อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ พลิกบทบาทผู้ร้ายสู่ “ผู้นำเน็ตซีโร่”

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ พลิกบทบาทผู้ร้ายสู่ “ผู้นำเน็ตซีโร่”

รายการ SUITS Sustainability เปลี่ยนโลกธุรกิจ ของ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ชนะ ภูมี” นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ถึงอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่กำลังก้าวเข้าสู่เป้าหมายธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้วิกฤติโลกร้อนรุนแรงมากขึ้นทุกวันและยกระดับเป็นภาวะโลกเดือด (Global Boiling) จึงเป็นวาระระโลกที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกำหนดแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมตัวร้ายที่สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมาก ได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนและส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net Zero)

ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า TCMA เป็นความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทย7 ราย ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสมาชิกจะทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนองค์eความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีการพัฒนาโปรดักส์นวัตกรรมที่เรียกว่า “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” หรือปูนลดโลกร้อน เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต

โดย TCMA ส่งเสริมให้พัฒนาปูนซีเมนต์ที่มีมาตรฐานลดปล่อยก๊าซที่สูงขึ้นต่อเนื่อง เพื่อร่วมเป็นกำลังหลักพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ รวมทั้งทำให้อุตสาหกรรมแข่งขันได้ในระดับโลก ทั้งนี้ปัจจุบันปูนไฮดรอลิก 1 ตัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซได้40 กิโลกรัมคาร์บอน

“สำหรับการตอบรับของตลาดผู้ใช้งานเองก็มีการใฃ้ปูนไฮดรอลิกแล้วกว่า 60-70% ของยอดขายปูนทั้งหมด โดยเรามีเป้าหมายที่จะเลิกผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ภายในปลายปีนี้ ซึ่งปูนถุงในตลาดส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นปูนไฮดรอลิกหมดแล้วเหลือเพียงปูนผงที่ยังมีใช้ในบางโครงการที่มีข้อกำหนดและเงื่อนไข (TOR) ระยะยาว 5-6 ปี”

โดยสมาชิกทุกรายพร้อมช่วยสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนผ่านมาใช้ปูนไฮดรอลิกได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้การเปลี่ยน TOR เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎระเบียบและการทดสอบเรื่องประสิทธิภาพและคุณสมบัติต่างๆ

TCMA มีเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงครึ่งหนึ่งในปี 2030 และก้าวสู่เน็ตซีโร่ภายในปี2050 โดยจะมีการดำเนินการ 7 มาตรการ ได้แก่ 

1.การเพิ่มประสิทธิภาพในการออกแบบและก่อสร้าง 2.การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตคอนกรีต 3. การลดจากการใช้ปูนเม็ดในการผลิตปูนซีเมนต์ 4. การลดจากกระบวนการผลิตปูนเม็ด 

5.การใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนและนำไปใช้ประโยชน์/กักเก็บ (CCUS) 6.การใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาทิ โซลลาร์เซลล์ ไบโอแมส จากของเหลือภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในเตาหลอมปูนที่ต้องมีอุณหภูมิสูงถึง 1,450 องศสเซลเซียส และ 7.การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยคอนกรีต

นอกจากนี้ TCMA ยังมีภารกิจหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การพัฒนาโปรดักส์นวัตกรรมใหม่ 2.ช่วยอุตสาหกรรมอื่นในการจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ 3.ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า อาทิ การทำเหมืองร่วม ทำให้เหมืองกลายเป็นแก้มลิง และที่เก็บน้ำช่วยภาคเกษตรในช่วงหน้าแล้ง

รวมทั้งมีการร่วมมือกับต่างอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาซีเมนต์ อาทิ การใฃ้ซัลเฟอร์จากโรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ผสมกับหินปูนรวมกันกลายเป็นยิปซัมเทียม ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุในการบดซีเมนต์

ทั้งนี้ เมื่อดูตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Thailand NDC Roadmap) พบว่า “สระบุรี” เป็นจังหวัดที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดระยอง รวมทั้ง TCMA 80% และผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกรายอยู่ที่นี่ นอกจากนี้อุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ยังมีความพร้อมที่จะขยับและให้ความร่วมมือ 

ดังนั้นจึงเลือกให้จังหวัดนี้เป็นตัวแทนของประเทศในการทำโครงการเรือธงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ครอบคลุมทั้งภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม การใช้ผลิตภัณฑ์ การจัดการของเสียการเกษตรและอื่นๆ

สำหรับโครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน สระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำ “PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City” มีเป้าหมายให้จังหวัดสระบุรีเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ มีการพัฒนาเติบโตอย่างยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) มุ่งการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 28 ล้านตัน โดยอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นผู้ปล่อยก๊าซกว่า 80% ของทั้งจังหวัด

สำหรับตัวอย่างโครงการในระยะแรก อาทิ การใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำด้วยการส่งเสริมปูนซีเมนไฮดรอลิกในทุกงานก่อสร้าง การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานคาร์บอนต่ำด้วยการจัดการวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม ภาคชุมชน พลังงานชีวมวลพลังงานแสงอาทิตย์

ทั้งนี้ เมื่อโครงการทดลองทดสอบในสระบุรีแซนบอกซ์ประสบความสำเร็จ ก็สามารถนำไปต่อยอดในจังหวัดอื่นๆ ได้ ขณะที่โครงการที่ยังติดขัดเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ จะนำกลับมาเสนอต่อภาครัฐว่าจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไรเพื่อให้อุตสาหกรรมในประเทศสามารถแข่งขันได้

“หากประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำไม่ทันการณ์ ก็จะเสียโอกาส อุตสาหกรรมจะถูกทดแทนด้วยการนำเข้า ส่งผลต่อการจ้างงาน และภาษีของภาครัฐที่จะหายไป”

TCMA มีการจัดทำ “แผนงานมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรมซีเมนต์ของประเทศไทย” Thailand Net Zero Cement and Concrete Roadmap 2050 ด้วยการสนับสนุนของ Global Cement and Concrete Association (GCCA) และมีผู้รับรองโดย European Cement Research Academy สำเร็จเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียและได้รับการตอบรับอย่างดีจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ 

“อุตสาหรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตไม่ใช่อุตสาหกรรมตัวร้าย แต่เป็นอุตสาหกรรมที่มีแผนโรดแมปที่ชัดเจนในการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทุกภูมิภาคของโลกทั้งยุโรป จีน อินเดีย รวมถึงไทยที่ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทำงานร่วมกับภาครัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม"

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ พลิกบทบาทผู้ร้ายสู่ “ผู้นำเน็ตซีโร่”

ถอดบทเรียนแผนยั่งยืน

ทั้งนี้ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) ของยุโรปมีช่วงเปลี่ยนผ่าน 8-10 ปีกว่าจะมีการบังคับใช้มาตรการคาร์บอนไร้พรหมแดน (CBAM) ซึ่งช่วงต้นที่มีการบังคับใช้มีเข้มงวดมากในการเก็บภาษีจนทำให้อุตสาหกรรมในประเทศอยู่ไม่ได้ จนช่วงกลางต้องปรับตัวเพื่อยืดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านให้นานขึ้น จนสามารถกลับมาแข็งแกร่งในการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

ขณะที่สหรัฐมีการบังคับใช้ Inflation Reduction Act เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด เฃ่น โซลาร์ฟาร์ม ไฮโดรเจน โดยให้เม็ดเงินสนับสนุนด้านภาษี ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนเข้ามาในสหรัฐ

สำหรับไทยต้องมองแบบบูรณาการนำตัวอย่างที่สำเร็จมาใช้ โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้ต้องเป็นวาระที่ระดับนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบเพื่อสั่งการ วางกรอบ กำหนดแผนขับเคลื่อนไทยให้เกิดอย่างเต็มรูปแบบ