“เอฟเอโอ”เลือกไทยที่ตั้งกองทุนช่วยเกษตรกร

“เอฟเอโอ”เลือกไทยที่ตั้งกองทุนช่วยเกษตรกร

เอฟเอโอ ประกาศ ตั้งสำนักงานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ห่วงโลกร้อนกระทบน้ำ สินค้าขาดคุณภาพ

 ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังให้นางเบธ เบค-ดอล รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ (FAO) พร้อมด้วย นายจอง จิน คิม ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ เอฟเอโอ เข้าพบ ว่า  ได้รับแจ้งให้ทราบว่ากองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD) ตัดสินใจจะมาตั้งสำนักงาน ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ของ IFAD ณ กรุงเทพมหานคร ภายใน ปี 2567

นอกจากนี้เอฟเอโอยังแสดงความเป็นห่วงถึงความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน และภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้น โดยกังวลว่าจะส่งผลให้สินค้าอาหารไม่มีคุณภาพ ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่และน้ำไม่เพียงพอ

 ดังนั้นจึงให้กระทรวงเกษตรฯให้ความสำคัญและเตรียมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีของไทยได้เร่งดำเนินการสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผน มาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่การป้องกัน การแก้ไข และการฟื้นฟู เมื่อประสบเหตุภัยแล้ง หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกชนิด

ตลอดจนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ รวมทั้งสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) สนับสนุนการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการตรวจรับรอง GAP และสามารถต่อยอดไปสู่คาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตร

รวมทั้งให้การสนับสนุนการกำหนดแนวทางการจัดทำ ตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจ และการดำเนินงานภายใต้ Koronivia Joint Work on Agriculture ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ UNFCCC

“ผมได้ผลักดันในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคเกษตร เนื่องจากภาคเกษตรเป็นภาคที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และอาจมีผลกระทบต่อภาคการผลิตและความมั่นคงอาหาร โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566 – 2570 และขับเคลื่อนโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น FAO / GIZ / ADB/ ASEAN เป็นต้น “

สำหรับความร่วมมือระหว่างเอฟเอโอกับกระทรวงเกษตรฯ อาทิ โครงการดิจิทัลในภาคเกษตร ข้อริเริ่ม Digital Village ความหลากหลายทางชีวภาพ การสร้างความยืดหยุ่นสภาพอากาศ (Climate Resilience Agriculture) การลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร โรคระบาดพืชและสัตว์ การจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน การบริหารจัดการน้ำ และการติดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนผลักดัน World Soil Day และรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award จนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งทาง เอฟเอโอ ยินดีและพร้อมสนับสนุนการดำเนินงาน ด้านการปรับเปลี่ยนขยะอาหารเป็นปุ๋ยชีวภาพ การบริหารจัดการดิน และการลด PM2.5 จากภาคเกษตรร่วมกับไทย

โดยมูลค่าโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับ เอฟเอโอ ระหว่างปี2556 – 2566 ประมาณ 826 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการระดับประเทศ (National Projects) มีทั้งสิ้น 51 โครงการ (ระหว่างปี2556 - 2566) คิดเป็นเงิน 11,224,000 ดอลลาร์ หรือ 337 ล้านบาท

 โครงการระดับภูมิภาค (Regional Projects) มีทั้งสิ้น 42 โครงการ (ระหว่างปี2556 - 2566) คิดเป็นเงิน 6,185,452 ดอลลาร์ หรือ 192 ล้านบาท และ โครงการ Trust fund โครงการช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกรณีที่ไม่มีการเตรียมงบประมาณไว้สำหรับ ดำเนินการโครงการพิเศษ เร่งด่วน มีทั้งสิ้น 73 โครงการ (ระหว่างปี2553 - 2564) คิดเป็นเงิน 9,410,262 ดอลลาร์หรือ 291 ล้านบาท