แผนเผชิญอากาศสุดขั้ว เอลนีโญ-ลานีญา ลดผลกระทบสู่ความยั่งยืน

แผนเผชิญอากาศสุดขั้ว เอลนีโญ-ลานีญา ลดผลกระทบสู่ความยั่งยืน

ผลของสภาพอากาศสุดขั้วคือ ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่อธิบายง่ายๆได้ว่า คือภัยแล้งรุนแรง ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้วนี้ ก็ยังมีปรากฎการณ์ลานีญา (La Nina) คือ ฝนมากจนนำไปสู่ภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆได้เช่นกัน

รัฐบาลจึงกำหนดการประชุมคณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ (EL Nino) และลานีญา (La Nina)ของประเทศไทยขึ้น ซึ่งการประชุมครั้งแรกมีเนื้อหาที่น่าสนใจ

ปลอดประสพ สุรัสวดี รองประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญทางสิ่งแวดล้อม เปิดเผย ว่า ความแห้งแล้งที่ยาวนานนั้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจเป็นอย่างมากรวมถึงระบบนิเวศน์ต่างๆ โดยระบบนิเวศน์ป่าไม้ความร้อนนั้นจะเปลี่ยนป่าดิบชื้นให้เป็นป่าดิบแล้ง แอ่งซับนํ้าตามไหล่เขาจะเหือดแห้ง รวมถึงต้นน้ำจะไม่มีนํ้าซับและน้ำใต้ดิน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้เศษใบไม้จะพอกพูนเป็นเชื้อไฟป่ามากขึ้น คาดการณ์ว่าจะมีไฟป่าขนาดใหญ่เกิดขึ้นอีกด้วย ซึ่งส่งผลทำให้หญ้าและทุ่งหญ้าหมดไป จนทำให้สัตว์กีบอดอยากและต่อเนื่องไปถึงสัตว์กินเนื้อ

ด้านระบบนิเวศน์ทางน้ำ ส่งผลต่ออ่างเก็บนํ้าจะเหลือแค่ท้องอ่าง รวมถึงน้ำท่าชลประทานและเขื่อนก็จะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ พวงคลองหนองบึงจะเหือดแห้ง พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) จะถูกทําลาย รวมถึงฝั่งคลองและแม่นํ้าจะสไลด์ (ถ้าไม่มีน้ำกัน) และน้ำทะเลจะขึ้นสูง พืชน้ำจะตายสัตว์ขนาดเล็กก็จะอยู่ไม่รอด ปลาตามธรรมชาติจะขาดอาหาร รวมถึงปลานํ้าจืดและสัตว์นํ้าจืดจะล้มตาย และความร้อนจะส่งผลให้ปลาที่ขายตามตลาดสดจะเน่าเสียเร็ว

ระบบนิเวศน์ทางอากาศ ส่งผลให้อากาศจะร้อนและแห้งจัด รวมถึงฝุ่นจะกระจายไปทั่วโดยเฉพาะตามถนน และ PM 2.5 จะรุนแรงขึ้น เกิดไฟไหม้ง่ายขึ้น   สัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น นก จะเข้ามาอยู่ในเมืองแย่งพื้นที่อาศัยของมนุษย์ เช่น บ้านเรือน เป็นต้น 

ด้านการเกษตร ส่งผลให้ไม้ผลจะตายหรือไม่มีลูก วัชพืชจะเกิดได้เร็ว รวมถึงอาจมีโรคอุบัติใหม่ ผลไม้ที่เก็บแล้วจะสุกเร็วมากจากอากาศที่ร้อน และทำให้เวลาที่เกษตรกรจะอยู่ในไร่นาจะน้อยลง  แผนเผชิญอากาศสุดขั้ว เอลนีโญ-ลานีญา ลดผลกระทบสู่ความยั่งยืน

 นำไปสู่ยุทธศาสตร์และเป้าหมายบรรเทาผลกระทบของภาครัฐ มีแผนดำเนินงานดังนี้ 1.ติดตามประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน และสรุปแบบรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี เพื่อทราบและเข้าใจภาพรวมมากขึ้น 2.จัดทำ Bulletin รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ข่าวที่แม่นยำ ชัดเจน เข้าใจง่าย เมื่อพบว่า มีเหตุแน่ โดยการเดินทาง ให้ตรวจสอบยืนยันว่าอยู่ในสภาวะที่ต้องประกาศการเตือนภัย 

3.เตรียมทำแผนเผชิญเหตุ เพื่อลดผลกระทบ 4.เตรียมทำแผนช่วยเหลือ ฟื้นฟูและเยียวยา 5.เตรียมแผน Adaptation สำหรับระยะยาว 6.จัด Seminar ทางวิชาการเพื่อระดมความคิด และจัดทำคลังข้อมูลแห่งชาติให้มีข้อมูลเกี่ยวกับ เอลนีโญ มากขึ้น 7.ประสานข้อมูลจากต่างประเทศ 

8.ให้ใช้ระบบ Information Technology (IT) ให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด และใช้ระบบเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารข้อมูล 9. รายงานคณะกรรมการทุกเดือน เพื่อเสนอรัฐบาลและ ครม. ทราบ 10. มีคณะกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงานเฉพาะรับผิดชอบ ควบคู่กับหน่วยราชการ ที่เกี่ยวข้อง  

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ถ้ามีการเตรียมการที่มีความพร้อมมากขึ้นจะสามารถบรรเทาเหตุการณ์ต่างๆได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นประชาชนก็มีเวลาเตรียมการและสามารถรับมือได้ทันท่วงที สามารถทำให้เราวางแผนได้รอบคอบและคาดการณ์ได้ชัดเจนมากขึ้น แต่หากสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงก็สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างทันที  

ความรุนแรงของสภาพอากาศจะเพิ่มมากขึ้น ตามสัดส่วนสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่ถูกเบียดเบียน การเตรียมแผนเผชิญเหตุอาจไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาแต่ก็สามารถบรรเทาผลกระทบได้เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างแท้จริงคือ การตระหนักรู้ถึงหัวใจของการพัฒนาอย่างยั่งยืน