางหนึ่งคน

จะพบว่าสัดส่วนทรัพยากรที่ใช้ไปน้อยมาก แต่อุตสาหกรรมการบินก็ยังมีแผนจะมุ่งสู่การปลดปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ

ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการบินไทยอยู่ระหว่างปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาพัฒนาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) ซึ่งการบินไทยจะขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ภายใต้แนวคิด “Zero Waste Living” ซึ่งประกอบด้วย หลักการหลัก 3 ประการ ได้แก่ FROM PLANES TO PLANET - การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม FROM WASTE TO WEALTH - การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ FROM PURPLE TO PURPOSE - จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

โดยล่าสุดการพัฒนาเครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทย ที่ผลิตมาจากวัสดุเหลือใช้ขวดน้ำพลาสติกที่ให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบิน เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นเส้นใยพลาสติกผสมผสานกับเส้นใยไหมธรรมชาติในอัตรา 70:30 ซึ่งเครื่องแบบดังกล่าวใช้ขวด PET จำนวน 54 ขวด ต่อการผลิตชุดไทย 1 ชุด

“การริเริ่มต่อยอดผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ที่การบินไทยทำอยู่นั้น อาจนำเราไปสู่ความยั่งยืนโดยไม่ต้องลงทุนมาก เพราะเราสามารถใช้วัสดุหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังเป็นการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ”

นอกจากการผลิตเครื่องแบบชุดไทยจากขวด PET การบินไทยยังเตรียมนำขวดน้ำเหล่านี้ไปต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ เพื่อลดขยะบนเครื่องบินให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาให้เที่ยวบินของการบินไทยเป็นเที่ยวบินรักษ์โลกที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้ริเริ่มจากการจัดใช้อุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินทำมาจากวัสดุธรรมชาติ อาทิ Travel Kit Bag แก้วน้ำที่ใช้บริการผู้โดยสารเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย รวมไปถึงแนวคิดในการนำช้อนส้อมอะลูมิเนียมกลับมาใช้ทดแทนช้อนส้อมพลาสติก และการนำน้ำมันจากครัวมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF)

“การบินไทย” เปิดแผน Net Zero  “ลด” ต้นทุน “เพิ่ม” สมดุลสภาพอากาศ

สำหรับเชื้อเพลิง SAF มาจากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้กว่า 80% เทียบเท่าการบินด้วยเชื้อเพลิงการบินในปัจจุบัน สอดคล้องกับมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil AviationOrganization: ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (InternationalAir Transport Association: IATA)ที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ.2050”

ทวิโรจน์ ทรงกำพล ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ และพัฒนาองค์กรบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่างๆ เช่น ชุดเครื่องแบบใหม่ที่ผลิตจากผ้าจากขวดพลาสติกรีไซเคิล และผ้าไหมนั้นมีความคงทนมากขึ้น รวมถึงลดการซักแห้ง และการขนส่งไปซักซึ่งสามารถประหยัดเงินได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับผ้าไหมธรรมดา รวมถึงการแยกขยะบนเครื่องบินให้มีการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้านกฎระเบียบที่อุตสาหกรรมการบินจะต้องเผชิญซึ่งเป็นผลจากการมุ่งสู่การลดการปล่อยคาร์บอนนั้น ในส่วนของการบินนั้นก็มีการคำนวณเส้นทางการบินใหม่เพื่อให้เครื่องบินใช้เชื้อเพลิงได้มีประสิทธิภาพ และลดการเสียภาษีจากมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ในการบินไปยุโรปให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ รวมถึงมีการเช่าเครื่องบินลำรุ่นใหม่เพื่อใช้ในการรับส่งผู้โดยสารแทนเครื่องบินรุ่นเดิมที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่า และมีค่าบำรุงรักษาที่แพงกว่าเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ 

"ตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งรวมถึงการจัดทำแผนการนำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) มาใช้ทำการบิน และมีการนำเทคนิค Single Engine Taxi และการลดน้ำหนักการบรรทุกมาปรับใช้ในการปฏิบัติการบิน รวมถึงการเปลี่ยนมาใช้รถบัสไฟฟ้าในการขนส่งพนักงานหรือลูกเรือจากศูนย์ปฏิบัติการไปยังสนามบิน"

ความพยายามทั้งหมดเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไปสู่ชั้นบรรยากาศ ขณะเดียวกันก็สามารถลดต้นทุนได้มากขึ้นเสริมสร้างความยั่งยืนได้ทั้งธุรกิจ และสมดุลโลกโดยรวมด้วย 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์