เปิดโฉมหน้าแม่ทัพ"ซอฟต์พาวเวอร์”ทุนธุรกิจจากงานศิลป์

เปิดโฉมหน้าแม่ทัพ"ซอฟต์พาวเวอร์”ทุนธุรกิจจากงานศิลป์

นโยบาย“ซอฟต์พาวเวอร์” ของรัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผ่านคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานและได้มีการนัดประชุมเป็นครั้งแรกเมื่อ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา

ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) และกำหนดจะจัดประชุมชุดนี้ทุกเดือน โดยครั้งต่อไปจะเป็นวันพฤหัสบดีที่ 30 พ.ย. 2566 

  แม้การขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ยังต้องใช้แรงสนับสนุนอีกมาก โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการ 11 ด้าน 12 คณะ ได้แก่ แฟชั่น หนังสือ ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ เฟสติวัล อาหาร ออกแบบ ท่องเที่ยว เกม ดนตรี ศิลปะ และกีฬา กำหนดให้แต่ละคณะได้เสนอแผนการดำเนินการเร่งด่วนภายใน 100 วัน การดำเนินการภายใน 6 เดือน และภายใน 1 ปี เพื่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้เป็นที่รู้จักและสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่การลงมือทำทันทีกำลังเป็นสิ่งที่ถูกเรียกร้องในทุกๆนโยบายของรัฐบาล 

พรวิช ศิลาอ่อน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เล็งเห็นว่า ซีรีส์วาย (Y) หรือ ซีรีส์ Boy's Love ของไทยนั้นนอกจากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ภายในประเทศด้วยคอนเทนท์ที่สอดรับกับเทรนด์ความหลากหลายทางเพศวิถีของโลกในปัจจุบันแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตในตลาดต่างประเทศและมีจำนวนผู้ชมในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงกว่า 3 เท่าตัว 

โดยคาดว่ากลุ่มซีรีส์วายของประเทศไทยนั้นมีมูลค่าตลาดรวมสูงกว่า 1,000 ล้านบาท และจากการจัดงานการเจรจาธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ (Online Business Matching) ก่อนหน้านี้ ทางกรมได้พบว่าประเทศที่ให้ความสนใจซื้อคอนเทนต์ดังกล่าวมากที่สุด คือ ประเทศญี่ปุ่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจึงได้จัดกิจกรรมต่อยอดเพื่อให้เกิดมูลค่าการส่งออกจากซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

โดยเมื่อวันที่ 24 – 25 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ได้นำผู้ผลิตซีรีส์วายไทยรวม 10 บริษัท พบปะเจรจาการค้ากับผู้นำเข้าชาวญี่ปุ่นมากกว่า 38 บริษัท 75 รายที่สถานทูตไทย ณ กรุงโตเกียว และภายในงาน TIFFCOM 2023 อีกกว่า 200 ราย คาดว่าสามารถสร้างเม็ดเงินจาก Soft Power ไทยได้กว่า 150 ล้านบาท โดยงาน TIFFCOM ถือเป็นตลาดซื้อขายภาพยนตร์และรายการสำหรับทีวีที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นและเอเชีย

เปิดโฉมหน้าแม่ทัพ\"ซอฟต์พาวเวอร์”ทุนธุรกิจจากงานศิลป์

ด้านฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาทางสำนักงานได้รับจากติดต่อจากกลุ่มผู้นำเข้าหนังและซีรีส์ชาวญี่ปุ่นหลายรายว่ากำลังมองหาและมีความต้องการในการนำเข้าหรือร่วมลงทุนในการผลิตคอนเทนท์ซีรีย์วายใหม่ๆจากประเทศไทย ประกอบกับที่ญี่ปุ่นเองนั้นก็จะมีการจัดกิจกรรมแฟนมีท (Fan Meet) ระหว่างศิลปินซีรีส์วายของไทยกับแฟนคลับชาวญี่ปุ่นอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งถึงแม้ว่าค่าบัตรจะมีราคาที่สูงแต่แฟนคลับชาวญี่ปุ่นก็ยังให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก 

จึงเป็นโอกาสในการขยายมูลค่าการส่งออกคอนเทนต์ดังกล่าวในตลาดญี่ปุ่น และเป็นที่มาของการคิดจัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้น โดยได้เชิญบริษัทสำคัญๆในวงการอุตสาหกรรมบันเทิงของญี่ปุ่นรวมกว่า 50 บริษัท ไม่ว่าจะเป็นช่องทีวี อาทิ ช่อง TV Asahi, NHK, TBS ช่องวีดีโอสตรีมมิ่ง อาทิ U-next, HULU, Rakuten TV กลุ่มบริษัทผู้นำเข้าหนังและซีรีส์ อาทิ บริษัท AVEX Film, Contents Seven, Pony canyon เป็นต้น ให้มาพบปะสร้างเครือข่ายทางการค้ากับผู้ผลิตซีรีส์วายศักยภาพของไทย”

“การผลักดันเรื่อง Soft power นั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและสามารถไปไกลได้มากกว่าการขายเพียงคอนเทนต์หนังหรือซีรีส์เท่านั้น กิจกรรมในครั้งนี้ทางสำนักงานจึงได้เชิญกลุ่มที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ายเพลง และบริษัทที่จัดแฟนมีทของญี่ปุ่น อาทิ Universal music, Sony music และบริษัท Pia Corporation รวมทั้งสื่อมวลชนเข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย”

 ทั้งนี้ ได้วางเป้าที่จะจัดกิจกรรมต่อยอดเพื่อให้เกิดช่องทางที่จะสามารถนำสินค้าไทยไปขายให้แก่กลุ่มแฟนคลับซีรีส์วายชาวญี่ปุ่นที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วได้ต่อไปอีกด้วย

ด้านความเคลื่อนไหวในประเทศ คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ เห็นชอบการจัดงาน Colorful Bangkok ที่จะมีขึ้นตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค.2566 และยังมี งาน Bangkok ASEAN Film Festival 2023 และงาน Thailand Friendly Design Expo และคาดว่าไตรมาส 4 นี้ จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.5 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 25-30 ล้านคน