นวัตกรรม C-ROS เพิ่มค่าขยะอินทรีย์ “VISTEC” เร่งเทคโนโลยี ZeroWaste

นวัตกรรม C-ROS เพิ่มค่าขยะอินทรีย์  “VISTEC” เร่งเทคโนโลยี ZeroWaste

“ขยะ” ปัญหาใหญ่ของคนไทย และทั่วโลกซึ่งสัดส่วนถึง 50% มาจากขยะอินทรีย์ หรือพูดง่ายๆ คือ ขยะเศษอาหาร เศษผัก หรือแม้แต่เศษวัสดุการเกษตร ดังนั้น “เศษอาหาร” จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป แต่การบริโภคจะหยุดไม่ได้ ทำให้เศษอาหารกำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลก

ซึ่งสามารถหยุดหรือบรรเทาปัญหาได้ ด้วย “นวัตกรรม” 

จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดี กิตติคุณ สถาบันวิทยสิริเมธี หรือ  (Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology :VISTEC ) เล่าว่าการสร้างแนวคิด องค์ความรู้ และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ และพัฒนาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมายหลักของ VISTEC ในบทบาทมหาวิทยาลัยวิจัย (Research University) มุ่งเน้นงานวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมระดับชั้นนำของโลก สร้างโอกาสให้เกิดสายวิชาชีพนักวิทยาศาสตร์อย่างสมบูรณ์ในประเทศ

ทีมงานจากโครงการขยะเพิ่มทรัพย์ C-ROS  (Cash Return from Zero Waste and Segregation of Trash) เล่าว่า C-ROS คือ การเปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นก๊าซชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงได้อย่างสมบูรณ์ โดยใช้เทคโนโลยีการหมักแบบไร้ออกซิเจนด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์จำเพาะสูง 

ขั้นตอนการจัดการขยะอินทรีย์เริ่มจาก “สุดดี SUZDEE” คือ เครื่องย่อยขยะให้เป็น“ศูนย์” โดยใช้ “ค็อกเทลจุลินทรีย์ธรรมชาติเข้มข้น(C-ROS TURBO)” ซึ่งจะเปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นก๊าซชีวภาพ และปุ๋ยชีวภาพได้เร็วกว่าวิธีการแบบเดิม

โดยระบบนี้สามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ อย่างโรงงาน และโรงอาหารของโรงเรียน ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกขนาดใหญ่ในชุมชนหรือพื้นที่อยู่อาศัย เป็นต้น ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคม Zero Waste 

“เทคโนโลยี C-ROS สามารถเปลี่ยนขยะอินทรีย์จากอุตสาหกรรมอาหาร และการเกษตร ขยะเศษอาหารจาก เทศบาล ชุมชนและครัวเรือนให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม C-ROS จัดเป็นนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญเพื่อการสร้างรากฐานสู่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)”

ทั้งนี้  C-ROS สามารถเพิ่มมูลค่าของขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการนำขยะประเภทอื่นไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่สามารถเปลี่ยนขยะเศษอาหาร ปริมาณ 1 ตัน ให้เป็น “สารมูลค่า” ต่างๆ ที่มีราคาประมาณ 50,000 - 100,000 บาท

กระบวนการเปลี่ยนขยะเป็นสารมูลค่านี้ มีหัวเชื้อ Bio-VIS สำหรับผลิตก๊าซชีวภาพ และปุ๋ยชีวภาพเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์จากธรรมชาติกลุ่มที่สามารถผลิตก๊าซมีเทน Bio-VIS เป็นจุลินทรีย์กลุ่มที่สามารถเติบโตได้ในสภาวะที่ไม่มีก๊าซออกซิเจน (Anaerobes) และสามารถผลิตก๊าซมีเทนซึ่งคือ ก๊าซชีวภาพ ที่มีองค์ประกอบคล้ายกับก๊าซที่ใส่ในรถยนต์แบบใช้แก๊ส

นวัตกรรม C-ROS เพิ่มค่าขยะอินทรีย์  “VISTEC” เร่งเทคโนโลยี ZeroWaste

การใช้งาน Bio-VIS มีขั้นตอนเริ่มต้นระบบโดยการนำหัวเชื้อมาบรรจุหรือเติมลงในถังระบบปิด จากนั้นหัวเชื้อจะใช้เวลาในการปรับสภาพให้เหมาะสมประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ใช้สามารถเติมขยะอินทรีย์ หรือเศษอาหาร ลงไปในถังหมักซึ่งเชื้อจุลินทรีย์ Bio-VIS จะทำหน้าที่เปลี่ยนขยะเศษอาหารเป็นก๊าซชีวภาพในแต่ละวัน โดยในแต่ละครั้งของการเติมขยะเศษอาหารสามารถไขเอาปุ๋ยชีวภาพออกด้วยปริมาณที่เท่ากันเพื่อการใช้งานในการเป็นปุ๋ยบำรุงดินเพื่อการเพาะปลูก

โดย BioVis นั้นเป็นสารชีวภาพสำหรับบำรุงพืช ช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี สมบูรณ์ แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรค ช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี และช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ในดินอีกทั้งยังช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดินให้เป็นธาตุอาหารทั้งหลัก และรองแก่พืช ช่วยสร้างฮอร์โมนให้แก่พืช กระตุ้นการเกิดราก เมื่อพืชขยายระบบรากได้ดี จะสามารถดูดซึมธาตุอาหารได้ดีขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตสูง คุณภาพดี นอกจากนี้การใช้ปุ๋ยชีวภาพยังป้องกันไม่ให้รากเป็นแผลอันเกิดจากการใช้สารเคมีในปริมาณมากอีกด้วย

ปัจจุบันโครงการ “สุดดี” มีจำนวน 30 สถานีใน 14 จังหวัด ในปี 2565 มีการจัดการขยะอินทรีย์ 24 ตัน หรือ 470 กิโลกรัมของแก๊ส LPG สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในหลุมฝังกลบปัจจุบันประมาณ 25 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ถึงผลิตสารบำรุงพืชได้ 20 ตัน สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนประมาณ 500,000 บาทซึ่งเป็นการจัดการขยะอินทรีย์เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการจัดการขยะในประเทศไทย 

C-ROS นับเป็นเทคโนโลยีที่นำวิทยาศาสตร์มาใช้ในการจัดการทางสังคมซึ่งเป็นหน่วยผลิตขยะอินทรีย์ที่ตอนนี้กำลังจะเพิ่มมูลค่าเป็นสารตั้งต้นสำหรับการเป็นปุ๋ย และเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อการผลิตอาหารต่อไป ซึ่งจะจูงใจให้ชุมชนสามารถจัดการขยะได้อย่างยั่งยืน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์