เร่งสร้างแพลตฟอร์ม ESG เปิดเผยข้อมูลแบบใจถึง-พึ่งได้

เร่งสร้างแพลตฟอร์ม ESG เปิดเผยข้อมูลแบบใจถึง-พึ่งได้

สวัสดีครับ เราทราบกันดีว่าทุกคนต่างเร่งเครื่องสุดกำลังเพื่อแก้ไขวิกฤตโลกร้อน ทว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่น้อยที่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังไม่น่าพอใจเท่าที่ควร เมื่อเร็วๆ นี้ นายอันโตนิโอ กุเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศว่าโลกของเราเริ่มเข้าสู่ภาวะ “Climate Breakdown” หรือ “หายนะของสภาพภูมิอากาศ”

และจากการรายงานของ Copernicus Climate Change Service (C3S) ซึ่งเป็นหน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป ชี้ให้เห็นว่า ปี 2566 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดยอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในช่วงกลางปีนี้อยู่ที่ 16.77 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเดิมเมื่อปี 2559 ซึ่งมีอุณหภูมิอยู่ที่ 16.48 องศาเซลเซียส และที่กล่าวมานี้ยังไม่รวมภัยน้ำท่วมและพายุถล่มที่โหมกระหน่ำโลกของเราอย่างรุนแรงจนเกือบๆ เรียกได้ว่า “บ้าคลั่ง” อยู่เป็นประจำ

หากพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน เราจะเห็นว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยก็ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญ อีกทั้งยังมีผู้บริโภคที่พร้อมให้การสนับสนุนธุรกิจหรือองค์กรที่ดำเนินกิจการสอดคล้องกับค่านิยมของตน ดังนั้น ธุรกิจต่างๆ ยิ่งต้องหันมาให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากความเสี่ยงด้านกายภาพ (Physical Risk) ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยโลกเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างผลกำไรได้ในเวลาเดียวกันอีกด้วย

ในมุมของการทำธุรกิจ การจะทราบถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ตนสร้างขึ้นคงจะหนีไม่พ้นการเปิดเผยข้อมูลที่มีความโปร่งใส หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อการนี้คือการสร้างฐานข้อมูลด้าน ESG ที่เอื้ออำนวยให้ธุรกิจต่างๆ เข้ามาบันทึกข้อมูลด้าน ESG เพื่อประเมินผลกระทบที่ตนสร้างขึ้นและปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

ในที่นี้ผมอยากจะขอหยิบยกตัวอย่างแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ชื่อว่า ESGpedia ซึ่งสร้างขึ้นโดยบริษัทเอกชน ภายใต้ความร่วมมือของ  Monetary Authority of Singapore’s (MAS) ซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศสิงคโปร์ โดยออกแบบมาเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถจัดเก็บข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระบบ ทั้งยังเป็นเสมือนศูนย์กลางที่เชื่อมโยงข้อมูลด้าน ESG ที่ช่วยเติมเต็มช่องว่างด้านการเปิดเผยข้อมูลอีกด้วย

 

โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถแสดงข้อมูลของ SME กว่า 55,000 แห่ง และบริษัทขนาดใหญ่กว่า 16,000 แห่งทั่วโลก ซึ่งเปิดโอกาสให้ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และ SME ได้เห็นผลงานการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ตลอดจนภาพรวมของตลาด อันจะช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปรับกระบวนการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินก็ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเพื่อพิจารณานำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าได้ หรือแม้แต่นำข้อมูลไปสนับสนุนการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนอื่นๆ

หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือกรณีศึกษาของ Maxeon Solar Technologies ซึ่งเป็นบริษัทด้านการจัดการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้นำ ESGpedia มาใช้เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน จากที่เคยพบปัญหาด้านการขาดแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นและช่วยให้สามารถเลือกซัพพลายเออร์ที่จัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีและสอดคล้องกับเป้าหมายองค์กรด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ (Scope 3)

เมื่อมองมายังประเทศไทย บางองค์กรเริ่มพิจารณาความเป็นไปได้ในการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการบูรณาการข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าด้วยกัน ทำให้การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนทำได้ง่ายยิ่งขึ้น และหากธุรกิจรายใหญ่หรือ SME ที่มีอยู่ในประเทศไทยนับล้านสามารถบันทึกและเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างสอดคล้องบนมาตรฐานเดียว ก็จะเป็นผลดีที่ทุกฝ่ายสามารถนำข้อมูลนี้ไปปรับใช้และออกมาตรการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และแน่นอนว่าสิ่งนี้สอดรับเป็นอย่างดีกับ 1 ใน 5 รากฐานสำคัญ (Building Blocks) ด้านฐานข้อมูลที่เป็นระบบและมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน ที่ระบุอยู่ในทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย (Financial Landscape) ของธนาคารแห่งประเทศไทย

กล่าวได้ว่าการเปิดเผยข้อมูล ESG เป็นเรื่องที่จะมองข้ามไปไม่ได้ จงเปิดเผยในสิ่งที่ควรจะเปิดครับ เพราะนอกจากบริษัทนั้นๆ จะสามารถอ้างอิงข้อมูลดังกล่าวเพื่อใช้จัดการกับความเสี่ยงของตนทั้งทางตรงและทางอ้อม ฐานข้อมูลนี้ยังช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพรวมของกิจการนั้นๆ และที่สำคัญ หากประเทศไทยมีแพลตฟอร์มส่วนกลางที่เก็บข้อมูลด้านความยั่งยืนก็จะช่วยสะท้อนความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและความโปร่งใสของภาคธุรกิจ พร้อมกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เปรียบเป็นภาษาชาวบ้านคือ "จงทำตัวให้ใจถึง พึ่งได้” ถ้าเราใจถึงพอที่จะเปิดเผยด้วยความโปร่งใส ผู้มีส่วนได้เสียของเราย่อมจะมองเราว่าเขาพึ่งพาและเชื่อถือเราได้ ทั้งนี้ก็เพื่อรวมพลังฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกันครับ