“EGAT”รุกไฮโดรเจน ทางเลือกผลิตไฟฟ้าสะอาดรับอนาคตประเทศที่มั่นคง

“EGAT”รุกไฮโดรเจน ทางเลือกผลิตไฟฟ้าสะอาดรับอนาคตประเทศที่มั่นคง

ถ้าอนาคตคือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่ความสามารถในการหยั่งรู้อนาคตสามารถทำได้ด้วยการแสวงหาความรู้ ในโอกาสที่ EGAT หรือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานแหล่งผลิตและกักเก็บพลังงาน นวัตกรรมไฟฟ้า Green Energy

ระหว่างวันที่ 1 – 7 ส.ค. 2566 ณ ประเทศออสเตรเลีย  

องค์ความรู้ด้านพลังงานไฮโดรเจน คือส่วนหนึ่งของอนาคตที่น่าสนใจและศึกษาและสัมผัสได้ถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่ประชากรโลกจะไม่ต้องอยู่บนความเสี่ยงด้านพลังงานหากน้ำมัน หรือเชื้อเพลิงฟอสซิลหมดไป 

      บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  เปิดเผยหลังศึกษาดูงานแหล่งผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจน Latrobe Valley Hydrogen Facility และองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO)

ว่า  กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ได้ดำเนินการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน และศึกษาพัฒนาการนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. มีเป้าหมายเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานพลังงานเพื่อให้บริการพลังงานสีเขียว

      สำหรับโครงการ Latrobe Valley Hydrogen Facility เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Hydrogen Energy Supply Chain (HESC) ที่นำร่องผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหินและสารชีวมวล ด้วยขบวนการแปรสภาพเป็นก๊าซ (Gasification) และการกลั่นให้ก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์ (Refining) พร้อมกับขนส่งทางเรือไปยังประเทศญี่ปุ่น โดยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ควบคู่กับกระบวนการดักจับคาร์บอนด้วยเทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) 

“สอดคล้องกับ กฟผ. ที่สามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวสำเร็จและใช้งานได้จริงตั้งแต่ปี 2559 โดยได้กักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมในรูปของก๊าซไฮโดรเจน (Wind Hydrogen Hybrid System) จับคู่กับเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) กำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้กับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง”

“EGAT”รุกไฮโดรเจน ทางเลือกผลิตไฟฟ้าสะอาดรับอนาคตประเทศที่มั่นคง

 นอกจากนี้ มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 พร้อมอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติ ทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก คาดนำร่องใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 5% ในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องระหว่างปี 2574 – 2583 และมีแผนศึกษาการนำถ่านหินมาผลิตไฮโดรเจน (Brown Hydrogen) พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization & Storage : CCUS) ในพื้นที่ กฟผ. คือ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

ด้าน CSIRO เป็นหน่วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มีความร่วมมือกับ กฟผ. ในการศึกษาวิจัยระบบกักเก็บพลังงานเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับพลังงานหมุนเวียน ครอบคลุมการออกแบบและความปลอดภัยของระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงการศึกษาถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของระบบกักเก็บพลังงาน พร้อมร่วมกันศึกษาเกี่ยวกับเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ทั้งด้านการผลิต การกักเก็บ การขนส่ง รวมถึงการนำไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการวางแผนดำเนินงานร่วมกันต่อไป

“กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน พร้อมก้าวสู่ผู้นำด้านพลังงานสีเขียว เพื่ออนาคตพลังงานไทยที่มั่นคง ยกระดับเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน”

ข้อมูลจาก HESC ประเมินว่า ปี 2050 ความต้องการใช้ไฮโดรเจนจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีก 8 เท่า จากปี 2020 ที่มีความต้องการ 70mt ต่อปี ทำให้การพัฒนาไฮโดรเจนจะมีทั้งผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจและการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และ คาร์บอนเป็นศูนย์อย่างมีนัยสำคัญ เบื้องต้นคาดการณ์ว่าปี 2050 อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ หรือแม้แต่เครื่องบิน จะใช้พลังงานจากไฮโดรเจนซึ่งต้องมีการปรับ และเปลี่ยนเครื่องยนต์เกือบทั้งหมด 

โดยปัจจุบันมีเอกชนหลายแห่ง เช่น โตโยต้า ได้พัฒนาเครื่องยนต์สำหรับไฮโดรเจน ทั้งเครื่องบินและรถยนต์บ้างแล้ว หากเทคโนโลยีและการประหยัดต่อขนาด(Economies of scale)มีความก้าวหน้ามากขึ้นอาจมีความเป็นไปได้ที่พลังงานไฮโดรเจนจะเป็นพลังงานหลักที่สำคัญต่อไป

สำหรับ  EGAT แล้วการวางแผนสำหรับอนาคตจะอยู่ภายใต้หลัก 3ประการคือ ความมั่นคง ราคาเป็นธรรมและพลังงานที่สะอาดซึ่งไฮโดรเจนก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ