Climate Fintech: นวัตกรรมการเงินสุดล้ำเพื่อความยั่งยืน

Climate Fintech: นวัตกรรมการเงินสุดล้ำเพื่อความยั่งยืน

สวัสดีครับ ในยุคที่มนุษย์กำลังผนึกกำลังเพื่อต่อกรกับภัยจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นอกเหนือจากเทคโนโลยีที่ช่วยบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) หรือเทคโนโลยีการผลิตพลังงานสะอาดแล้ว

ยังมีอีกหนึ่งนวัตกรรมการเงินที่มีศักยภาพที่อาจจะถึงขั้น “พลิกโฉม” การบริการทางการเงินในอนาคต นั่นคือ “Climate Fintech” หรือเทคโนโลยีด้านการเงินที่ผนวกมิติด้านสิ่งแวดล้อม โดยนวัตกรรมนี้นับว่าเป็นการผสานประโยชน์ของทั้งเทคโนโลยีทางการเงินและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Big Data ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และบล็อกเชนอีกด้วย

Climate Fintech นี้เรียกได้ว่าเป็นจุดบรรจบ (Intersection) ที่นวัตกรรม แอปพลิเคชัน และความต้องการในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมาพบกัน โดยอาจจะอยู่ในรูปแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือหรือแพลตฟอร์มดิจิทัล และยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างผู้ให้บริการทางการเงินเข้ากับผู้มีส่วนได้เสียที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

หลักการของ Climate Fintech นี้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน นั่นคือมีการใช้และวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินที่มีอยู่มหาศาลผ่านปัญญาประดิษฐ์ ก่อนผนวกฟีเจอร์ในมิติด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเข้าไป ดังนั้น ผู้ใช้งาน ภาคเอกชน ภาครัฐ ตลอดจนภาคการเงิน จะสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการตัดสินใจทำธุรกิจ หรือเลือกที่จะมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในเวลาเดียวกัน

อาจจะกล่าวได้ว่า Climate Fintech เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้ภาคเอกชนระดมทุนเพื่อให้เราทุกคนบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ณ ขณะนี้ เราจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาลกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งมากกว่า GDP ของประเทศไทยถึง 8 เท่าและมากกว่าเม็ดเงินที่หมุนเวียนในตลาดทุนไทยถึง 7 เท่าเลยทีเดียว

สำหรับประเทศไทยแล้ว สหประชาชาติได้ประเมินไว้ว่า เราต้องใช้เงินกว่า 355 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และเราต้องใช้เงินกว่า 181 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อการลงทุนสีเขียวในช่วงเวลา 10 ปีนับจากนี้ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าของพันธบัตรสีเขียวในประเทศไทยระหว่างปี 2561 ถึง 2565 ตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าเพียง 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ดังนั้นโอกาสยังคงเปิดกว้างสำหรับผู้เล่น Climate Fintech รายใหม่ที่ต้องการกระโจนลงสู่น่านน้ำสีครามในอุตสาหกรรมการเงินสีเขียว

แม้ระบบนิเวศสตาร์ทอัพ Climate Fintech ในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่การเติบโตของการเงินเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นยังคงมีอยู่มาก โดยเฉพาะการระดมเงินทุนผ่านการออกพันธบัตรสีเขียวที่เป็นไปได้ว่า ในช่วงเวลาไม่กี่ปีนับจากนี้ อาจมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการออกพันธบัตรสีเขียวก็เป็นได้ ทั้งนี้ก็เพื่อสนับสนุนธุรกิจทั้งรายใหญ่และรายย่อยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างราบรื่นและไร้รอยต่อ

โดยธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน Climate Fintech อาจจะครอบคลุมไปยังการทำบัญชีที่มุ่งเน้นการบันทึกรายรับรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการติดตามและการดำเนินกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม และในอนาคต ก็เป็นไปได้ว่าเราอาจจะเห็นลูกเล่นของแอปพลิเคชันทางการเงินต่างๆ ในมือถือของเราที่ผนวกมิติด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการทำธุรกรรมด้วย

หนึ่งในตัวอย่างที่น่าตื่นเต้นคือกรณีศึกษาของ Alipay Ant Forest ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดตัวบนแอปพลิเคชัน Alipay โครงการนี้ได้ผสมผสานการทำธุรกรรมทางการเงินเข้ากับการเล่นเกมได้อย่างลงตัว แอปดังกล่าวได้จูงใจให้ผู้ใช้งานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ กระตุ้นให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะหรือเลือกทำธุรกรรมออนไลน์แทนการไปสาขา

โดยผู้ใช้งานจะได้รับคะแนนที่เรียกว่า “คะแนนสีเขียว” จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และคะแนนนั้นจะแปรเปลี่ยนไปเป็นการปลูกต้นไม้จริงๆ  ซึ่งข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2563 โครงการ Alipay Ant Forest นี้ดึงดูดผู้ใช้งานกว่า 550 ล้านคนให้เข้ามามีส่วนในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 11 ล้านตันกิโลคาร์บอน พร้อมเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ทั้งสิ้น 1,120 ตารางกิโลเมตรในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน

ดังนั้น Climate Fintech จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ทรงพลังที่ครบครันทั้งมิติด้านเทคโนโลยีการเงินและความยั่งยืน ในยุคทองแห่งความยั่งยืนนี้ เชื่อได้เลยว่านวัตกรรมนี้จะช่วยสร้างสตาร์ทอัพยูนิคอร์นตัวใหม่ออกมาในไม่ช้า นอกจากนี้ ทั้งภาคการธนาคารและภาคเอกชนยังสามารถนำเทคโนโลยี Climate Fintech ไปปรับใช้เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันของตนที่มีอยู่ในตลาดให้มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับกระแสรักษ์โลกยิ่งขึ้น พร้อมร่วมส่งสัญญาณเพื่อกระตุกเตือนทุกฝ่ายว่า วิกฤติโลกเดือดคือระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ทุกคนต้องแก้ไขก่อนทุกอย่างจะสายเกินไปครับ