อ.ธรณ์ ชี้ ‘ภาวะโลกร้อน’ สร้างความเดือดร้อนทั่วโลก โดยเฉพาะ ‘เอลนีโญ’

อ.ธรณ์ ชี้ ‘ภาวะโลกร้อน’ สร้างความเดือดร้อนทั่วโลก โดยเฉพาะ ‘เอลนีโญ’

ทุกวันนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหา “ภาวะโลกร้อน” ทำให้หลายพื้นที่มีสภาพอากาศแปรปรวน ด้าน “อ.ธรณ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลเผยอุณภูมิทั่วโลกสูงขึ้นก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะปรากฏการณ์ “เอลนีโญ”

“พรุ่งนี้จะดีกว่า เป็นเพียงแค่คำโกหก” คือสิ่งที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว (Thon Thamrongnawasawat) เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก “ภาวะโลกร้อน

ก่อนจะอธิบายว่าโลกเมื่อปี พ.ศ. 2519 ตอนที่ตนอายุ 10 ขวบ มีอากาศเย็นสบาย อุณหภูมิโลกเหมือนเมื่อ 40-50 ปีก่อน อยู่ กทม. นั้นรู้สึกสบาย ลมหนาวโชยมาตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. ตอนอยู่ประถมในยุคนั้นต้องใส่เสื้อกันหนาวไปโรงเรียนเป็นเดือน ในช่วงเดือน มิ.ย. นอนอ่านหนังสือใต้ต้นมะม่วงท่ามกลางลมพัดเย็นสบายจนสามารถนอนหลับไปได้ ในตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่เดินทางไปญี่ปุ่นหรือยุโรปก็ต้องเตรียมเสื้อแจ็กเกตไป

อ.ธรณ์ ชี้ ‘ภาวะโลกร้อน’ สร้างความเดือดร้อนทั่วโลก โดยเฉพาะ ‘เอลนีโญ’ ภาพจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

อ.ธรณ์ บอกอีกว่า โลกในปัจจุบันนี้เหมือนกับกำลังลุกเป็นไฟ ตั้งแต่เด็กจนโตตนอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ซึ่งเปลี่ยนไปในทางที่มีความน่าอยู่น้อยลง ย้อนไปเมื่อปี 2530 เป็นตอนที่เริ่มพูดถึงเรื่องโลกร้อน ในตอนนั้นก็ยังไม่คิดว่าโลกจะเดินทางมาถึงจุดนี้ ในส่วนของคนฟังนั้นยิ่งคิดไม่ถึงและอาจจะไม่เชื่อเสียด้วยซ้ำ แค่เพียงฟังไว้เฉยๆ

หากดูจากแผนที่ด้านบนจะเห็นว่า สีแดง คือบริเวณที่อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย 2-4 องศาเซลเซียส เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งในตอนนั้นยังแทบไม่มีฮีทเวฟ และเอลนีโญยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น นั่นหมายความว่า เราทุกคนต่างตกอยู่ในโลกที่แปลกประหลาดและน่าสะพรึงกลัว ที่เกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์เอง

  • ภาวะโลกร้อน เอลนีโญ และผลกระทบในหลายด้าน

แม้ว่าเรื่อง “ภาวะโลกร้อน” จะเป็นเรื่องทั่วไปที่หลายคนรู้อยู่แล้ว แต่บางคนก็ยังทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงสร้างสถิติใหม่ทุกปี ยังไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ตนเชื่อว่า พรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้ นั่นคงเป็นเพียงแค่คำโกหก

สำหรับภาวะโลกร้อนในปัจจุบันนั้นส่งกระทบต่อโลกในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ภัยแล้ง อุณหภูมิในแหล่งน้ำเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์เอลนีโญ หลังสภาพอากาศแบบลานีญาสิ้นสุดลง ตามที่ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO ของสหประชาชาติ ประกาศ

ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจาก “ภาวะโลกร้อน” และ “เอลนีโญ” แต่มนุษย์เองก็เดือดร้อนไปด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่นในประเทศญี่ปุ่นที่มีการออกประกาศคำเตือนฉบับล่าสุดให้ประชาชนในกรุงโตเกียวเฝ้าระวังภาวะ “Heat Stroke” หรือ “โรคลมแดด” ระลอกใหม่ หลังญี่ปุ่นต้องเผชิญ “อากาศร้อนจัดพิเศษ” เพิ่มความเสี่ยงให้ประชาชนป่วยลมแดดง่ายขึ้น

อ่านข่าว : 

'เอลนีโญ' และโดมความร้อนถล่มกรุงโตเกียว 'อากาศร้อน' ที่สุดในรอบ 150 ปี

ผลกระทบหลักของเอลนีโญนั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศทั่วโลกให้เป็นไปในทิศทางที่แย่ลง แต่สิ่งที่ตามมาจากผลกระทบนี้ก็คือ คลื่นความร้อนและพายุที่จะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมถึงปัญหา อุทกภัย และภัยแล้ง ที่จะทำให้เกิดการรบกวนสภาพอากาศหลายประเทศโดยเฉพาะบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

  • เมื่อโลกร้อน น้ำทะเลก็มีอุณหภูมิสูงขึ้นตามไปด้วย

หากย้อนไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (15 ก.ค.) อ.ธรณ์ ก็ให้ข้อมูลไว้ด้วยว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญของปีนี้เกิดขึ้นมาได้ 2 เดือนแล้ว และส่งผลให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่ง “เอลนีโญ” เกี่ยวข้องโดยตรงกับอุณหภูมิผิวหน้าของน้ำทะเล จากภาพด้านล่างแสดงให้เห็นว่า “น้ำร้อนผิดปกติ” ที่เคลื่อนเข้ามาจ่อปากอ่าวไทยแล้ว

อ.ธรณ์ ชี้ ‘ภาวะโลกร้อน’ สร้างความเดือดร้อนทั่วโลก โดยเฉพาะ ‘เอลนีโญ’ ภาพจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดจาก NOAA แสดงกราฟอุณหภูมิน้ำทะเลที่ทำให้เราเห็นว่า เราทะลุเข้าเอลนีโญตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเร่งตัวขึ้น

ทั้งนี้ เอลนีโญจะรุนแรงที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 - มกราคม 2567 มีโอกาสที่น้ำทะเลร้อนเพิ่มขึ้นเกิน 1 องศาเซลเซียส (80%) เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (50%) และเกิน 2 องศาเซลเซียส (20%) ทั้งนี้ ตัวเลข % อาจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะแม่นยำเพิ่มขึ้นเมื่อใกล้ขึ้น

เมื่อดูกราฟในอดีต ส่วนใหญ่เอลนีโญจะจบลงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปีหน้า แต่มีอยู่บ้างที่จะลากยาวไปไกลกว่านั้น กลายเป็นดับเบิ้ลเอลนีโญ และถ้าน้ำทะเลร้อนขึ้นเรื่อยๆ ก็จะส่งผลเสียต่อ “ปะการัง” เกิดภาวะฟอกขาว ไม่แข็งแรงอย่างที่ควรเป็น

รวมถึงส่งผลกระทบต่อแพลงก์ตอนบลูม เกิดน้ำเปลี่ยนสีหรือปรากฏการณ์น้ำเขียวเป็นระยะ อีกทั้งมวลน้ำที่ร้อนกว่าปกติ จะทำให้น้ำแบ่งชั้น น้ำร้อนอยู่ข้างบน น้ำเย็นอยู่ข้างล่าง ออกซิเจนจากน้ำด้านบนมาไม่ถึงน้ำชั้นล่าง ทำให้สัตว์น้ำตามพื้นทรายใต้ทะเลจะตายง่ายขึ้น เป็นต้น