โปรเจกต์เตรียมไทยพร้อมรับ ปรับตัวสู่โมเดลเศรษฐกิจ 'บีซีจี'

โปรเจกต์เตรียมไทยพร้อมรับ  ปรับตัวสู่โมเดลเศรษฐกิจ 'บีซีจี'

สศช.จับมือ ADB เดินหน้าโครงการ “Thailand Green Incubator” เคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจสีเขียว – ลดคาร์บอนในประเทศไทย ตอบโจทย์แผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 และเป้าการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2065

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้นำความเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจ สังคม และองค์กรธุรกิจ อย่างมาก การเตรียมพร้อมด้วยความเข้าใจและเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆในเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ได้หารือกับผู้บริหารและคณะกรรมการ (บอร์ด) ระดับสูงของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB)เพื่อหารือในประเด็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่าง ADBกับประเทศไทย รวมทั้งได้มีการเปิดตัวโครงการ "Thailand Green Incubator" ซึ่งเป็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green :BCGของประเทศไทย

นอกจากนี้ได้มีการหารือกันถึงเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของไทย ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 นอกจากนี้ยังเป็นโครงการที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065

โปรเจกต์เตรียมไทยพร้อมรับ  ปรับตัวสู่โมเดลเศรษฐกิจ \'บีซีจี\'

"ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2566 - 2569 ด้วยการพัฒนาแนวทางการคัดเลือกโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาสีเขียว รวมถึงการพัฒนาสีน้ำเงิน ธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการหาเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงการจากแหล่งต่าง ๆ นอกเหนือจากเงินทุนภาครัฐ"

สำหรับโครงการ Thailand Green Incubator ซึ่งประกอบด้วย การเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ (Capacity Building) ในด้านต่าง ๆ โดยวิทยากรจาก ADB และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น เทคโนโลยีสีเขียวและการเงินสีเขียว (Green Finance) และการเงินสีน้ำเงิน (Blue Finance)

การพัฒนาแนวทางการคัดเลือกโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาสีเขียว รวมถึงการพัฒนาสีน้ำเงิน ธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการหาเงินทุนสนับสนุนจากแหล่งต่าง ๆ นอกเหนือจากเงินทุนภาครัฐ 

การแบ่งปันความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practices) ในระดับภูมิภาคเพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาแนวนโยบาย มาตรการ และกฎระเบียบ 

ความเปลี่ยนแปลง สามารถนำสิ่งที่ดีขึ้น และแย่ลงมาสู่ตัวบุคคล องค์กร หรือแม้แต่สังคมได้ แต่การเตรียมความพร้อมจะทำให้การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้  นำแต่สิ่งที่ดีมาให้ในรูปแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน