ก้าวต่อไปจาก SDGs 2030 | ดร.ลัษมณ อรรถาพิช

ก้าวต่อไปจาก SDGs 2030 | ดร.ลัษมณ อรรถาพิช

ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปสนทนาแลกเปลี่ยนกับ SDG Lab (Sustainable Development Goals Lab) หน่วยงานที่อยู่ในสำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา ตั้งขึ้นเพื่อเชื่อมโยงและรวบรวมความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน Sustainable Development ของหน่วยงานภายใต้ร่มสหประชาชาติ รวมถึงองค์กรพันธมิตร

เพื่อช่วยประชาคมโลก ในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs 2030  นอกจากนี้ SDG Lab ยังเป็นหน่วยงานที่ช่วยขบคิด ถึงอนาคตของการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายหลังจากปี 2030 อีกด้วย

การพูดคุยกับ SDG Lab มี 2 ประเด็นใหญ่ๆ ที่น่าสนใจและสามารถนำมาสังเคราะห์ต่อ ประเด็นแรกคือ สถานะการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามกรอบของ SDGs 2030 ณ จุดที่เดินมาถึงครึ่งทาง นับแต่วันที่สหประชาชาติประกาศ Agenda 2030 เมื่อปี 2015  และประเด็นที่สอง คือหลังจากปี 2030 แล้ว ประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ประเทศต่างๆ ในโลกนี้จะขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป ควรจะมีหน้าตาอย่างไร

จากรายงาน The Sustainable Development Goals Report 2023 พบว่า จาก Goal หรือเป้าหมาย 17 ข้อหลัก อันประกอบด้วย Target หรือเป้าประสงค์ 169 ข้อย่อยนั้น กว่าครึ่งของเป้าประสงค์ ยังไม่บรรลุตามกำหนด  ตัวอย่างเช่น

 เป้าหมายด้าน “การยุติความอดอยากหิวโหยและการมีความมั่นคงด้านอาหาร” พบว่าในปัจจุบันราคาอาหารพุ่งขึ้นสูงกว่าช่วง 5 ปีแรกของการดำเนินการตาม SDGs

ส่วนเป้าหมายด้าน “การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม” คาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 2030 โลกเราจะมีเด็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาถึง 84 ล้านคน ในขณะที่นักเรียน 300 ล้านคน จะไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ในระดับที่พึงจะเป็น

และยังไม่ต้องพูดถึงเป้าหมายด้าน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งความพยายามที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียส ยังเป็นไปได้ยาก

ก้าวต่อไปจาก SDGs 2030 | ดร.ลัษมณ อรรถาพิช

การแพร่ระบาดของโควิด 19 และปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าประสงค์ของหลาย ๆ เป้าหมาย แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เปิดโอกาสบางอย่าง อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้เกิดการเร่งของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน  

การนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของภาคเกษตร เทคโนโลยีการด้านอุตสาหกรรมอาหาร จะช่วยเร่งการพัฒนาและการบรรลุเป้าหมายการยุติความอดอยากหิวโหยได้

การนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในภาคการศึกษา ซึ่งได้เริ่มขึ้นแบบสถานการณ์บังคับในช่วงโควิด 19 มีส่วนช่วยด้านคุณภาพการศึกษาและความครอบคลุมได้มากขึ้น ขณะที่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ดำเนินอยู่ อีกนัยหนึ่งก็เป็นปัจจัยกระตุ้นและเร่งรัดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด 

สำหรับประเด็นแรกที่ได้พูดคุยกับ SDG Lab นั้น สรุปได้ว่า ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องเร่งรัด จริงจัง และมีนโยบายภาครัฐที่เหมาะสมต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นแล้ว การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างก้าวกระโดด


ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 43 จาก 166 ประเทศ ในการดำเนินการตาม SDGs 2030 จากการที่ประเทศไทยมีผลการพัฒนาอย่างยั่งยืนอยู่ในระดับที่ดี ทาง SDG Lab จึงได้ให้ความสนใจกับแนวคิดการพัฒนาของไทย ประกอบด้วย หลักการเศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ซึ่งนำไปสู่ประเด็นที่สอง ที่ได้มีการพูดคุยกัน คือ ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ภายหลัง SDGs 2030

แน่นอนว่าจุดหมายปลายทางของการพัฒนา คงไม่ต่างไปจาก Agenda 2030 ที่ต้องการขจัดความยากจนและความอดอยากหิวโหย ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมสันติสุขและยุติธรรม ปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี และปกป้องโลกและทรัพยากรธรรมชาติ  แต่เป้าหมาย เป้าประสงค์ และตัวชี้วัด คงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับบริบทโลก และสร้างสมดุลใหม่ให้เกิดขึ้น

ก้าวต่อไปจาก SDGs 2030 | ดร.ลัษมณ อรรถาพิช

การสร้างสมดุลใหม่นี้เอง ที่ทั้ง SDG Lab และผู้เขียนมีความเห็นว่าประเทศไทยสามารถมีบทบาทในการช่วยกำหนดทิศทางของ “SDGs 2.0” 

ผู้เขียนได้อธิบายถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของไทย โดยเฉพาะคำว่า sufficiency เมื่อนำมาใช้กับบริบทที่ใหญ่ขึ้น อาจอธิบายได้ด้วยคำว่า balanced ซึ่งการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้น คือการพัฒนาแบบ balanced แต่ไม่ใช่สมดุลแบบสองข้างเท่ากันพอดี แต่เป็นสมดุลแบบการทรงตัว เหมือนเดินไต่เชือกอย่างมีสติ โอนเอนโงนเงนบ้างเป็นธรรมดา แต่ไม่ตกลงมาและไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยสวัสดิภาพ

ดังนั้น ในภาพใหญ่เชิงมหภาค น่าจะหมายถึงการใช้เครื่องมือทางนโยบายสาธารณะช่วยจัดสรรทรัพยากรของสังคมให้มีการกระจายตัวที่เหมาะสม เพื่อวัตถุประสงค์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนของประเทศ และประชากรโลก มีความอยู่ดีและมีสุข

ซึ่งเมื่อถึงตรงนี้ ทาง SDG Lab ได้กล่าวถึงแนวคิด Beyond GDP ว่าน่าจะสามารถนำมาผนวกกับ balanced development อันมีพื้นฐานมาจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และยังได้เห็นพ้องกันอีกว่า แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ก็ตั้งอยู่บนรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสมดุล อยู่บนรากฐานของการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเคารพฐานทรัพยากรธรรมชาติ วิถีของชุมชน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ทางเลขาธิการสหประชาชาติได้ออกเอกสาร Policy Brief  เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมกันคิดนอกกรอบของ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) เพื่อหาสิ่งที่จะบ่งชี้ความอยู่ดีและมีสุข ของประชากรโลกที่ครอบคลุมเหมาะสมกว่า GDP เอกสารดังกล่าวมีการยกตัวอย่างไว้ว่า

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ผู้หญิงทั่วโลกใช้เวลารวมกันมากกว่า 5 แสนชั่วโมง ในการดูแลเด็ก (เนื่องจากโรงเรียนปิด) มูลค่าทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้เศรษฐกิจและสังคมดำรงต่อไปได้นี้ ไม่ได้ถูกนับรวมใน GDP  

ก้าวต่อไปจาก SDGs 2030 | ดร.ลัษมณ อรรถาพิช

นอกจากนี้ กิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การบุกรุกป่า การจับปลามากเกินไป กลับกลายเป็นกิจกรรมที่เพิ่มมูลค่าใน GDP

อย่างไรก็ดี เอกสารดังกล่าวระบุว่า Beyond GDP ไม่ได้หมายถึงการละทิ้ง GDP แต่ควรมีกรอบการวัดระดับการพัฒนาที่สามารถนำเอาประเด็นอื่นๆ มาประกอบการพิจารณาด้วย

โดยได้พูดถึงแนวคิด comprehensive wealth ซึ่งบ่งชี้ความมั่งคั่งของประเทศ 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนทรัพยากรธรรมชาติ ทุนสังคม ทุนที่สร้างหรือผลิตขึ้น และทุนทางการเงิน (human, natural, social, produced and financial capital) 

เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับก้าวต่อไปจาก SDGs 2030 สหประชาขาติจะเดินหน้าขอมติจากประเทศสมาชิก ในการร่วมมือกันสร้างกรอบการวัดผล และตัวชี้วัดให้ครบทุกด้านเหล่านี้ต่อไป

ด้วยเหตุที่แนวคิด Beyond GDP นี้ มีความสอดคล้องกับแนวคิดของประเทศไทยที่โลกได้รู้จักอยู่บ้างแล้วไม่มากก็น้อย ผู้เขียนก็อดคิดไม่ได้ ว่าหากประเทศไทยมุ่งมั่นและจริงจังในเรื่องนี้ การที่ไทยจะมีบทบาทสำคัญในก้าวต่อไปจาก SDGs 2030 คงจะดีเป็นอย่างยิ่ง

ก้าวต่อไปจาก SDGs 2030 | ดร.ลัษมณ อรรถาพิช