เปิดแผนความยั่งยืน 'บี.กริม' ดันการศึกษา 'ทวิภาคี' ลดยากจน

เปิดแผนความยั่งยืน 'บี.กริม' ดันการศึกษา 'ทวิภาคี' ลดยากจน

"บี.กริม" เริ่มต้นทำธุรกิจในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2421 ซึ่งได้มีการตั้งห้างจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์ขึ้นที่ถนนโอเรียนเต็ล โดยชาวยุโรป 2 คน คือ "แบร์นฮาร์ด กริม" เภสัชกรชาวเยอรมัน และ "แอร์วิน มุลเลอร์" หุ้นส่วนชาวออสเตรีย

จนกระทั่งปี 2441 “อดอล์ฟ ลิงค์” เภสัชกรชาวเยอรมัน เข้าทำงานที่ห้างและร่วมผลักดันธุรกิจของ บี.กริมให้ขยายตัวขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของตระกูลลิงค์ที่มามีบทบาทใน บี.กริม

ธุรกิจของ บี.กริม ดำเนินมาตลอดครบ 145 ปี ในปี 2566 แม้ช่วงที่ผ่านมาจะเจอวิกฤติหนักหลายรอบ แต่ยังสามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้จนถึงปัจจุบันที่ครอบคลุมธุรกิจพลังงาน อุตสาหกรรม สุขภาพ ไลฟ์สไตล์ อสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยีดิจิทัล และมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืนของธุรกิจเพื่อให้อยู่ได้ถึง 200 ปี

เปิดแผนความยั่งยืน \'บี.กริม\' ดันการศึกษา \'ทวิภาคี\' ลดยากจน

“ฮาราลด์ ลิงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) นับเป็นทายาทรุ่นที่ 3 เริ่มเข้ามาทำงานที่ บี.กริม ตั้งแต่ปี 2521 ย้ำอยู่เสมอถึงแนวคิดการขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจร้อยปี คือ การทำธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี โดย บี.กริม เชื่อว่าถ้าทำธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารีเพื่อพัฒนาความศิวิไลซ์ภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติจะนำพาความสุขมาสู่ทุกคนได้

“ฮาราลด์” เล่าว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลายบริษัทให้น้ำหนักกับ Corporate social responsibility (CSR) เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และในปัจจุบันหลายบริษัทกำลังพูดถึง Environmental, social, and corporate governance (ESG) รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainability แต่ บี.กริม ไม่ได้ดำเนินการตามแฟชั่นและดำเนินธุรกิจตามแนวทางดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น โดยมีแผนกที่ดูแลการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่แล้ว เช่น การจัดทำรายงานความยั่งยืนประจำปี

บี.กริม จะมีการพูดคุยกับพนักงานตลอดว่าจะทำอะไรเพื่อสังคม โดยได้ดำเนินกิจกรรมหลายด้านเพื่อความยั่งยืน เช่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม กีฬาและการส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม

ในด้านการศึกษาเห็นว่ารัฐบาลควรผลักดันแนวทางอาชีวศึกษาแบบทวิภาคี โดยระบบอาชีวศึกษาแบบทวิภาคีได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศในยุโรป โดยเฉพาะประเทศเยอรมนี เนื่องจากเป็นระบบที่ผลิตแรงงานที่มีความชำนาญในวิชาชีพสูง และตรงกับความต้องการทางภาคอุตสาหกรรม

“ผมคิดมาตลอดว่าแนวทางนี้จะทำให้ประชาชนพ้นจากความยากจน โดยเคยร่วมทำงานกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อผลักดันให้แนวทางนี้เกิดขึ้น"

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการควรเข้ามาดูเรื่องหลักสูตรการเรียนและการทำงานควบคู่กัน ในขณะที่ภาคเอกชนอาจจะมองว่าเป็นหน้าที่ของใครหรือเป็นหน้าที่ของภาครัฐ แล้วทำไมต้องมาเสียเงินส่งเด็กเรียนหรือจ่ายค่าจ้างให้เด็กระหว่างเรียน ดังนั้นจึงต้องมีความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและบริษัทเอกชน เพื่อสร้างความต้องการทวิภาคีภายในองค์กร

นอกจากนี้ ผู้ปกครองต้องการให้ลูกจบปริญญาตรีจึงไม่ต้องการให้มาเรียนในสายอาชีวศึกษา ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมให้เด็กที่จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สามารถจบปริญญาตรีต่อได้ ซึ่งจะจูงใช้ในการสร้างเด็กสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยในหลายประเทศใช้แนวทางนี้สร้างบุคคลากรได้ดี เช่น ประทเศเยอรมันที่สร้างบุคลากรให้มีอาชีพและองค์ความรู้ควบคู่กัน

ในขณะที่แนวทางการศึกษาแบบทวิภาคีมีบางบริษัทที่เข้าร่วมกับภาครัฐดำเนินการ แต่ในเยอรมันพบว่าทุกบริษัทเข้าร่วมแนวทางนี้ ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็กไม่ว่าจะมีลูกจ้างกี่คนก็เข้าร่วมโครงการ เช่น ช่างตัดผมในเยอรมันก็มีการเรียนแบบทวิภาคี 3 ปี

“คนรวยก็รวยไป เพราะเราทำแก้เรื่องคนรวยคนจนไม่ได้ แต่เราต้องทำให้ไม่ให้มีคนจน การศึกษาระบบทวิภาคีจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เข้ามาช่วยเรื่องนี้ได้ แต่รัฐบาลควรจะเข้ามาสนับสนุน ซึ่งการยกระดับประเทศที่การบรรจุในยุทธศาสตร์ชาติ แต่จะต้องมีการติดตามงานเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้”

สำหรับ บี.กริม ได้ให้การสนับสนุนและพัฒนาระบบอาชีวศึกษาแบบทวิภาคีในหลากหลายโครงการ เช่น โครงการทวิภาคีเยอรมัน-ไทย เพื่อความเป็นเลิศทางการศึกษา (German Thai Dual Excellence Education: GTDEE) โรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) หรือโรงเรียนอาชีวะในพื้นที่รอบสถานประกอบการของ บี.กริม เพื่อเสริมศักยภาพนักศึกษาอาชีวศึกษาด้านการปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ในด้านสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง โดยได้มีการสนับสนุนการเงินกับ World Wide Fund for Nature รวมทั้งได้มีการหารือกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม

เหตุผลสำคัญที่ บี.กริม เข้ามาสนับสนุนโครงการดังกล่าว เพราะเสือโคร่งเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า การอนุรักษ์เสือโคร่งจึงเป็นการดูแลรักษาสมดุลของระบบนิเวศทั้งระบบ โดย บี.กริม ให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยการสำรวจและเพิ่มประชากรเสือโคร่ง