‘แม่ฟ้าหลวง’ ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต 1.5 แสนไร่ สร้างรายได้ชุมชน 500 ล้าน

‘แม่ฟ้าหลวง’ ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต 1.5 แสนไร่ สร้างรายได้ชุมชน 500 ล้าน

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จับมือภาครัฐ ชุมชน และ 14 เอกชนชั้นนำ ร่วมมือขยายผลโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน “ดิศปนัดดา” เผยปี 67 เพิ่มพื้นที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตจาก 1 แสนไร่ เป็น 1.5 แสนไร่ ใน 9 จังหวัด ปี เพิ่มรายได้ให้ชุมชน 500 ล้าน ตั้งเป้า 1 ล้านตัน

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงนพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่ามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มุ่งมั่นที่จะสืบ​สาน​พระ​ราช​ปณิธาน “ปลูก​ป่า ปลูก​คน” ของ​สมเด็จ​พระศรีนครินทรา​บรมราชชนนี มูลนิธิ​แม่​ฟ้า​หลวง ใน​พระบรมราชูปถัมภ์  ที่ได้เริ่มขึ้นครั้งแรงในพื้นที่ดอยตุง จ.เชียงรายจนประสบผลสำเร็จ และขยายผลการปลูกป่า และให้ผ่าอยู่กับคนเพื่อดูแลป่า โดยพัฒนาให้คนมีความรูและรายได้ที่เพียงพออย่างยั่งยืน ซึ่งพิสูจน์ความสำเร็จมาแล้วเกือบสี่สิบปี จึงนำประสบการณ์มาขยายผลเพื่อร่วมส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนในป่า พร้อมกับร่วมแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมของไทยและของโลกด้วย

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รับความสนับสนุนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชน และชุมชนในการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่ามาตั้งแต่ปี 2563 โดยงบประมาณสนับสนุนจากภาคเอกชนนำไปใช้ในการพัฒนาระบบประเมินคาร์บอนเครดิต และจัดตั้งกองทุนสองประเภท คือ กองทุนดูแลป่า และกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นรายได้แก่ชุมชน

โดยตลอดเวลาการดำเนินงานช่วงพัฒนาระบบ (2563-2565) มีพื้นที่ปฏิบัติการใน 52 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 51,354 ไร่ใน 7 จังหวัด และมีชุมชนเข้าร่วม 12,361 ครัวเรือน จนปัจจุบันเกิดความชำนาญจนนำมาสู่การขยายพื้นที่อย่างจริงจัง

‘แม่ฟ้าหลวง’ ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต 1.5 แสนไร่ สร้างรายได้ชุมชน 500 ล้าน

สำหรับงานของปี 2566 นี้ โครงการฯ ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนใน 77 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 143,496 ไร่ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อำนาจเจริญ และยโสธร โดยจะเป็นพื้นที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 100,000 ไร่ มีผู้เข้าร่วม 12,721 ครัวเรือน โดยมีภาคเอกชนชั้นนำมาร่วมสนับสนุนการพัฒนา 14 ราย

การขยายงานในครั้งนี้เมื่อรวมกับระยะพัฒนาระบบ ทำให้โครงการฯ มีความร่วมมือในป่าชุมชนรวม 129 แห่งใน 9 จังหวัดครอบคลุมพื้นที่ 194,850 ไร่ สามารถป้อนคาร์บอนได้ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในป่า 25,082 ครัวเรือน

ซึ่งการดำเนินงานในแต่ละป่าชุมชนครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี คาดว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ทางตรงด้านรายได้ชุมชนรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 500-630 ล้านบาท

“โครงการนี้นับเป็นนวัตกรรมที่มูลนิธิฯ และภาคีมีความภาคภูมิใจ เพราะเราสามารถสร้างประโยชน์ได้ทุกมิติ ชุมชนที่ดูแลป่ามีชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยผลิตคาร์บอนเครดิตมาช่วยให้ประเทศไทยบรรลุข้อตกลงลดโลกร้อน และมีป่าสมบูรณ์ขึ้น เฉพาะในช่วงฤดูไฟป่าที่ผ่านมา เราพบว่าพื้นที่โครงการมีไฟป่าลดลงประมาณ 6,500 ไร่ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 191 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากชุมชนในโครงการให้การดูแลป่าอย่างจริงจัง”

ทั้งนี้ในปี 2567 โครงการฯ มีเป้าหมายจะขยายงานครอบคลุมพื้นที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตอีก 150,000 ไร่ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายผลิตคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตันภายในปี 2570

 

นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมป่าไม้ได้ร่วมดำเนินโครงการกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งแต่ ปี 2531 ในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดน่าน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 350,000 ไร่ และตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน กรมป่าไม้ร่วมกับชุมชนดำเนินการขึ้นทะเบียน T-VER ภาคป่าไม้ จำนวน 40 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 45,000 ไร่ สามารถลดก๊าซคาร์บอนได้ประมาณ 18,000 ตันต่อปี


จึงเป็นที่มาของพระราชบัญญัติป่าชุมชน 2562 ที่เปิดให้ชุมชนทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน "โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 และร่วมมือขยายงานมาอย่างต่อเนื่อง

โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ภาคป่าไม้ ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.)  จากแนวคิดว่าคาร์บอนเครดิตเป็นกลไกที่จะกระตุ้นให้ชุมชนดูแลป่าและดูแลตัวเองได้ดีขึ้น ส่งผลให้ลดการสูญเสียพื้นที่ป่า ลดอัตราการเกิดไฟป่าและลดปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 ซึ่งเมื่อชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีก็จะบรรเทาปัญหาการว่างงาน หนี้ครัวเรือนและในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยภาคเอกชนในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจได้ด้วย

‘แม่ฟ้าหลวง’ ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต 1.5 แสนไร่ สร้างรายได้ชุมชน 500 ล้าน

สำหรับองค์กรภาคเอกชนที่เห็นถึงความสำคัญและเข้าร่วมในโครงการแบ่งเป็น 2 ระยะได้แก่

1.ระยะพัฒนาระบบ 2563 – 2565 ได้แก่

- บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

- สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

- บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)

- บริษัท ทีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน)

- บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

- บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน)

- บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด

- บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

- บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

 

ส่วนระยะขยายผลหลังปี 2566 ได้แก่

- บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)  

 - บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

- บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)             

- บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)          

- บริษัท ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)  

- บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน)

- บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

- ธนาคารออมสิน

- บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

- บริษัท ยูนิชาร์ม (ประเทศไทย) จำกัด           

 - ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)          

- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)                     

- บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)          

- บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด