“เอฟเอโอ”ถกกลไกใหม่สู่เป้าหมาย“อิ่มและดี”

“เอฟเอโอ”ถกกลไกใหม่สู่เป้าหมาย“อิ่มและดี”

เอฟเอโอ เผยทั่วโลกอดอยากหิวโหย กว่า 700 ล้านคน ไทย 3.7 ล้านคน ร่วมกระทรวงเกษตรฯกับ40 องค์กร พลิกโฉมระบบอาหารที่ยั่งยืน ภายใต้แผนของ UN “อิ่มและดี 2030” 5 ด้าน สู่ผลลัพธ์ทางสุขภาพก้าวกระโดด เตรียมเสนอต่อที่ประชุมระดับโลก ณ กรุงโรม 24-26 ก.ค. นี้

สถานการณ์สงครามรัสเซีย -ยูเครน ล่าสุด( ณ วันที่ 20 ก.ค. 2566) รัสเซียจะพิจารณากลับเข้าร่วมข้อตกลงส่งออกธัญพืชของยูเครนผ่านทะเลดำ (Black Sea Grain Initiative) หากชาติตะวันตกทำตามความต้องการหลักของรัสเซีย 5 ข้อ เช่น เชื่อมระบบ SWIFT อีกครั้ง ,ยกเลิกการคว่ำบาตรการส่งออกเครื่องจักรกล เป็นต้น  

ท่าทีดังกล่าวเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่จะพาโลกเข้าสู่ภาวะ"ความไม่มั่นคงด้านอาหาร" ซ้ำเติมภาวะ“เอลนีโญ”ในหลายประเทศรวมถึงไทยที่จะทำให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง

เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลกปี 2564 (UNFSS 2021) องค์การสหประชาชาติ (UN) สนับสนุนประเทศสมาชิกขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนระบบอาหาร ทั้งวิธีการผลิต การกระจาย และการบริโภค เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “อิ่มและดี 2030”ผ่านแนวทาง Food and Agriculture Systems Stocktaking “เส้นทางสู่การพลิกโฉมระบบอาหารที่ยั่งยืนของประเทศไทย" 

“เอฟเอโอ”ถกกลไกใหม่สู่เป้าหมาย“อิ่มและดี” “เอฟเอโอ”ถกกลไกใหม่สู่เป้าหมาย“อิ่มและดี” “เอฟเอโอ”ถกกลไกใหม่สู่เป้าหมาย“อิ่มและดี”

 

ซึ่งประกอบด้วยหลักการ 5 ด้าน คือ 1. “อิ่ม ดี ถ้วนหน้า” เข้าถึงอาหารปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ 2. “อิ่ม ดี มีสุข” ปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อความยั่งยืน 3. “อิ่ม ดี รักษ์โลก” ส่งเสริมระบบการผลิตที่เพียงพอและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4. “อิ่ม ดี ทั่วถึง” ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่เสมอภาค เท่าเทียม และ 5. “อิ่ม ดี ทุกเมื่อ” สร้างระบบที่มีความยืดหยุ่นปรับตัวได้ในทุกวิกฤติ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการทบทวนความก้าวหน้า แชร์ประสบการณ์

นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการประชุม Food and agriculture stocktaking moment ระดับรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 24–26 ก.ค. 2566 ณ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agricultural Organization : FAO) กรุงโรม อิตาลี และการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) ก.ย. 2566 ต่อไป” 

นวรัตน์ เฉลิมเผ่า ผู้ช่วยผู้แทนFAO ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2020 ผู้คนทั่วโลกเผชิญภาวะอดอยากหิวโหย กว่า 700 ล้านคน และผู้คนกว่า 2.4 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก อยู่ในภาวะไม่มีความมั่นคงด้านอาหาร

“ภาวะทุพโภชนาการทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากกว่า 148 ล้านคนเตี้ยเกินไป มากกว่า 45 ล้านคน ผอมเกินไป และมากกว่า 37 ล้านคน อ้วนเกินไป ปัญหาโภชนาการจากการบริโภค เช่น บริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม น้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน กระทบต่อสุขภาพที่ส่งผลต่อรายจ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศ "

สำหรับประเทศไทย มีประชากรกลุ่มเปราะบางที่มีภาวะทุพโภชนาการในปี2565 จำนวน 3.7 ล้านคน ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2564 อยู่ที่ 6.2 ล้านคน และปี 2563 อยู่ที่ 5.7 ล้านคน   เนื่องจากปัญหาโควิดคลี่คลาย ภาวะการขาดแคลนอาหารเริ่มฟื้นตัว   

 ดังนั้น FAO จึงสนับสนุนประเทศไทยในการส่งเสริมระบบอาหารทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สอดคล้องเป้าหมายหลักของกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ ที่มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและระบบอาหารสีเขียว โดยเฉพาะการลดการสูญเสียอาหารและของเสีย เสริมสร้างการจัดการดิน น้ำ ป่าไม้ และระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน ผ่านการเกษตรที่เป็นมิตรต่อความหลากหลายทางชีวภาพและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (DRR) นำไปสู่การผลักดันนโยบายแก้ปัญหาการเกษตรระยะยาว

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า ภายในปี 2573 สสส. เร่งสานพลังภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ ภายใต้วัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ 1. เสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะด้วยระบบอาหารที่ยั่งยืน ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ 2. ส่งเสริมระบบตลาดอาหารปลอดภัย 3. ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สื่อสารรณรงค์สังคม

“โมเดลต้นแบบระบบอาหารชุมชนได้เน้นความสำคัญใน “การสร้างผลลัพธ์ทางสุขภาพอย่างก้าวกระโดด” ด้วยการขยายผลต้นแบบงานสร้างเสริมสุขภาพ 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ พัฒนาต้นแบบแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย ระดับกลางน้ำ ส่งเสริมระบบการขนส่ง เชื่อมโยงผลผลิต และพัฒนารูปแบบการประกอบการให้เหมาะสมกับบริบทชุมชน ระดับปลายน้ำคือการ สื่อสารความรอบรู้การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะที่ดี"

ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งเศรษฐกิจ สงคราม และสภาพอากาศ ต่างเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านอาหารหากปล่อยให้ความเสี่ยงกลายเป็นปัญหา จะสร้างความเสียหายสูง ดังนั้นการหารือกันในระดับหน่วยงานและระดับความร่วมมือระหว่างประเทศจะเป็นแนวรับ และแนวรุกที่ไม่รอให้ปัญหาเกิดแล้วค่อยแก้ไข