CBAM ใช้ 1 ต.ค.66 “ธุรกิจไทย”คว้าโอกาสจากความท้าทาย

CBAM ใช้ 1 ต.ค.66  “ธุรกิจไทย”คว้าโอกาสจากความท้าทาย

สหภาพยุโรป (EU) ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ลง 50-55% ภายในปี 2573 และในปี 2593 ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามที่ตกลงกันไว้ในความตกลงปารีส

ซึ่งมาตรการ CBAM เป็นมาตรการสำคัญของ European Green Deal ที่จะนำมาปรับใช้ และส่งผลต่อการส่งออกสินค้าไทยไปสู่ยุโรปอย่างเลี่ยงไม่ได้

พัทธ์กมล ทัตติพงศ์ ผู้อำนวยการส่วนยุโรป 2 สำนักยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่าผู้นำเข้าต้องซื้อใบรับรอง CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอน ซึ่งราคาใบรับรองจะอ้างอิงตาม ราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยคาร์บอนในตลาดของ EU (ราคาเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 อยู่ที่ประมาณ 88.3 ยูโรต่อ 1 ตันคาร์บอน) ซึ่งบังคับใช้กับสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.เหล็ก และเหล็กกล้า 2. อะลูมิเนียม 3.ซีเมนต์ 4.ปุ๋ย 5.ไฟฟ้า 6.ไฮโดรเจน โดยครอบคลุม Downstream products บางรายการด้วย เช่น น็อต และสกรูที่ทำจาก เหล็ก และเหล็กกล้า และสายเคเบิลที่ทำจากอะลูมิเนียม โดยหลังจากปี 2569 อาจเพิ่มเคมีภัณฑ์อินทรีย์ และโพลิเมอร์ รวมทั้งตั้งเป้าจะขยายขอบเขตให้ครอบคลุม ทุกสินค้าที่อยู่ภายใต้ระบบ EU-ETS ภายในปี 2573

      สำหรับเหล็ก และเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน ให้คำนวณเฉพาะการปล่อยก๊าซฯ แบบทางตรง (Direct emissions) ส่วนสินค้ากลุ่มอื่นๆ ให้คำนวณทั้งการปล่อยก๊าซฯ แบบทางตรง และการปล่อยก๊าซฯ แบบทางอ้อม (indirect emissions) 

สินค้าส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบ ในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าตามรายการ CBAM ไป EU 14,712.33 ล้านบาท คิดเป็น 1.49% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสู่ EU พัฒนาการที่เกี่ยวข้องในเวทีระหว่างประเทศ อย่างองค์การการค้าโลก (WTO) หลายประเทศแจ้งข้อห่วงกังวล เกี่ยวกับมาตรการ CBAM ในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วย การเข้าสู่ตลาด และคณะกรรมการว่าด้วยการค้า และสิ่งแวดล้อม และกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) หลายประเทศ เช่น กลุ่ม G77 and China แสดงความกังวล เกี่ยวกับมาตรการด้าน climate change ที่เป็นมาตรการฝ่ายเดียว (unilateral measure) เชิงบังคับ และขัดกับหลักการความรับผิดชอบ ร่วมกันแต่แตกต่างกัน และศักยภาพของแต่ละประเทศ ส่วนประเทศอื่นๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการลักษณะเดียวกับ CBAM (ได้แก่ สหรัฐ แคนาดา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย) ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม หรือยังเป็นเพียงแนวคิด ข้อเสนอที่อยู่ในกระบวนการหารือ

CBAM ใช้ 1 ต.ค.66  “ธุรกิจไทย”คว้าโอกาสจากความท้าทาย

ปฐม ชัยพฤกษทล ผู้จัดการอาวุโสโครงการ CBAM กล่าวว่า ผู้นำเข้าจะต้องรายงาน ปริมาณสินค้าที่กำหนด ค่าคาร์บอนแฝงของสินค้า และวัตถุดิบที่เกี่ยวข้อง และค่าธรรมเนียมคาร์บอนที่จ่ายตามกลไกราคา ในระบบ CBAM Transitional registry โดยสำหรับสินค้าที่นำเข้าในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2023 เริ่มรายงานได้ตั้งแต่ 31 ม.ค.2024 ถึงการรายงานช่วงสุดท้ายของสินค้านำเข้าในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2025 ภายใน 31 ม.ค.2026 เพื่อให้ EU เก็บข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงระเบียบวิธีที่ใช้กับระบบ MRV ของ CBAM ซึ่งปรับปรุงจาก EU ETS กำหนดนิยามของผู้รายงาน ส่วนลดจากค่าธรรมเนียมคาร์บอนที่จ่ายแล้ว และราคาเฉลี่ยของค่าธรรมเนียมคาร์บอน

โดยผู้รายงานต้องรายงาน ปริมาณ และชนิดของสินค้าตาม CN CODE ที่กำหนด และต้องให้ข้อมูลของแหล่งผลิตจากประเทศต้นทางที่นำสินค้าเข้ามา โดยระบุตำแหน่งที่ตั้งตามรหัส UN/LOCODE กระบวนการผลิต ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง และทางอ้อมที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ ขอบเขตของระบบที่ใช้คำนวณค่าคาร์บอนแฝง ในหน่วย CO,eq/ton ซึ่ง สามารถร้องขอจาก EU Commission จัดให้มี e-template ในการรายงาน ต้องคำนวณค่าคาร์บอนแฝงตามที่กำหนดในภาคผนวก 3 ซึ่งสามารถคำนวณจาก ข้อมูลกิจกรรม หรือวัดจากแหล่งปล่อยโดยตรง ในกรณีสินค้าที่เป็น Complex good สามารถใช้ค่า default ของ วัตถุดิบที่เป็น precursor ได้ ถ้า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน 20% ของปริมาณ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของสินค้านั้น

สำหรับระเบียบ CBAM มีการดำเนินงานบน platform ที่เรียกว่า CBAM Transitional registry EU Commission จะประเมินผล และนำไปปรับปรุงระบบให้มีความสมบูรณ์ รวมถึงกำหนดแนวทางหรือกฎเกณฑ์ใน การลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อมูลที่รายงานทั้งหมดในระบบถือเป็นความลับ

เป้าหมายคาร์บอนศูนย์จะไม่เพียงกำหนดขึ้นเฉพาะในEU แต่หมายถึงทุกมุมโลก รวมถึงไทยการรู้จักกลไก และเข้าใจวิธีการทำงานในระเบียบCBAM จะเป็นการพลิกความท้าทายให้กลายเป็นโอกาสได้ อยู่ที่ว่าจะจริงจังแค่ไหนเพราะถ้าเริ่มไวโอกาสก็เป็นของเราก่อนใครนั่นเอง

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์