บรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค“ขวด PET” ขยะก้อนใหญ่จะ(ไม่)ถูกละเลย

บรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค“ขวด PET”  ขยะก้อนใหญ่จะ(ไม่)ถูกละเลย

เครื่องดื่ม 1 ขวด อายุการใช้งานสำหรับผู้บริโภคอาจไม่ถึง 1 หรือ 2ชั่วโมง เพราะหลักเครื่องดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกหมด ภาชนะบรรจุพลาสติกนั้น จะกลายเป็นขยะในทันที

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไทยเองเคยเป็นผู้ทิ้งพลาสติกในทะเลมากเป็นลำดับ 6 ของโลกดังนั้นการคัดแยกขยะเครื่องดื่ม Polyethylene Terephthalate (PET) ที่มีสีและไม่มีสี ถ้าสามารถนำไปสู่การรีไซเคิลได้ง่ายขึ้นสามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหาและปิดช่องว่าง ของการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้มากยิ่งขึ้น และเป็นส่วนสำคัญใน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของประเทศ นำไปสู่โครงการนำ ร่อง Extended Producer Responsibility (EPR) หรือโครงการ PackBack การศึกษาการทำถนนจากขยะพลาสติก (Plastic Road) การจัดการขยะภายใต้โครงการ MEGA City ซึ่งดำเนินงานที่จังหวัดระยอง และพื้นที่เขตคลองเตย เป็นต้น

ข้อมูลจาก พีทีที โกลบอล เคมิคอล ระบุว่า Polyethylene Terephthalate หรือ PET เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่เป็นผลพลอยได้มาจากการกลั่นน้ำมันดิบ, ก๊าซธรรมชาติ และกรดเทเรฟทาลิกบริสุทธิ์ (PTA) ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์สาย Aromatic หรือวัตถุดิบหลักสำหรับอุตสาหกรรมหลากหลายประเภทนั่นเอง โดยคุณสมบัติเด่นของการผลิตเม็ดพลาสติกแบบ PET นั้นจะมีความเหนียว ทนทาน ยืดหยุ่นต่อแรงกระแทก ไม่เปราะแตกง่าย น้ำหนักเบา สามารถรีไซเคิลได้ 100% และสามารถนำมาขึ้นรูปได้หลากหลาย สามารถนำมาผลิตของใช้ และบรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างปลอดภัย ไร้สารก่อมะเร็งอีกด้วย

 ภราดร จุลชาต ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่าพลาสติก PET แบบสีนั้นรีไซเคิลยากกว่าพลาสติกใส และมีต้นทุนที่สูงกว่า การรีไซเคิลนั้นต้องใช้เทคโนโลยีในการแยกเม็ดสีอื่นๆ ออกจากสีขาว ก่อนจะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆและมีการปนเปื้อนสูง และโอกาสกลับสู่บรรจุภัณฑ์อื่นได้น้อยมาก ซึ่งคาดว่าในอนาคตขวดพลาสติก PET ที่มีสีจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆด้วยแรงกดดันต่างๆที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นอีกด้วย

ข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจ พบว่า ขวดเครื่องดื่ม PET สี มีราคา 1 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ขวด PET ใส มี มูลค่า 6 – 7.50 บาท/กิโลกรัม จึงส่งผลต่อแรงจูงใจในการรับซื้อและการเก็บรวบรวม และจะเป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้การกำจัดขาดพลาสติกในระบบอุตสาหกรรมและการบริโภคลดลง  บรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค“ขวด PET”  ขยะก้อนใหญ่จะ(ไม่)ถูกละเลย

บรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ข้อตกลงร่วม เรื่อง “ขวดเครื่องดื่ม จากพลาสติก PET ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” หรือข้อตกลงร่วม 4002-2565 เป็นรูปแบบให้ผลิตขวดเครื่องดื่มจากพลาสติก PET ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 

การนำโมเดลทางเศรษฐกิจและธุรกิจมาปรับใช้เพื่อลดปัญหาขยะจะช่วยให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการบริโภคของมนุษย์ลดลงจะถึงเป้าหมายสูงสุดคือไม่ส่งผลกระทบซึ่งกันและกันอีกเลยก็เป็นได้ 

ล้อม : บีโอไอลุยดึงลงทุน“พลาสติกชีวภาพ”

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า  ปัจจุบัน บีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ระดับโลกหลายรายแล้ว อาทิ บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBS (Polybutylene Succinate) บริษัท ดูปองท์ นิวทริชั่น จำกัด ผู้ผลิตไมโครคริสตัลไลน์เซลลูโลสสำหรับผลิตฟิล์มเคลือบอาหารที่สามารถย่อยสลายได้ และบริษัท เอ็นวิคโค จำกัด ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET (Food Grade) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท Alpla ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ของยุโรป 

ล่าสุด บริษัท ไทยโพลิเอทิลีน จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ร่วมทุนกับ Braskem ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ของโลก จัดตั้งโรงงานผลิตไบโอ-เอทิลีน สำหรับผลิตเม็ดพลาสติกไบโอ-พอลิเอทิลีน (Green-Polyethylene) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงเดือนมิ.ย. 2566 บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตพลาสติกชีวภาพ จำนวน 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 37,000 ล้านบาท และจากนี้ไป บีโอไอจะเน้นการสร้างความเข้มแข็งด้านซัพพลายเชนของพลาสติกชีวภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ"